แถลงข่าวผลงานกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(8 พฤษภาคม 2549)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 11, 2006 14:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          1. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand — Australia Free Trade Agreement Joint Commission) ครั้งที่ 1 
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand — Australia Free Trade Agreement Joint Commission) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ณ กรุงเทพฯ เพื่อทบทวนผลและติดตามการดำเนินการภายใต้ความตกลง รวมทั้งร่วมมือแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงฯ ที่กำหนดให้มีการประชุมครั้งแรกภายใน 1 ปี หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ (1 มกราคม 2548)
การค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2549 ไทยเกินดุลการค้า 86.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ไทยขาดดุล 285.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการส่งออก 831.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เตาอบไมโครเวฟ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นต้น
มูลค่าการนำเข้า 745.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ ด้ายและเส้นใย เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม และถ่านหิน ส่วนสินค้านำเข้าที่ลดลง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง และอาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก เป็นต้น
2. การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership)
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีกระทรวงการค้านิวซีแลนด์ได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership) โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยาน โดยความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา ครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า บริการการลงทุนและความร่วมมือ โดยจะมีการเจรจาเปิดตลาดบริการภายใน 3 ปี หลังจากความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ
การค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ แม้จะยังมีไม่มากแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 393 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2544 เป็น 775 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 95 ทั้งนี้หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 — กุมภาพันธ์ 2549 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 520 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27 โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่นำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์เป็นรายการสำคัญ
ตามความตกลงฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ เพื่อติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีและประชุมครั้งแรกภายใน 1 ปี หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งขณะนี้กำหนดจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ที่กรุงเทพฯ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมครั้งนี้
3. อาเซียน-จีน
อาเซียนและจีนได้เปิดเสรีการค้าส่วนแรกและได้มีการเปิดเสรีสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Programme: EHP) ไปแล้วในสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นปี 2547 ต่อมาอาเซียนและจีนยังได้บรรลุการเจรจาความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้าและได้มีการเปิดเสรีสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Programme: EHP) ไปแล้วในสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นปี 2547 ต่อมาอาเซียนและจีนยังได้บรรลุการเจรจาความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้า (Early Harvest Programe: EHP) ในสินค้าเกษตรพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 01-08 และสินค้าเฉพาะบางรายการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 และได้เจรจาทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) ระหว่างกัน โดยเริ่มลดภาษีสินค้าในรายการสินค้าปกติระหว่างกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ได้เจรจาในประเด็นที่ค้างอยู่ เช่น กฎแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้า (Product Specific Rules : PSR) การลดภาษีสินค้าที่มีมาตรการโควตาภาษี (TRQ) และปัญหาการดำเนินการ (Implementation) ตามข้อตกลงการค้าสินค้า ส่วนการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยังต้องเร่งเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อไป
ในการเจรจาครั้งล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ในเรื่องการเจรจากฎเฉพาะว่าด้วยแหล่งกำเนิดของ สินค้า (PSR) รอบ 2 ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปรายการสินค้าที่อาเซียนจะเสนอยื่นต่อจีน สำหรับเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ฝ่ายจีนและอาเซียนยังมีความเห็นแตกต่างกันในบางประเด็น เช่น เรื่อง Permanent Resident หรือ การให้สิทธิประโยชน์แก่คนมิใช่สัญชาติภาคีที่มีถิ่นพำนักถาวรของประเทศภาคี เรื่อง Substantive Business Operation (SBO) หรือ การให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทของประเทศนอกภาคีที่มีการดำเนินธุรกิจเป็นตัวตนในประเทศภาคี (SBO) นอกจากนี้ การเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุน จีนต้องการให้เน้นการเจรจาในส่วนการเข้าสู่ตลาด (Market access) เฉพาะการลงทุนโดยตรง (FDI) ในสาขาที่สนใจและเป็นประโยชน์ต่อการค้า/การลงทุนต่อทั้งสองฝ่ายโดยเลือกจากสาขาเกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และการผลิต และมีเงื่อนไขว่าข้อบท และข้อผูกพันต้องเป็น positive list approach เท่านั้น และเห็นด้วยที่ให้การคุ้มครองการลงทุนครอบคลุม FDI และ portfolio investment
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือและได้ข้อสรุปในบางประเด็นและฝ่ายอาเซียนและจีนจะหารือในประเด็นดังกล่าวในการประชุมคณะเจรจาการค้าอาเซียน-จีน ระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม ศกนี้ ที่กรุงฮานอย
4. FTA ไทย - จีน
ไทยและจีนได้ตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ (ในพิกัด 07-08) ระหว่างกันก่อนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 และทะยอยลดภาษีสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ปลา ผลิตภัณฑ์นม ไข่สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ต้นไม้ พืชผักที่บริโภคได้ และผลไม้และลูกนัทที่บริโภคได้ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรภายใต้พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-08 รวมทั้งสินค้าเฉพาะ (Specific products) อีก 2 รายการ คือ ถ่านหินแอนทราไซด์และถ่านหินโค้ก/เซมิโค้ก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ซึ่งลดภาษีลงเป็น 0% หมดแล้วในวันที่ 1 มกราคม 2549 หลังจากนั้นจึงเริ่มทยอยลดภาษีสินค้าอื่นๆ ที่เหลือตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
การค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2549 (มกราคม-มีนาคม) มีมูลค่า 5,451.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.4 โดยมูลค่าส่งออก (2,563.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 ขณะที่มูลค่านำเข้า (2,888.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 324.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ ขาดดุลในอัตราที่ลดลงร้อยละ 47.5 สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ วงจรรวม กรดเทเรฟทาลิก ซีพียูเครื่องคอมพิวเตอร์ น้ำยางธรรมชาติ และมันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จานแม่เหล็ก เครื่องอุปกรณ์ตัดต่อสัญญาณโทรศัพท์ เงินแท่ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องประมวลผลข้อมูล และของอื่นๆ ทำด้วยเหล็กกล้า เป็นต้น
5. FTA ไทย-อินเดีย
ไทยและอินเดียได้ตกลงที่จะทยอยลดภาษีสินค้ารวม 82 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ (พลอยสี) เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเร่งลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program) โดยจะลดเหลือ 0% ภายในเดือนกันยายน 2549 นี้
การค้าสินค้าที่ลดภาษีไปแล้ว 82 รายการ ระหว่างไทยกับอินเดียมีมูลค่ารวม 91.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.0 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 37.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าส่งออก (64.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้า (27.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์สี หลอดภาพโทรทัศน์ และอีพอกไซด์เรซิน เป็นต้น สินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป โพลิเอสเทอร์ แท้ปและก๊อก เหล็กหรือเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และกระปุกเกียร์ยานยนต์ เป็นต้น
6. FTA ไทย-เปรู
หลังจากที่เริ่มเจรจาครั้งแรกเมื่อต้นปี 2547 ได้มีการลงนามพิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยกับเปรู เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ครั้งที่ 13 ที่นครปูซาน ประเทศเกาหลี พิธีสารดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเปรู ซึ่งได้ตกลงเรื่องเปิดเสรีสินค้าบางส่วนที่เรียกว่า Early Harvest โดยตกลงลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีกว่าร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด ครอบคลุมมูลค่าส่งออก 32 ล้านเหรียญสหรัฐและลดเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี ประมาณร้อยละ 17 ของรายการสินค้าครอบคลุมมูลค่าส่งออก 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยกับเปรูที่จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของเปรู ได้แก่ รถปิคอัพ พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เส้นใยสังเคราะห์ โทรทัศน์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้มีการเจรจากันต่อในเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) สำหรับสินค้าที่จะลดภาษีภายใต้พิธีสารฯ แต่ยังตกลงกันได้ไม่ครบทุกรายการและมีแผนที่จะเจรจารอบที่ 8 เพื่อเจรจาทุกเรื่องที่ยังค้างอยู่ทั้งในส่วนของการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ต้องระงับการเจรจาดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
7. อาเซียน-อินเดีย
อินเดีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะเจรจาเซียน/คณะเจรจาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 12 ในระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2549 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการเปิดเสรีการค้าสินค้า การจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การจัดทำกลไกการระงับข้อพิพาท รวมทั้งการหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน
ในส่วนของการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับจำนวนสินค้าที่จะเปิดเสรี วิธีการลด/ยกเลิกและรูปแบการลดภาษี ถึงแม้อาเซียนมีความยืดหยุ่นโดยเสนอให้รายการสินค้า ที่จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ Normal Track ครอบคลุม 85% ของพิกัดศุลกากรละมูลค่าการนำเข้า ซึ่งลดลงจากเดิมที่เสนอไว้ 90% และรายการสินค้าใน sensitive Track ให้ครอบคลุม 15% ของพิกัดศุลกากรและมูลค่าการนำเข้า โดยจะมีสินค้าส่วนหนึ่งลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 และสินค้าอีกส่วนหนึ่งไม่มีการลดภาษี แต่จะมี การทบทวนในปี 2010
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอินเดียยังคงไม่เห็นด้วย โดยเสนอให้สินค้า Normal Track ที่จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ครอบคลุม 75% ของพิกัดศุลกากร และ Sensitive Track ครอบคลุม 25% โดยจะมีจำนวนรายการสินค้าที่จะไม่ลดภาษีไม่เกิน 20% และจะพยายามลดลงให้เหลือ 15%
สำหรับการจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า คณะทำงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำร่างตัวบทกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และระเบียบปฎิบัติว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งยังคงมีบางประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไป ได้แก่ การตีความหลักเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด การจัดทำกฎแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้า เกณฑ์การผลิตที่ไม่ถือว่าได้แหล่งกำเนิด (minimal operation) สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การออกใบรับรองฯ จากบริษัทที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศผู้ส่งออก (Third Party Invoicing) เป็นต้น
นอกจากนี้ อินเดียได้เสนอให้เริ่มเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน เพื่อให้การเปิดเสรีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2008 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ อินเดียได้ยื่นร่างข้อตกลงการค้าบริการ โดยใช้ GATS เป็นพื้นฐาน และขอให้อาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูล และนโยบายการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางการเจรจาต่อไป อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้เน้นย้ำให้สรุปผลการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าให้ได้ ก่อนเริ่มมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน
สำหรับการประชุมครั้งต่อไป สิงคโปร์กำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะเจรจาอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม ศกนี้
8. อาเซียน-ญี่ปุ่น
การเจรจาความตกลงฯ อาเซียน-ญี่ปุ่น เริ่มการเจรจาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2548 และครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2549 การเจรจาครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน และความร่วมมืออื่นๆ โดยทั้งสองฝ่ายต้องการสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2550
การเจรจายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องมาจากญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งผลการเจรจาทวิภาคีเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการเจรจาความตกลงฯ AJCEP ต่อไปในอนาคตสำหรับประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ รูปแบบของการลดภาษี หลักเกณฑ์ในการพิจารณากฎถิ่นกำเนิดสินค้า ขอบเขตการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน เป็นต้น
9. ไทย-ญี่ปุ่น
ไทยได้แจ้งให้กับญี่ปุ่นทราบว่า ผลจากการยุบสภา ทำให้ไทยไม่สามารถลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEP) ได้ตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 3 เมษายน 2549 จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ารับหน้าที่และพิจารณาทั้งในแง่สารัตถะและกำหนดวันที่จะลงนามใหม่ คาดว่า ไทยน่าจะลงนามความตกลงกับญี่ปุ่นได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2549 ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นจะเปลี่ยนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ในเดือนกันยายน 2549
สาระสำคัญของความตกลง JTEPA คือ การลด/ยกเลิกภาษีระหว่างกันของไทยและญี่ปุ่น โดยจะลด/ยกเลิกภาษีมากกว่า 90% ของรายการสินค้าและมูลค่าการนำเข้า การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน โดยที่ไทยสามารถไปลงทุนเปิดกิจการและทำงานในญี่ปุ่นได้มากขึ้นและง่ายขึ้นในหลายสาขา เช่น บริการด้านดูแลคนป่วย/คนสูงอายุ บริการสปา บริการร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ความตกลงนี้ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือต่างๆ อาทิเช่น โครงการครัวไทยสู่โลก ความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็ก ความร่วมมืออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และโครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
10. อาเซียน-เกาหลี
การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 และมีการเจรจารวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24- 28 เมษายน 2549 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงในรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดและมีกำหนดจะลงนามความตกลงการค้าสินค้าพร้อมรายการสินค้าที่แนบ ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดยความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่สามารถตกลงในรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดได้ เนื่องจากการเจรจา ที่ผ่านมา เกาหลีไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของไทยในการชดเชยกรณีเกาหลีไม่นำสินค้าข้าวเข้ามาลดภาษี รวมทั้งยังนำรายการสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปไว้ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เช่น สินค้าไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง กล้วย มะม่วง ลำไย กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม มันสำปะหลัง เป็นต้น
ทั้งนี้ สินค้าที่เกาหลีต้องการให้ไทยเปิดตลาด ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน เหล็กแผ่นรีดร้อน/เย็น ทีวีสี และขอให้ไทยจำกัดรายการสินค้าอ่อนไหวไว้เพียง 10% ของมูลค่าการนำเข้าจากเกาหลี เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อเรียกร้องของไทย
11. ไทยและชิลีจับมือกันร่วมศึกษากระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน
ไทยและชิลีได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาหาแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน โดยได้มีการประชุมมาแล้ว 1 ครั้ง และกำหนดจะประชุมครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2549 ณ กรุงซานติ อาโก ประเทศชิลี
สืบเนื่องจากในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลี Mr. Ignacio Walker ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันศึกษาเพื่อหาแนวทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน โดยวิเคราะห์ขอบเขต ความเป็นไปได้ และผลประโยชน์จากการทำความตกลงการค้าเสรี
ในการนี้ คณะศึกษาร่วมไทย-ชิลีได้มีการประชุมมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรายงานการศึกษาบางส่วนที่จัดทำโดยฝ่ายไทยและฝ่ายชิลี โดยฝ่ายไทยได้นำเสนอข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การค้า และความตกลงการค้าเสรีที่ได้ลงนามแล้วของไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับชิลี และชิลีได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศชิลี ทั้งด้าน GDP อัตราการเจริญเติบโตด้านการค้า โดยเน้นการส่งออกเป็นตัวนำการเจริญเติบโต และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชิลี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงวิธีการศึกษาในหัวข้อต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตการศึกษา ที่สำคัญได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือ และวิธีการวิเคราะห์และประเมินผลจากการลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีระหว่างกัน
สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 นี้ กำหนดจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2549 ณ กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ซึ่งจะเป็นการหารือต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การประเมินผลของการลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีระหว่างกันในสาขาต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ ข้าว อาหาร ผลไม้ ป่าไม้ ประมง เหมืองแร่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ เป็นต้น
การร่วมกันศึกษาดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายได้กำหนดกรอบเวลาการศึกษาว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างไทยกับชิลี เพื่อขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไปในอนาคต
12. เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area — EAFTA)
การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asian Community) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน สังคมและวัฒนธรรม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (+3) โดยระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน+3 กำหนดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก โดยมอบหมายให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ ทำการศึกษาและเสนอต่อที่ประชุม AEM และ AEM+3 ในปี 2549
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2548 ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2549 โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะแนวทางการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก และจะมีพิจารณาร่างรายงานฉบับสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2549 โดยรายงานดังกล่าวจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณา ในเดือนสิงหาคม 2549 ทั้งนี้ การเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกคงจะเริ่มการเจรจาได้ในปี 2551 เพราะต้องรอให้การเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี สรุปผลการเจรจาได้ก่อน
13. WTO พลาดเส้นตายสำคัญอีกครั้งหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกง
WTO พลาดเส้นตายสำคัญอีกครั้งหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกงที่ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อจัดทำรูปแบบการเจรจา (Modalities) สำหรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรและการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมภายในวันที่ 30 เมษายน 2549 แต่จนถึงวันนี้ สมาชิกก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากประเด็นปัญหาเรื่องสูตรการลดภาษีทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การใช้มาตรการปกป้องพิเศษในกรณีที่การนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก (special safeguard) การลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ผูกพันใน WTO และเรื่องความยืดหยุ่นในการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ในการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6 ที่ประชุมตกลงให้เร่งรัดการเจรจารอบโดฮาให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2549 โดยที่ประชุมได้ตกลงให้สมาชิกเจรจากันต่อไปในเรื่องการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเสรีสินค้าเกษตร อาทิ การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกที่จะต้องยกเลิกภายในปี 2556 การลดการอุดหนุนภายใน การลด/เลิกภาษีและโควต้า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมก็มีปัญหาเรื่องสูตรการลดภาษี อาทิ ระยะเวลาการลดภาษี และความยืดหยุ่นในการลดภาษีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยกำหนดให้เจรจาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2549
หลังการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกง WTO ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษระหว่างวันที่ 18-21 และ 26 — 28 เมษายน 2549 และการประชุมเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 17 — 21 เมษายน 2549 ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายก่อนเส้นตายที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ แต่สมาชิก WTO ไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่อง Modalities ได้ เนื่องจากการเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตร ยังมีปัญหาเรื่องการลด/เลิกภาษีและโควต้า การใช้ special safeguard ในสินค้าเกษตร ส่วนการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมก็ยังมีปัญหาเรื่องสูตรการลดภาษี การลดภาษีสินค้าที่ยังไม่ได้ผูกพันใน WTO และเรื่องความยืดหยุ่นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับการดำเนินการต่อไปหลังจากพลาดเส้นตายสำคัญ นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ได้กำหนดให้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสมาชิกควรจะต้องสรุปผลการเจรจาจัดทำ Modalities ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2549 เพื่อที่จะสามารถสรุปผลการเจรจารอบโดฮาได้ทันในสิ้นปี 2549
14. APEC เอเปคผนึกกำลังผลักดันการเจรจารอบโดฮาในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 12
สาธารณรัฐเวียดนาม จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 12 ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2549 ณ นครโฮจิมินห์ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
ในการประชุมครั้งนี้ การเจรจารอบโดฮาจะเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับการหารือของรัฐมนตรีการค้า เพื่อร่วมกันผลักดันให้การเจรจาดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ในปลายปีนี้ โดยไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าเกษตรซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเจรจาในปีนี้สำเร็จหรือล้มเหลว ทั้งนี้ ไทยเห็นว่า สมาชิกเอเปคควรร่วมมือกันผลักดันให้การจัดทำรูปแบบการเจรจา (modalities) ทั้งเรื่องสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเสร็จ ภายในอย่างช้าในเดือนกรกฎาคม ศกนี้
นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว สมาชิกเอเปคจะมีการหารือถึงการปฏิบัติ (implement) ตามแนวทางปูซานเพื่อไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Busan Roadmap to Bogor Goals) ในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในปี 2010/2020 เช่น การจัดทำ RTAs/FTAs ให้มีคุณภาพการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และแก้ไขอุปสรรค ด้านกฎระเบียบภายในการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิก (capacity building) เป็นต้น และความร่วมมือกับภาคเอกชน
อนึ่ง ในช่วงระหว่างการประชุมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิกเอเปค เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการค้า และความร่วมมือด้านต่างๆ
15. การประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านบริการของอาเซียน ครั้งที่ 46
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการบริการของอาเซียน (CCS) ครั้งที่ 46 เมื่อวันที่ 24-27 เมษายน 2549 ณ โรงแรม Swissotel Le Concorde ถนนรัชดา ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการต่างๆ เช่น บริการธุรกิจ โทรคมนาคม ท่องเที่ยว ขนส่งทางทะเลและสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ CCS เป็นเวทีการประชุมและเจรจาด้านบริการระหว่างสมาชิกอาเซียนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกลไกส่วนสำคัญอันหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2015 ตามมติของผู้นำของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สำหรับการประชุม CCS ครั้งที่ 46 นี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องสำคัญ ได้แก่
1. การวางแผนเปิดตลาดจนบรรลุเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2015 (Roadmap to 2015 End-Goal) โดยเบื้องต้นจะเป็นการทยอยเปิดตลาดในสาขาบริการต่างๆ ให้ครบทุกสาขา และมีเป้าหมายให้สมาชิกยกเลิกข้อจำกัดการค้าบริการแบบข้ามพรมแดนและเปิดให้สมาชิกอื่นสามารถเข้ามาลงทุนโดยถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 70% ภายในปี 2015 แต่อาจมีการยืดหยุ่นหรือมีข้อสงวนได้สำหรับบางสาขาบริการที่ยังไม่พร้อม
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ