การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2549(มกราคม-กันยายน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 9, 2006 16:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          1.   การส่งออก
การส่งออกเดือนกันยายน 2549 มีมูลค่า 12,048.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 15.3 การส่งออกทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เป็นการขยายตัวของสินค้าหมวดต่างๆ ดังนี้
-สินค้าเกษตรกรรม/อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งออกเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 24.3 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าอาหาร (กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาหารกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป) ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 35.6, 42.5 และ 13.6 ตามลำดับ
-สินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณี วัสดุก่อสร้างผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช สิ่งพิมพ์และของเล่น สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลง ได้แก่ สิ่งทอ และ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ การแข่งขันกับคู่แข่ง คือ จีนและเวียดนาม และได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท
-สินค้าอื่น ๆ ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 ที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เลนส์ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบินส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 , 38.0 และ 23.3 ตามลำดับ
การส่งออกในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 95,616.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.4 คิดเป็นร้อยละ 73.3 ของเป้าหมายการส่งออก เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 18.6 สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 13.4 และสินค้าอื่นๆ ร้อยละ 26.2
-สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และ สินค้าอาหาร(กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาหารกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป) เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.0 , 27.6 และ 10.3 ตามลำดับ รวมทั้ง ข้าวที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ขณะที่ปริมาณลดลงร้อยละ 5.5 สำหรับน้ำตาลปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 36.4 และ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลง
-สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ อัญมณี เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง สิ่งพิมพ์และกระดาษ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช และ ของเล่น สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า ลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศและการแข่งขันกับจีน เวียดนามและอินโดนีเซีย และ เฟอร์นิเจอร์ลดลงร้อยละ 1.4 จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพาราและแรงงาน รวมทั้งการแข่งขันกับจีนและเวียดนาม
-สินค้าอื่นๆ ที่สำคัญและส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เลนส์ และน้ำมันเบนซินส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 , 22.2 , 36.4 และ 30.3 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกสำคัญ (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกไปตลาดใหม่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.7 ขณะที่ตลาดหลักก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 11.0
-ตลาดใหม่ที่ขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ ยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 34.4) ลาตินอเมริกา (ร้อยละ 32.5) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 29.1) อินโดจีนและพม่า(ร้อยละ 27.7) ออสเตรเลีย(ร้อยละ 27.4) ไต้หวัน(ร้อยละ 26.5) จีน(ร้อยละ 26.0) แคนาดา(ร้อยละ 24.4) เกาหลีใต้(ร้อยละ 22.6) และ ฮ่องกง(ร้อยละ 19.0)
-ตลาดหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯร้อยละ 16.5 สหภาพยุโรปร้อยละ 14.6 ญี่ปุ่นร้อยละ 6.9 และ อาเซียน(5)ร้อยละ 6.7
2. การนำเข้า
การนำเข้าเดือนกันยายน 2549 มีมูลค่า 10,541.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0
-กลุ่มสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 15.4) สินค้าทุน (ร้อยละ 2.9) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 10.6) สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 12.9) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ (ร้อยละ 30.3) สำหรับการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 68.1 ของมูลค่าการนำเข้ารวม และเป็นสินค้าที่มีความสัมพันธ์กับการลงทุน/การผลิต/การส่งออกโดยตรงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการผลิตและให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงหลังของปีซึ่งจะมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี กลุ่มสินค้าที่นำเข้าลดลง ได้แก่ สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 10.8)
-สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงในเดือนกันยายน 2549 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95.6 ของการนำเข้ารวม มีดังนี้
(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 2,161 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 (สัดส่วนร้อยละ 20.5 ของมูลค่านำเข้ารวม) เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 23.73 ล้านบาร์เรล (790,855 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,682 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.18 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.86 (สัดส่วนร้อยละ 16.0 ของมูลค่านำเข้ารวม)
(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 2,820 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 (สัดส่วนร้อยละ 26.8 ของมูลค่านำเข้ารวม) สินค้าสำคัญ ได้แก่
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 918 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 (สัดส่วนร้อยละ 8.7 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.2 (สัดส่วนร้อยละ 7.4 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 634 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 (สัดส่วนร้อยละ 6.0 ของมูลค่านำเข้ารวม)
(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 4,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 (สัดส่วนร้อยละ 41.3 ของมูลค่านำเข้ารวม) สินค้าสำคัญ ได้แก่
- อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 (สัดส่วนร้อยละ 8.6 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เคมีภัณฑ์ นำเข้ามูลค่า 749 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 (สัดส่วนร้อยละ 7.1 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ นำเข้าปริมาณ 0.82 ล้านตัน เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.04 มูลค่า 611 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 (สัดส่วนร้อยละ 5.8 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- ทองคำ นำเข้าปริมาณ 11.0 ตัน เทียบกับเดือนเดียวของปีก่อนปริมาณลดลงร้อยละ 12.46 มูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 (สัดส่วนร้อยละ 2.0 ของมูลค่านำเข้ารวม)
(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้ามูลค่า 739 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 (สัดส่วนร้อยละ 7.0 ของมูลค่านำเข้ารวม) สินค้าสำคัญได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นำเข้ามูลค่า 167 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 (สัดส่วนร้อยละ 1.6 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร กระเป๋า เป็นต้น นำเข้ามูลค่า 139 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 (สัดส่วนร้อยละ 1.3 ของมูลค่านำเข้ารวม)
- เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์ สิ่งทออื่นๆ นำเข้ามูลค่า 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 (สัดส่วนร้อยละ 0.4 ของมูลค่านำเข้ารวม) โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.6
- นาฬิกาและส่วนประกอบ นำเข้ามูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.8 (สัดส่วนร้อยละ 0.3 ของมูลค่านำเข้ารวม)
การนำเข้าในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 95,980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 โดยกลุ่มสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 21.9) สินค้าทุน (ร้อยละ 6.4) สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 2.8) และ สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 16.0) ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ สินค้ายานพาหนะ/อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 5.6) และ สินค้าอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ (ร้อยละ 1.1)
3. ดุลการค้า
ดุลการค้าเดือนกันยายน 2549 ไทยเกินดุลการค้า 1,506.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ส่งผลให้ระยะ 9 เดือนแรกของปี 2549 ขาดดุลการค้าเพียง 363.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลลดลงเกือบ 20 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดดุล 6,951.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
4. สรุปแนวโน้มการส่งออก การนำเข้า และดุลการค้า
แนวโน้มการส่งออก
จากการหารือกับผู้ส่งออกสินค้าสำคัญล่าสุด เมื่อวันที่ 11-16 ตุลาคม 2549 ทำให้เชื่อมั่นว่า การส่งออกทั้งปี 2549 จะขยายตัวใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17 แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอลง แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2549 มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เช่น ยุโรป จีน อินเดีย เป็นต้น และในไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงฤดูสั่งซื้อ และส่งมอบสินค้าในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุก เพื่อขยายการส่งออกและเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ การผลักดัน SMEs และกลุ่มอินเตอร์เทรดเดอร์ทีมีศักยภาพสู่ต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันธุรกิจบริการ เช่น สปา อาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น
สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะสามารถส่งออกได้สูงกว่าเป้าหมาย คือ สินค้าเกษตร ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และ ยางพารา รวมทั้ง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และ ของเล่น ส่วนสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายหรือใกล้เคียง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง และ ผลิตภัณฑ์เภสัช
แนวโน้มการนำเข้าและดุลการค้า
จากการส่งออกที่ขยายตัวในอัตราสูงและดุลการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น (ขาดดุลลดลง) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์มีการดูแลการนำเข้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแจ้งแผนการนำเข้าปี 2549 เป็นรายเดือนรวม 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็ก ทองคำ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ มีมาตรการติดตามการนำเข้าสินค้าตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และดูแลการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย จะทำให้การขาดดุลการค้า ปี 2549 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2548
ราคาน้ำมันอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผลกระทบต่อดุลการค้า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย (ราคาเฉลี่ย ณ ตลาดดูไบ โอมาน และมาเลเซีย) ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 62.921 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายน 2549 เป็น 58.183 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2549 ตามภาวะอุปทานน้ำมันและสถานการณ์ทางการเมืองของโลกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคานำมันดิบของโลกยังมีความผันผวนจากกระแสการปรับลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปค การนำเข้าน้ำมันดิบของไทยในเดือนตุลาคม 2549 ยังคงกำหนดไว้ตามที่ผู้นำเข้าให้ความร่วมมือที่จะลดการนำเข้าลงร้อยละ 10 จากปี 2548 หรือนำเข้าไม่เกิน 765,000 บาร์เรล/วัน
แนวโน้มการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ได้แก่ สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก และทองคำในเดือนตุลาคม 2549 คาดว่า ผู้นำเข้าจะนำเข้าต่ำกว่าแผนการนำเข้าที่แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ (แจ้งไว้ที่ 1.31 ล้านตัน และ 13.39 ตัน ตามลำดับ) ส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์คาดว่าจะชะลอลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น
การนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ คาดว่าจะมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก สำหรับการนำเข้าตามโครงการของรัฐฯ หน่วยงานต่างๆ แจ้งแผนการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2549 มูลค่า 354.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯและจะนำเข้าทั้งปี 2549 มูลค่า 1,820.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ