ยอดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์พุ่ง 35%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2005 16:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยหรือแท็บม่า (Tapma) เปิดเผยว่ายอดการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในปี 2548 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.25 แสนล้านบาทสูงกว่าตัวเลขที่ประมาณการไว้เมื่อต้นปี 2 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 35% โดยตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่เอเซีย เช่น ญี่ปุ่น 15% มาเลเซีย 12% อินโดนีเซีย 11% สหรัฐอเมริกา 9-10% แอฟริกาใต้ 5% และประเทศอื่นๆ รวมทั้งอเมริกาใต้และรัสเซีย
สำหรับแผนงานในปี 2549 แท็บมาได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกจะนำผู้ประกอบการไปสำรวจตลาดและแหล่งกระจายสินค้าในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหม่ซึ่งได้แก่ รัสเซีย แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา บราซิล เป็นต้น เพื่อมุ่งให้ถึงเป้าหมายการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ให้ได้ 400,000 ล้านในปี 2553 ตามแผนดีทรอยต์ออฟเอเซียปี 2549 ประเทศเหล่านี้เป็นตลาดที่เปิดสำหรับชิ้นส่วนไทยพอสมควร หรือแม้แต่ตลาดสหรัฐอเมริกาเองซึ่งค่อนข้างจะใหม่สำหรับไทยและปัจจุบันได้มีชิ้นส่วนจากไต้หวัน จีน และอินเดีย ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด สำหรับการจะเปิดตลาดในสหรัฐอเมริกานั้นคงจะต้องใช้ระยะเวลาเพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่ใหม่แล้วจะต้องมีการพัฒนาชิ้นส่วนให้ตรงกับตลาดในสหรัฐและจะต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพให้ได้ก่อน
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นไทยและญี่ปุ่น(MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำไทย(เจโทร) หอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งโครงการนี้เป็นการส่งถ่ายความรู้และเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์จากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศไทยเพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ให้ได้ 2 ล้านคันในปี 2553 ซึ่งจะต้องมีบุคคลากรกว่า 3.2 แสนคนจากปัจจุบันผลิตได้ 1.1 ล้านคันในปี 2548 และจะต้องมีบุคคลากรอยู่ที่ 2 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 1.2 แสนคน
ประเด็นวิเคราะห์
ภาพรวมของการผลิตส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยใน 10 เดือนของปี 2548 เติบโตที่ 35% หรือมีมูลค่าประมาณ 2.25 แสนล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประมาณไว้เมื่อต้นปีคือ 2 แสนล้านบาท นั่นก็แสดงให้เห็นถึงไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่างต่อเนื่องและเมื่อนำมาพิจารณาถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่มีแผนจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคันภายในปี 2553 มีความเป็นไปได้มากขึ้นในขณะที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้รองรับกับการยกระดับให้ไทยเป็นดีทรอยต์ของเอเซียต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ