1 ปีหลังทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ยังไปได้ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 20, 2006 13:18 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย 1 ปีหลังความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ ความร่วมมือด้านต่างๆ ยังไปได้ดี และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นับจากความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEPA) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 การดำเนินการต่างๆระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์เป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังมีความร่วมมือเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยการค้าระหว่างกันมีการขยายตัว และความตกลงฯ ยังช่วยพัฒนาการค้าการลงทุนและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการที่นิวซีแลนด์จะร่วมลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต (Production base) สินค้าเพื่อส่งออกไปประเทศที่สามในภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และยังช่วยพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพทางการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศและการแข่งขันอีกด้วย
โดยปัจจุบันนิวซีแลนด์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 32 และแหล่งนำเข้าเป็นลำดับที่ 40 ของไทย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) ไทยเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้ารวมมีมูลค่า 392.7, 393.1, 475.3, 567.5 และ 774.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
ส่วนในปี 2548 ซึ่งความตกลงฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 774.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 41.5 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 269.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 411.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.10 เป็นการส่งออกไปนิวซีแลนด์ 256.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.57 และนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 155.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 ไทยยังเกินดุลการค้านิวซีแลนด์ 100.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การค้าทั้ง 2 ประเทศในรอบ 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.) 2549 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากไทยส่งออกรถกระบะไปนิวซีแลนด์ลดลง ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง และไม่ใช่สินค้าสิ้นเปลือง (Durable goods) จึงไม่มีการซื้อใหม่เพื่อทดแทนของเก่าทุกปี ส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยลดลง อย่างไรก็ตามสินค้าหลายรายการมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 408.33 การส่งออกเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ร้อยละ 96 เม็ดพลาสติกร้อยละ 83.87 เครื่องปรับอากาศร้อยละ 41.41 และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 41.30 เป็นต้น
สำหรับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยยังเป็นสินค้าที่ส่งออกไปนิวซีแลนด์ได้ดี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น โดยในระยะ 5 ปี (2544-2548) ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไปนิวซีแลนด์ได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 33.23% ต่อปี และใน 7 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยสามารถส่งออกไปนิวซีแลนด์ได้ 8.51 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกรถกระบะลดลงร้อยละ 38 แต่ส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.31
สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยเคยมีการจัดนำคณะนักธุรกิจเดินทางไปเปิดตลาดนิวซีแลนด์ ปัจจุบันสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 3.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าการส่งออก 9.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.20 สินค้าเครื่องหนังมีมูลค่าการส่งออก 0.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.67 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าส่งออก 3.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินค้าเกษตรของไทย ทางนิวซีแลนด์มีมาตรการด้านการกักกันโรค ด้านอนามัยและสุขอนามัย (SPS) ที่เข้มงวด จึงได้มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร ภายใต้ TNZCEP โดยกำหนดรายการสินค้าให้ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ปัจจุบัน ขิง มังคุด ลิ้นจี่ ลำใย และทุเรียนแกะเปลือก สามารถเข้าสู่ตลาดของนิวซีแลนด์ได้แล้ว
สำหรับทุเรียนสดทั้งลูกอยู่ระหว่างการดำเนินการ และยังเสนอให้นิวซีแลนด์จัดทำการประเมินความเสี่ยงโรคแมลงแก่สินค้ามะพร้าวอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วลันเตา อีกด้วย
ด้านการลงทุนไทยมีมูลค่าการลงทุนในประเทศนิวซีแลนด์ไม่มากนัก โดยในปี 2544-2548 คิดเป็นมูลค่า 0.02, 0.8, 2.67, 1.15 และ 1.30 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมเด่นๆ ที่ไทยเข้าไปลงทุนในนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เป็นการเปิดร้านอาหาร และธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ขณะที่นิวซีแลนด์มีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2544-2548 คิดเป็นมูลค่า 0.56, 0.94, 1.45, 5.35 และ 5.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร
สำหรับช่องทางการค้า การลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ แม้ว่านิวซีแลนด์มีประชากรเพียง 4 ล้านคน แต่มีกำลังซื้อสูง ไทยจึงมีช่องทางในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจต่างๆ อีกมาก เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ สถานบริการความงามและสุขภาพ การก่อสร้าง โรงเรียนสอนภาษาไทย โรงเรียนสอนทำอาหารไทย และสอนนวดแผนไทย เนื่องจากนิวซีแลนด์อนุญาตให้คนไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ 100% (ยกเว้นประมง)
นอกจากความตกลงฯ ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์แล้ว ไทยยังได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 1มกราคม 2548 ทำให้เกิดช่องทางในด้านการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงระหว่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากออสเตรเลียซึ่งปลอดภาษี หรือมีภาษีในอัตราที่ต่ำนำมาผ่านกระบวนการผลิตอย่างพอเพียงตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าจนกระทั่งสินค้าในขั้นตอนสุดท้ายได้แหล่งกำเนิดในประเทศไทย เมื่อส่งไปขายยังนิวซีแลนด์จะทำให้สินค้าไทยปลอดภาษี หรือมีอัตราภาษีที่ต่ำภายใต้ความตกลงการค้าเสรี จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันแก่สินค้าไทยในตลาดนิวซีแลนด์ และเช่นเดียวกันกับการนำเข้าวัตถุดิบจากนิวซีแลนด์มาผลิตสินค้าเพื่อส่งขายไปยังออสเตรเลีย
ซึ่งการที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นตลาดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยลักษณะทางกายภาพ ฤดูกาล พฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงการมีกำลังซื้อสูง การผลิตสินค้าสินสำหรับตลาดออสเตรเลียจึงสามารถขายในนิวซีแลนด์ได้อีกด้วย โดยใช้การผลิตจำนวนมาก (Mass production) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ