รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2006 16:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                        สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนตุลาคม 2548
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 154.33 ทรงตัวโดยลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2548 (154.73) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (146.77)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2548 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเฟอร์นิเจอร์
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 71.07 ลดลงจากเดือนกันยายน 2548 (71.21) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (69.77)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2548
- อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากลูกค้าต่างประเทศมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เพื่อสำรองไว้จำหน่ายในช่วงปลายปี ประกอบกับจะเริ่มเข้าฤดูการผลิตน้ำตาลทรายในช่วงปลายเดือน พย. — ต้นเดือน ธค.
- ภาวะการผลิตและการจำหน่ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการผลิตและส่งมอบไปล่วงหน้าแล้ว ภาคการบริโภคยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มในปี 2549 คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศหลักๆ
- สถานการณ์เหล็กในเดือน พ.ย. 2548 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนทั้งในส่วนของเหล็กทรงยาวและทรงแบน โดยเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัว ทั้งในส่วนการผลิตและการค้าภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัว จึงทำให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ชะลอการสั่งซื้อโดยจะเป็นการซื้อสินค้าเท่ากับความต้องการใช้โดยจะเก็บสต๊อกให้น้อยที่สุด ขณะที่เหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศที่ทรงตัว ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กทรงแบนราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามา สำหรับการส่งออกในช่วงนี้จะต้องมีการแข่งขันทางด้านราคาค่อนข้างสูงเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกค่อนข้างชะลอตัว
- อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2548 จะขยายตัวจากเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการขาย มีการแข่งขันในการส่งเสริมการตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค และในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยครบ 1 ล้านคัน และเป็นปีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถผลิตรถยนต์เกิน 1 ล้านคัน เป็นปีแรก
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
- การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายน 2548 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากเดือนตุลาคม เนื่องจากบริษัทต่างๆได้เร่งทำการผลิตตามคำสั่งซื้อสำหรับขายในช่วงสิ้นปีเกือบครบจำนวนแล้ว ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี เนื่องจากความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ขยายตัวสูงมาก แม้ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม
สถานการณ์อุตสาหกรรม 2548 และแนวโน้ม 2549
สถานการณ์ปี 2548
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งปี จะอยู่ที่ระดับ 141.75 โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 เพิ่มขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 66.1 เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับการคาดการณ์ของการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2548 จะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 6 ลดลงจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2547
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีมูลค่ารวม 3.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวประมาณ ร้อยละ 19.5 ลดลงจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวร้อยละ 21.8
สาเหตุสำคัญของการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง คือ
-การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 4.5
-เศรษฐกิจการค้าของโลกชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2548
-ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
-ปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดในวงกว้างหลายประเทศ
-ผลกระทบของภัยธรรมชาติในภูมิภาค (เช่น สึนามิ) ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะยาว
อุตสาหกรรมสำคัญ ที่ผลักดันการขยายตัวอุตสาหกรรมในปี 2548 นี้ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (7.7%) ผลิตภัณฑ์ยาง (6%) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (11%) และปิโตรเคมี (16.6%) โดยเฉพาะยานยนต์ในปีนี้มีการส่งออกมากกว่า 3 แสน ล้านบาท และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรวมกันมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2549
-ปี 2549 ภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7 โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันคาดว่าจะเสถียรภาพมากกว่าปีนี้และอยู่ในระดับที่สูงอยู่ อัตราการขยายตัวการลงทุนในประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งเมกกะโปรเจคของรัฐที่จะเริ่มดำเนินการบางส่วน และปัญหาภาคใต้และปัญหาไข้หวัดนกจะได้รับการแก้ไขและลดระดับความรุนแรงของผลกระทบลงจากปีที่ผ่านมา
-การส่งออกในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 19 ในปี 2549 ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้
-อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งเป้าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมไว้ที่ ร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 4.1 ล้านล้าน บาทในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออกประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2548 โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีอัตราการส่งออกสูงได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 40 และอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อัตราเติบโตร้อยละ 25-30
-นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเห็นว่า ยังมีแนวทางที่รัฐบาลจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ ร้อยละ 7 มาเป็นร้อยละ 8.5 ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
-อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนใน GDP สูงๆ เช่น อิเล็กทรอกนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ จะต้องผลักดันให้มีอัตราการเติบโตสูงกว่าที่คาดตามแนวโน้มปกติ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วคาดว่าจะมีโอกาสผลักดันให้เพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมสูงตามเป้าที่วางไว้
การคาดการณ์และเป้าของอัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมที่สำคัญ
อุตสาหกรรม อัตราเติบโตปกติในปี 2549 ที่ อัตราเติบโตเป้าหมายในปี 2549 ที่
7% 8.50%
1. ยานยนต์ 7.42 8.92
2. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4.83 6.3
3. อิเล็กทรอนิกส์ 6.62 8.12
4. อาหารแช่แข็ง 6.02 7.51
5. ปิโตรเคมี 17.7 19.4
6. ผลิตภัณฑ์ยาง 6.68 8.38
แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2549 (ต่อ)
กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรการการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
-เร่งรัดให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศให้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ รวมทั้งเครื่องจักรกลต่างๆ
-ผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายตัวการผลิตและการส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสการขยายตัวในอุตสาหกรรมสูง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
-ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบในประเทศ (Local Content) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าส่งออก และเร่งพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ผลิตไทยได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าในประเทศในสินค้าเหล่านี้มากขึ้น
-อุตสาหกรรมอาหารก็จะเน้นการพัฒนาการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าในประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนามาตรฐานเพื่อลดปัญหาการกีดกันการส่งออกจากประเทศคู่ค้า
-เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีและมีมูลค่าสูงเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ในผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งปีหนึ่งๆ ประเทศไทยนำเข้าเหล็กที่มีคุณภาพจากต่างประเทศมากกว่า 3 แสนล้าน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรม
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ก.ย. 48 = 154.73
ต.ค. 48 = 154.33
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ก.ย. 48 = 71.21
ต.ค. 48 = 71.07
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
1.อุตสาหกรรมอาหาร
“ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อน สำหรับแนวโน้มการส่งออกจะยังขยายตัวต่อไปจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวลงของราคาน้ำมัน "
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 7.1 และเมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกระตุ้นให้การผลิตขยายตัวโดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 38.3 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 3.5 และปลาทูนากระป๋อง ร้อยละ 11.7 สำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ กลุ่มสินค้าน้ำมันพืช (ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมัน) มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และ 17.8 ตามลำดับ
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตร มีมูลค่าจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 2.3 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นของกุ้งแช่เย็นแช่แข็งเมื่อเทียบกับปีก่อนมากกว่าร้อยละ 200
2) ตลาดต่างประเทศ
ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 14.89 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของระดับราคาโดยรวมที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ กุ้งส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 39.6 และ 2.0 ทูน่าฯ ร้อยละ33.0 และ 26.9 ไก่แปรรูป ร้อยละ 14.6 และ 12.6 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 4.2 และ 3.1 นอกจากนี้การส่งออกน้ำตาลทรายยังคงลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 45.2 และ 33.3 ตามลำดับ แต่แนวโน้มราคากลับเพิ่มขึ้น หลังการประกาศของ WTO ห้าม EU อุดหนุนการส่งออก
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากลูกค้าต่างประเทศมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เพื่อสำรองไว้จำหน่ายในช่วงปลายปี ประกอบกับจะเริ่มเข้าฤดูการผลิตน้ำตาลทรายในช่วงปลายเดือน พย. — ต้นเดือน ธค.
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“...ภาคการผลิตจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศหลักๆ”
1. การผลิตและการจำหน่าย
การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เดือนตุลาคม 2548 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะใยโพลีเอสเตอร์ ขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.3 เนื่องจากมีการผลิตล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว
การจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เช่นเดียวกับการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ลดลงร้อยละ 4.4 จากการส่งออกที่ลดลงโดยเฉพาะตลาดหลักอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แต่การจำหน่ายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวม เดือนตุลาคม 2548 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา (-12.3%) ญี่ปุ่น (-5.8%) จีน(-7.3%) และ สหราช อาณาจักร (-7.1%) แต่เพิ่มขึ้นในตลาดเยอรมนี(+25.4%) เป็นต้น
มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เดือนตุลาคม 2548 ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน โดยส่งออกลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา(-15.9%) สหราชอาณาจักร(-12.1%) และญี่ปุ่น(-1.6%) แต่เพิ่มขึ้นในตลาดฝรั่งเศส(+27.9%) และเยอรมนี(+22.7%) เป็นต้น
3. การนำเข้า
มูลค่าการนำเข้าสิ่งทอเดือนม.ค.—ต.ค. 2548 โดยรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เป็นการนำเข้า เส้นใยใช้ในการทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซิมบับเว และญี่ปุ่น ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ขณะที่การนำเข้าด้ายทอผ้าฯ ลดลงร้อยละ 1.9 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 4.0 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอิตาลี สัดส่วนร้อยละ 47.9, 13.6 และ 6.6 ตามลำดับ
เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้า 366.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนีและไต้หวัน สัดส่วนร้อยละ 31.9, 16.9 และ 11.0 ตามลำดับ
4. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการผลิตและส่งมอบไปล่วงหน้าแล้ว ภาคการบริโภคยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มในปี 2549 คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศหลักๆ
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“ ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ต.ค. 48 ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นการขยายการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดในไตรมาสที่ 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงฤดูการขายของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความต้องการใช้สูง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่เริ่มลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ผลิตโรงงานหนึ่งมีแผนที่จะหยุดการผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนเพื่อซ่อมเครื่องจักรจึงเร่งการผลิตไว้เพื่อเก็บเป็นสต๊อก ”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ต.ค. 48 ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 144.23 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.80 โดยเป็นการขยายการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดในไตรมาสที่ 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงฤดูการขายของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความต้องการใช้สูง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่เริ่มลดลง ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.11 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ผลิตโรงงานหนึ่งมีแผนที่จะหยุดการผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนเพื่อซ่อมเครื่องจักรจึงเร่งการผลิตไว้เพื่อเก็บเป็นสต๊อก รองมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.05 สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.59 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.42 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตมีการชะลอตัว ร้อยละ 7.05 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ เหล็กแผ่นเคลือบรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 38.66 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 38.19 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 33.40 เนื่องจากภาวะการค้าในประเทศที่ยังทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้มีการนำเข้าเหล็กรีดเย็นเข้ามาในช่วงนี้เป็นปริมาณมาก
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 เทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่มีการปรับตัวของราคาที่ลดลงได้แก่ เหล็กเส้น ลดลงจาก 373 เป็น 363 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 2.68 เหล็กแท่งเล็ก ลดลงจาก 335 เป็น 328 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 2.24 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 413 เป็น 405 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 1.82 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 518 เป็น 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 1.45 สำหรับเศษเหล็กมีการปรับตัวของราคาที่สูงขึ้น คือ จาก 210 เป็น 218 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.57
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน พ.ย. 2548 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนทั้งในส่วนของเหล็กทรงยาวและทรงแบน โดยเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัว ทั้งในส่วนการผลิตและการค้าภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัว จึงทำให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ชะลอการสั่งซื้อโดยจะเป็นการซื้อสินค้าเท่ากับความต้องการใช้โดยจะเก็บสต๊อกให้น้อยที่สุด ขณะที่เหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศที่ทรงตัว ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กทรงแบนราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามา สำหรับการส่งออกในช่วงนี้จะต้องมีการแข่งขันทางด้านราคาค่อนข้างสูงเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกค่อนข้างชะลอตัว
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2548 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการรถยนต์ในประเทศยังคงมีมาก โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน มีสัดส่วนในตลาดรถยนต์ทุกประเภทถึงร้อยละ 71 ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ยังคงมีการขยายตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 104,629 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2547 ร้อยละ 16.41 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการผลิต 102,602 คัน ร้อยละ 1.98
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 57,399 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2547 ร้อยละ 3.72 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 55,137 คัน ร้อยละ 4.10
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 49,725 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2547 ร้อยละ 36.48 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการส่งออก 42,224 คัน ร้อยละ 17.76
- แนวโน้ม ประมาณการภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2548 จะขยายตัวจากเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการขาย มีการแข่งขันในการส่งเสริมการตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค และในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้ มีการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยครบ 1 ล้านคัน และเป็นปีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถผลิตรถยนต์เกิน 1 ล้านคัน เป็นปีแรก
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2548 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งในด้านปริมาณการผลิตและจำหน่าย แม้ว่ายังอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวยังคงได้รับความนิยมสูงสุดกว่าร้อยละ 70 เนื่องจากประหยัดพลังงานและราคาก็ประหยัด โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 203,856 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการผลิต 186,671 คัน ร้อยละ 9.21
- การจำหน่าย จำนวน 191,379 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2547 ร้อยละ 18.70 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 167,735 คัน ร้อยละ 14.09
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 12,307 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2548 ซึ่งมีการส่งออก 14,025 คัน ร้อยละ 12.25
- แนวโน้ม ประมาณการภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2548 จะขยายตัวจากเดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงฤดูการขาย ซึ่งตลาดในประเทศจะมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆ
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิต การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนตุลาคม 2548 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.52 เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เริ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4 เพราะอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.62 เนื่องจากการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนมีอัตราการเติบโตในทิศทางที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวในโครงการก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจเช่น โรงแรม รีสอร์ท ห้างร้านค้าปลีก ก็ชะลอลง
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 0.69 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 93.05 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศคู่ค้าขยายตัว สำหรับตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม บังคลาเทศ และกัมพูชา
3.แนวโน้ม
เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ภาวะการผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยโดยรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนเนื่องจากบริษัทต่างๆได้เร่งผลิตตาม Order เพื่อขายในช่วงเทศกาลสิ้นปีไปในเดือนก่อนหน้าแล้ว Semiconductor และ IC ของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามการขยายตัวของสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ส่วนผู้ผลิต TV ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า (FTA) ไทย-อินเดีย “
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ต.ค. 2548
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 42,960.92 -10.76 9.79
IC 20,666.19 -9.93 21.88
เครื่องรับโทรทัศน์สี 5,447.97 -17.66 -15.36
เครื่องปรับอากาศ 4,332.15 -9.69 -3.81
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 125,371.84 -9.27 1.61
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2548 ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.21 โดยในส่วนของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 5.29 เนื่องจากบริษัทต่างๆได้มีการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกือบครบตามจำนวนแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 4.16 ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.64 และ 22.1 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 125,371.84 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.27 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 โดยสินค้าไฟฟ้ามีการส่งออก 43,471.32 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 10.75 และปรับตัวลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนนี้มีมูลค่าการส่งออก 81,900.51 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.46 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
สินค้าไฟฟ้าที่ส่งออกสูงได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สี และเครื่องปรับอากาศ ด้วยมูลค่า 5447.97 และ 4332.15 ล้านบาท โดยปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 17.66 และ 9.69 ตามลำดับ ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงได้แก่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 43,960.92 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 10.76 รองลงมาคือ IC 22,944.31 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.33 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนไทยยังส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และ IC เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 9.79 และ21.88 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายน 2548 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากเดือนตุลาคม เนื่องจากบริษัทต่างๆได้เร่งทำการผลิตตามคำสั่งซื้อสำหรับขายในช่วงสิ้นปีเกือบครบจำนวนแล้ว ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี เนื่องจากความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ขยายตัวสูงมาก แม้ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2548 มีค่า 154.33 ลดลงจากเดือนกันยายน 2548 (154.73) ร้อยละ 0.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (146.77) ร้อยละ 5.2
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ