นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึง การค้าไทยในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของไทยมีการขยายตัวจาก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2539 เป็น 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2548 โดยมูลค่าการส่งออกของประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.1 เป็นสินค้าอุตสาหกรรม และร้อยละ 15.9 เป็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
สินค้าเกษตรที่ส่งออกหลักได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เนื้อไก่ น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สด/กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น โดยราคาจะถูกกำหนดจากความต้องการในตลาดโลก ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และเพื่อนบ้านคืออาเซียน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ เช่น หอม กระเทียม โคเนื้อ โคนม ผลไม้ต่างๆ บางปีผลิตไม่พอบริโภคภายในจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
นางอภิรดี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการขยายตัวในการส่งออกข้าวสูงมาก และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในหลายๆ สินค้า เช่น มันสำปะหลัง กาแฟ เป็นต้น ดังนั้นทางภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญจึงมีการเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดและขยายการค้าทั้งในเวทีทวิภาคี และพหุภาคี ในระยะที่ผ่านมาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดการค้าของไทยให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทุกภาคส่วนของประเทศเป็นสำคัญ
“แม้ว่าสินค้าเกษตรของไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า แต่เกษตรกรคงจะตั้งรับอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน โดยภาครัฐเองก็ได้มีมาตรการรองรับเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรให้ปรับตัวเพื่อการแข่งขัน เช่น เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร หรือโครงการครัวไทยสู่โลกเพื่อช่วยผลักดันการส่งออกอีกทางหนึ่ง รวมทั้งจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปีละ1,000 ล้านบาท โดยโครงการจะต้องระบุกิจกรรมให้ตรงกับความต้องการให้ชัดเจน นอกจากนี้การเพาะปลูกควรคำนึงถึงการได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบเพราะประเทศไทยเหมาะสมที่จะปลูกพืชเขตร้อนซึ่งมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับคนไทยร้อยละ 50 ที่อยู่ในภาคเกษตร” นางอภิรดี กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-