สรุปประเด็นสำคัญดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกุมภาพันธ์ 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 160.78 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 (157.27) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (141.69)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก การแปรรูปผลไม้และผัก การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 67.93 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2549 (68.19) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (65.57)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะยังได้รับผลดีจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง จากข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลต่อการขยายตลาดส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดโรคจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลต่อภาคการลงทุนในประเทศได้
- ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนมีนาคม 2549 จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะจากตลาดภายในประเทศ แต่สำหรับเดือนเมษายน คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด เนื่องจากมีเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง
- สถานการณ์เหล็กในเดือน มี.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ชะลอตัวจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซาอยู่ทั้งทางด้านการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งผลให้การผลิตทรงตัว สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงอยู่
- ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2549 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมีการจัดงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 27 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น ส่วนภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ จะขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจาก เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูการจำหน่ายของรถจักรยานยนต์
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับในเดือนเมษายน 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นหลัก
- ภาวการณ์ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากได้แรงหนุนจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับขายในฤดูร้อน ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ม.ค. 49 = 157.27
ก.พ. 49 = 160.78
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี เพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ม.ค. 49 = 68.19
ก.พ. 49 = 67.93
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อย ได้แก่
- การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
- การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง
- การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
1.อุตสาหกรรมอาหาร
“ ภาวะการผลิตและการจำหน่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาทางการเมือง การส่งออกมีทิศทางและโอกาสทางการค้าดีขึ้น จากปัจจัยเสริมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง"
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 20.3 และ 2.4 โดยสินค้าที่ขยายตัวด้านการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 49.6 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 15.8 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 84.5 กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 23.9 และแป้งมันสำปะหลังร้อยละ 28.3 สำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ อาหารสุกร มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ส่วนน้ำตาลทรายผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 0.9 และ 11.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มมีความนิยมอาหารพร้อมรับประทานและอาหารแช่แข็งและขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น พิจารณาจากการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปอาหารและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยราคาน้ำมัน ยังคงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 23.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 และ 34.8 สับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 53.1 และ 49.5 ไก่แปรรูป ร้อยละ 28.3 และ 35.3 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 11.6 และ 13.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการสั่งซื้ออาหารเพื่อการบริโภคหลังประสบภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้า ประกอบกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในทวีปอาฟริกาและยุโรปตะวันออก สำหรับปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายลดลงมากถึงร้อยละ 55.4 และ 37.1 เนื่องจากมีการคาดการณ์และชะลอการส่งออกเพื่อรอราคาในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะยังได้รับผลดีจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง จากข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลต่อการขยายตลาดส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดโรคจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลต่อภาคการลงทุนในประเทศได้
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“..สำหรับ.เดือนเมษายน คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด...
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยเฉพาะเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตผ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงเนื่องจากมีการนำเข้าเสื้อผ้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามามาก ขณะที่การจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 6.5 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบ ผ้าผืน ด้ายฝ้าย เคหะสิ่งทอ และผ้าปักและผ้าลูกไม้ โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6, 5.3 , 2.8, 18.2, 6.2 และ 14.5 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.8 , 19.1, 10.8 และ 6.5 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการบริโภคของตลาดในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะเส้นใยใช้ในการทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 16.9 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ด้ายทอผ้าฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.6 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย
เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ลดลงร้อยละ 29.5ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากเยอรมนี ไต้หวัน และญี่ปุ่น
4. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนมีนาคม 2549 จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะจากตลาดภายในประเทศ แต่สำหรับเดือนเมษายน คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด เนื่องจากมีเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“ทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มมากขึ้นแต่ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มประเทศ CISกลับลดลง (เพื่อกระตุ้นให้ราคาเหล็กเพิ่มมากขึ้นจากที่ได้ปรับตัวลดลงมากในปีก่อน) ประกอบกับสภาพอากาศไม่ดีในช่วงฤดูหนาวทำให้การขนส่งมีอุปสรรค”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ก.พ. 49 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 122.33 ชะลอตัวลง ร้อยละ 3.06 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 28.88 เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่จึงลดการผลิตลงเพื่อเร่งระบายสินค้าในสต๊อก รองลงมาคือ เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 7.26 เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาประกอบกับโครงการเมกะโปรเจคท์ของภาครัฐที่ยังไม่คืบหน้า ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 11.56 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 30.05 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 29.37 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 26.04
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 เทียบกับเดือนก่อน ทิศทางการปรับตัวของราคาเหล็กส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น จาก 421 เป็น 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.98 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น จาก 366 เป็น 389 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.14 และเหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น จาก 328 เป็น 337 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.86 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน ราคาอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหล็กแท่งแบน ราคาอยู่ที่ 298 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากความต้องการใช้ในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มมากขึ้นแต่ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มประเทศ CIS กลับลดลง(เพื่อกระตุ้นให้ราคาเหล็กเพิ่มมากขึ้นจากที่ได้ปรับตัวลดลงมากในปีก่อน) ประกอบกับสภาพอากาศไม่ดีในช่วงฤดูหนาวทำให้การขนส่งมีอุปสรรค
สำหรับผู้ผลิตเหล็กของไทยจะยังคงเผชิญกับปัญหาราคาวัตถุดิบนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาขายสินค้าภายในประเทศในอาจจะไม่สามารถปรับเพิ่มได้ตามต้นทุนวัตถุดิบเพราะความต้องการใช้ยังคงทรงตัวอยู่
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน มี.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ชะลอตัวจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซาอยู่ทั้งทางด้านการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งผลให้การผลิตทรงตัว สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์คาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงอยู่
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ขยายตัวจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งด้านการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก โดยมีปริมาณการผลิตเพื่อการส่งออก ประมาณร้อยละ 48 ซึ่งข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 101,923 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 86,197 คัน ร้อยละ 18.24 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 30.13
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 53,429 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 50,454 คัน ร้อยละ 5.90 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 13.59
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 52,282 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 32,838 คัน ร้อยละ 59.21 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 88.69
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2549 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมีการจัดงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 27 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์มีการจำหน่าย และการส่งออก ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 178,292 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 197,454 คัน ร้อยละ 9.70 และลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 1.07
- การจำหน่าย จำนวน 187,287 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 172,235 คัน ร้อยละ 8.74 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 11.89
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 14,835 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 12,376 คัน ร้อยละ 19.87 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร้อยละ 36.04
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2549 จะขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจาก เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูการจำหน่ายของรถจักรยานยนต์
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนความต้องการใช้ยังคงชะลอตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 5.01 แต่การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 เนื่องจากอยู่ในช่วงของฤดูกาลก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.50 แต่การจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 1.08 ตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จากปัจจัยกดดันทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวลงไปด้วย
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 24.99 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.46 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและแถบเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ในตะวันออกกลางและละตินอเมริกา
3.แนวโน้ม
ในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับในเดือนเมษายน 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นหลัก
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ภาวะการผลิตและการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน ก.พ. 49 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากเดือน ม.ค. จากแรงหนุนในสินค้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น และการลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 49 ภาพรวมยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คาดว่ายังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. เนื่องจากสินค้าเครื่องทำความเย็นที่คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ส่วนสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คาดว่ายังจะมียอดการผลิตสูงคงที่ต่อเนื่องต่อไป “
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.พ. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 41,408.51 -2.00 46.76
IC 20,695.45 4.61 56.28
วงจรพิมพ์ 2,775.36 -31.13 -37.19
ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ 2,656.70 3.81 -1.64
เครื่องปรับอากาศ 7,708.15 21.13 23.31
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการเร่งการผลิตกลุ่มเครื่องทำความเย็นที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการขยายตัวของ HDD และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.36 โดยมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 118,123.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นภาวะปกติของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทรงตัวในช่วงต้นปี เนื่องจากได้ผ่านพ้นช่วงของการเร่งส่งสินค้าไปในก่อนหน้านี้แล้ว และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.56 สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 43,277.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.08 โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มเครื่องทำความเย็น ส่วนสินค้าหลักที่มีการปรับตัวลดลง คือ เครื่องรับโทรทัศน์สี ส่วนสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 74,846.31 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.60 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาล ที่จะมีการชะลอการผลิตลงจากเดิมเล็กน้อยในช่วง ต้นปี อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35.80 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ IC และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 56.28 และ 46.76 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
ภาวการณ์ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากได้แรงหนุนจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับขายในฤดูร้อน ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีค่า 160.78 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 (157.27) ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (141.69) ร้อยละ 13.5
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้และผัก อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีค่า 67.93 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2549 (68.19) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (65.57)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2549
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2549 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 338 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ —6.2 และมีการจ้างงานรวม 5,317 คน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,117 คน ร้อยละ —41.7 แต่ในส่วนของจำนวนเงินลงทุน มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 10,210.76 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 5,895.94 ล้านบาทร้อยละ 73.2
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 428 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ —25.9 และมีการจ้างงานลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,656 คน ร้อยละ —50.1 แต่ในส่วนของจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 8,589.89 ล้านบาทร้อยละ 18.9
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 43 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปและอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 19 ราย
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คือ อุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ 5,211 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำน้ำแข็ง มีเงินทุน 442 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คือ อุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ คนงาน 398 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง คนงาน 362 คน
- ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2549 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 156 ราย มากกว่าเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 126 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.8 ในส่วนของเงินทุนมีจำนวน 1,330.95 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,983 คน มากกว่าเดือนมกราคม 2549 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 715.50 ล้านบาทและเลิกจ้างงานจำนวน 2,284 คน
- ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวนมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 122 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.9 โดยในส่วนการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,454 คน แต่ในส่วนของเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,846.03 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คือ อุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 16 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ จำนวน 13 ราย
(ยังมีต่อ)