รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน มี.ค.49

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 3, 2006 17:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มีนาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2549 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2549 ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2549 เท่ากับ 113.0 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เท่ากับ 111.9
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
2.2 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.7
2.3 ไตรมาสแรกของปี (มกราคม - มีนาคม 2549 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548) สูงขึ้นร้อยละ 5.7
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (กุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2.1 จากสภาพอากาศที่ร้อนและมาเร็วกว่าปกติ ทำให้ราคาผักสดสูงขึ้นมาก เช่น มะนาว ผักคะน้า และผักชี สำหรับผลไม้สดโดยเฉพาะส้มเขียวหวานราคาสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลประกอบกับความต้องการในช่วงเทศกาลเชงเม้งทำให้ราคาสูงขึ้น แต่เชื่อว่าจะเป็นปรากฏการณ์ช่วงระยะสั้น ๆ ไข่ไก่ราคาเริ่มขยับสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำตาลทรายสูงขึ้นเป็นผลจากการปรับราคาควบคุมน้ำตาลทรายสูงขึ้นอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด มีราคาลดลง
สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีการปรับราคาขึ้น 3 ครั้ง ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนมีนาคม 2548 ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 5.7 (เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.6) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.7 สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ นมและผลิตภัณฑ์นม ผักสดและผลไม้ และน้ำตาลทราย นอกจากนี้สินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ ไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันพืช (น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม)
สินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารสูงขึ้นร้อยละ 6.3 ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 30.7 ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 27.0 ปรับค่ากระแสไฟฟ้าแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า และค่าบริการสื่อสารมีราคาลดลง
5. ช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อย 5.7 สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.1 สำหรับหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.8
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2549 เท่ากับ 103.8 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
6.2 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
6.3 ไตรมาสแรกของปี 2549 (ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2549 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548) สูงขึ้นร้อยละ 2.6
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ