ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ไขปริศนา เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2006 09:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้เชิญนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อระดับแถวหน้าของสหรัฐฯ ดร.ฮาวเวิร์ค โรเซ็น มาให้ข้อคิดเห็นและแง่มุมที่น่าสนใจ เนื้อหาสรุปได้ดังนี้
1. การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในขณะนี้หยุดชะงัก เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยซึ่งยังไม่ชัดเจนและต้องใช้เวลา ประกอบกับอำนาจพิเศษในการส่งเสริมการค้า (trade promotion authority : TPA) ซึ่งรัฐสภาสหรัฐฯ ได้มอบหมายอำนาจดังกล่าวให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเพียงชั่วคราวเท่านั้น และอำนาจดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2550 ดังนั้นหากการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหรัฐฯ ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปภายในกำหนดข้างต้น ก็อาจทำให้การเจรจาพลาดโอกาสไป ทั้งนี้หากรัฐสภาสหรัฐฯ ยอมอนุญาตขยาย ระยะเวลาในการใช้อำนาจ TPA ออกไปอีกเพื่อในการเจรจาต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อ ก็จะส่งผลให้การเจรจาเอฟทีในระดับทวิภาคีของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ มีโอกาสเดินหน้าต่อไปเช่นกัน
2. ไทยควรส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ ทราบว่าไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเจรจาเอฟทีเอต่อเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ จะเจรจาการค้ากับมาเลเซียแล้ว ยังมีพันธะผูกพันที่จะต้องเจรจาการค้ากับอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้และโอมาน และมีความเป็นไปได้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าตารางนัดหมายจะต้องมีอีกมาก หากไทยอาจพลาดโอกาสตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนได้ เพราะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีที่ไทยได้รับภายใต้โครงการ Generalised system of preferences (GSP) จะสิ้นสุดภายในเดือนตุลาคม 2549 และมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มสิทธิพิเศษแก่ประเทศอื่นมากกว่าที่จะ ให้กับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นแล้ว ดังนั้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อการยกระดับให้ภาคเอกชนไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มยิ่งขึ้นอีก เพื่อเปิดรับการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
ประเด็นวิเคราะห์:
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการทำเอฟทีเอ กับสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมในแต่ละประเภทมีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่กำลังเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง จะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ผู้ประกอบการจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ขณะที่การเปิดเสรีการบริการสุขภาพจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีคนไข้จากต่างประเทศเข้ามารับการรักษาพยาบาลมากขึ้น ทำให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการเปิดเสรีโทรคมนาคมจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.29
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ