สรุปภาวะการค้าไทย-สหรัฐระหว่างเดือน ม.ค.- ต.ค.2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2006 16:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สหรัฐฯ เป็นตลาดนำเข้าสำคัญอันดับ 1 ของโลกในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 16.99 ของการนำเข้าในตลาดโลก มีมูลค่าการนำเข้า 1,673,454.520 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. การนำเข้าของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.-ก.ย. 2549 มีมูลค่ารวม 1,384,975.287 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.26
3. แหล่งผลิตสำคัญที่สหรัฐฯ นำเข้าในเดือน ม.ค.-ก.ย. 2549 ได้แก่
- แคนาดา ร้อยละ 16.56 มูลค่า 229,380.456 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.18
- จีน ร้อยละ 14.91 มูลค่า 206,500.491 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.21
- เม็กซิโก ร้อยละ 10.71 มูลค่า 148,355.496 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.20
ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 17 สัดส่วนร้อยละ 1.20 มูลค่า 16,586.477 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53
4. รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แถลงการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2549 และปีหน้าว่าแม้จะมีปัจจัยลบรุมเร้าทว่าประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 3.1% โดยประเมินจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และในปี 2550 และ 2551 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.9% และ 3.3% ตามลำดับ
5. สหรัฐฯ เสียเปรียบดุลการค้ากับทั่วโลกในเดือน ม.ค.-ก.ย. 2549 มูลค่า 620,725.965 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 166,264.784 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.61 ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 2 มูลค่า 64,834.065 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.99 และเสียเปรียบดุลการค้าให้กับแคนาดาเป็นอันดับ 3 เป็นมูลค่า 56,766.205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.00
6. ปี 2549 (ม.ค.-ต.ค) สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทยโดยมีสัดส่วนส่งออกไปตลาดนี้ร้อยละ 15.29 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย หรือมูลค่า 16,379.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.13 คิดเป็นร้อยละ 83.80 ของเป้าหมายการส่งออกไปสหรัฐฯในปี 2549 (มูลค่า 19,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0)
7. สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (ม.ค.-ต.ค. 2549) มีโครงสร้าง ดังนี้
- สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง) ร้อยละ 7.19
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ร้อยละ 8.65
- สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 80.99
- สินค้าแร่ เชื้อเพลิง และอื่นๆ ร้อยละ 3.17
จากสถิติโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ จะเห็นว่าสินค้าแต่ละกลุ่มมีสถิติเพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.89 เกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.47 และอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.56
7.1 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 มีมูลค่า 1,177.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.47 เมื่อเทียบกับ 8,542.22 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน
สินค้าเกษตรกรรมสำคัญส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่
- กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 40.71
- ยางพารา ร้อยละ 30.08
- ข้าว ร้อยละ 12.41
- ปลา ร้อยละ 2.69
- ปลาหมึก ร้อยละ 2.50
- สดแช่เย็นแช่แข็ง : เป็นสินค้าเกษตร (ประมง)สำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เป็นมูลค่า 479.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.67 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง HS.030613 SHRIMP, PRAWN FROZEN) ในประเทศสหรัฐฯ ช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 ซึ่งมีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 24.38 มูลค่า 490.972 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.27 รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 13.63 12.07 และ 11.58 ตามลำดับ
- ยางพารา : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่สองซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 354.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.67 และ เมื่อไปดูสถิติการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 พบว่าสหรัฐฯ นำเข้ายางพารา (ยางธรรมชาติ) (HS 4001 NATERAL) จากตลาดโลกเป็นมูลค่า 1,530.374 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.25 มีการ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับสอง สัดส่วนร้อยละ 19.43 มูลค่า 297.318 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.91 ส่วนอันดับหนึ่งและอันดับสาม นำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในสัดส่วนร้อยละ 61.19 และ 7.40 ตามลำดับ
- ข้าว : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่สาม ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 146.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33 เมื่อเทียบกับ 123.54 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าข้าว (Hs.1006 Rice) ของสหรัฐฯ พบว่าในช่วง ม.ค.-ก.ย. 2549 มีการนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 227.974 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.49 มีการ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 54.60 มูลค่า 124.479 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก อินเดีย จีน ในสัดส่วนร้อยละ 18.38 และ 11.80 ตามลำดับ
-ปลา เป็นสินค้าเกษตร (ประมง): ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ อันดับที่สี่ มูลค่า 31.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.79 และเมื่อดูจากสถิติการนำเข้าปลา (แช่เย็นแช่แข็ง) (HS 0304 FILLET, OTHER FISH MEAT) ในประเทศสหรัฐฯ พบว่าในช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 สหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลก มูลค่า 2,176.767 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 15 สัดส่วนร้อยละ 1.21 มูลค่า 26.436 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.38 ในขณะที่การนำเข้าจากจีน ชิลี เป็นอันดับ 1 และ 2 สัดส่วนร้อยละ 30.21 27.43 ตามลำดับ
- ปลาหมึก เป็นสินค้าเกษตร (ประมง): สำคัญอันดับที่ 5 ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 29.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.82 ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 ในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 มีการนำเข้าจากตลาดโลก (HS.030741 SQUID, ETC, LIV, FR/CH) มูลค่ารวม 2.177 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.98 มีการนำเข้าจากจีน เปรู และนิวซีแลนด์ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 4 สัดส่วนร้อยละ 8.01 มูลค่า 0.174 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.86
สินค้าเกษตรส่งไปสหรัฐฯ ที่มีความสำคัญรองลงไปคือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และใบยาสูบ เป็นต้น
7.2 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรไปสหรัฐฯ ที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่
- อาหารทะเลแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 43.98
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 22.28
- ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 3.36
- อาหารสัตว์เลี้ยง สัดส่วนร้อยละ 3.34
- ผักกระป๋องและแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 2.31
- อาหารทะเลแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 623.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ม.ค.-ต.ค. 2549) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.37 แต่ในด้านสถิติการนำเข้าของสหรัฐฯ มีการนำเข้า
- (HS 1604 FISH AND CAVIAR) (ม.ค.-ก.ย. 2549) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากตลาดโลก มูลค่า 783.232 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.18 นำเข้าจาก ไทย เอกวาดอร์ และแคนาดา เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 31.68 มูลค่า 248.115 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.19
- (HS 1605 CRUSTACEAN, MOLLUSCS) ปู กุ้ง ปลาหมึก บรรจุภาชนะอัดลม (อาหารทะเลแปรรูป) ในช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 สหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลก มูลค่า 1,295.502 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.09 มีการนำเข้าจาก ไทย จีน แคนาดา เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่หนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 31.02 มูลค่า 401.847 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.66
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ มูลค่า 315.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.77 ในช่วงม.ค.-ต.ค 2549 และในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ (ม.ค.-ก.ย 2549) ในรหัส HS 2008 OTHER FRUIT, NUT มีมูลค่า 930.731 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.12 มีการนำเข้าจากจีน ไทย และเม็กซิโก เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 23.53 19.86 และ 11.32 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับ 2 สัดส่วนร้อยละ 19.86 มูลค่า 184.808 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27
- ผลิตภัณฑ์ช้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 47.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค.-ต.ค 2549 เทียบกับ 38.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.33 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าในรหัส HS 1901 MALT EX : PREP OF FLOUR (ม.ค.-ก.ย 2549) พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 287.915 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 มีการนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 80.81 2.86 และ 1.95 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 9 สัดส่วนร้อยละ 0.55 มูลค่า 1.573 ลดลงร้อยละ 8.36
- อาหารสัตว์เลี้ยง : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 47.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.55 ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 ส่วนในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ก.ย 2549 ในรหัส HS 23 FOOD WASTE : ANIMAL FEED มีการนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 647.203 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.40 โดยนำเข้าจากแคนาดา จีน และสหราชอาณาจักร เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 4 สัดส่วนร้อยละ 5.83 มูลค่า 37.709 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.14
- ผักกระป๋องและแปรรูป :ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 32.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.36 ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 และในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ (ม.ค.-ก.ย. 2549) ในรหัส HS 2005 OT PREP VEG, NOT FRZEN) จากตลาดโลกมีมูลค่า 563.921 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 มีการนำเข้าจากสเปน เม็กซิโก และแคนาดา เป็นหลักในสัดส่วนร้อยละ 29.51 14.13 และ 10.49 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับ 10 สัดส่วนร้อยละ 2.05 มูลค่า 11.571 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.67 สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่สำคัญรองลงไปที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ ได้แก่ สิ่งปรุงรสอาหารส้ม และผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น
7.3 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปสหรัฐฯ 5 อันดับ ได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้า สัดส่วนร้อยละ 25.29
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 24.19
- สิ่งทอ สัดส่วนร้อยละ 18.01
- เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 12.08
- อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วนร้อยละ 8.00
- เครื่องใช้ไฟฟ้า : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 เป็นมูลค่า 2,529.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.77 แต่เมื่อไปดูสถิติการนำเข้าสินค้าในรหัส HS.85 ELECTRICAL MACHINERY ของประเทศสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-ก.ย. 2549 พบว่ามีการนำเข้าจากตลาดโลกรวม 165,294.226 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.66 นำเข้าจากประเทศจีนเม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 9 สัดส่วนร้อยละ 2.57 มูลค่า 4,240.089 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.35
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ (ม.ค.-ต.ค. 2549) มูลค่า 2,360.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.37 ส่วนในด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (HS 8471 COMPUTER AND COMPONENTS) ของตลาดสหรัฐฯ (ม.ค-ก.ย 2549) มีมูลค่า 49,867.254 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.45 โดยนำเข้าจากจีน มาเลเซีย และเม็กซิโก เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 สัดส่วนร้อยละ 4.36 มูลค่า 2,171.601 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97
- สิ่งทอ : ไทยส่งสินค้านี้ออกไปสหรัฐฯ (ม.ค.-ต.ค 2549) เป็นมูลค่า 1,757.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 ส่วนในด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอในตลาดสหรัฐฯ (ม.ค.-ก.ย. 2549) ในรหัส สินค้า HS 63 MISC TEXTILE ARTICLES จากตลาดโลกมีมูลค่า 7,528.397 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.39 โดยนำเข้าจากจีน ปากีสถาน และอินเดีย เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอันดับที่ 9 สัดส่วนร้อยละ 1.42 มูลค่า 106.954 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.45
- เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ :ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ (ม.ค.-ต.ค. 2549) มูลค่า 1,178.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 1,051.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 ในด้านการนำเข้าจากตลาดโลกของสหรัฐฯ (ม.ค-ก.ย 2549) ในรหัสสินค้า HS 8529 TV/ RAD APP PTS มีมูลค่า 4,734.642 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.54 โดยนำเข้าจากจีน เม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 9 สัดส่วนร้อยละ 2.37 มูลค่า 112.330 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.60
- อัญมณีและเครื่องประดับ : ไทยส่งสินค้านี้ไปสหรัฐฯ (ม.ค.-ต.ค. 2549) มูลค่า 780.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 793.80 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน ลดลงร้อยละ 1.66 ในด้านการนำเข้าจากตลาดโลกของสหรัฐฯ (ม.ค.-ก.ย 2549) ในรหัสสินค้า HS 71 PRECIOUS STONES, METALS เป็นมูลค่า 32,383.075 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.14 นำเข้าจากอิสราเอล อินเดีย และอัฟริกาใต้ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 10 สัดส่วนร้อยละ 2.99 มูลค่า 967.102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38
สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปสหรัฐฯ ที่สำคัญรองลงไป ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัวและบ้านเรือน เป็นต้น
ข้อคิดเห็น
1. ศาสตาจารย์เคนเนธ เอส รอก็อฟ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการส่วนงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไปน่าจะขยายตัวในอัตราที่ยังสูงอยู่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่นจะช่วยฉุดเศรษฐกิจโลกมิให้ตกต่ำตามสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าชะลอตัวแต่ไม่ถึงกับถดถอย
2. เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2549 เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ได้ร่วมหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เพื่อติดตามการทบทวนการให้สิทธิ จีเอสพีของสหรัฐฯ ซึ่งพบว่ายูเอสทีอาร์ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถแถลงผลการพิจารณาใดๆ ได้ เนื่องจากต้องรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและผลการประชุมวาระระหว่างการสับเปลี่ยนสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะถูกตัดสิทธิการได้รับจีเอสพี ด้วยเหตุนี้ไทยจึงต้องเร่งปรับตัวและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
3. อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางชุติมา บุณยประภัศร แถลงว่าองค์การระงับข้อ พิพาทขององค์การค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้จัดตั้งคณะลูกขุน (Panel) ขึ้นมาพิจารณากรณีที่ไทยยื่นฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอ กรณีสหรัฐฯ เรียกเก็บเงินประกันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทย (ซี-บอนด์) และการใช้มาตรการคำนวณหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็ง (Zeroing : การไม่นำรายการขายในตลาดสหรัฐฯ ที่ราคาสูงกว่าตลาดต่างประเทศ หรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตรวมกำไรมาคำนวณ) ซึ่งเป็นมาตรการที่ขัดต่อดับเบิลยูทีโอ โดย คาดว่าจะเริ่มพิจารณาคดีได้ในเดือนมกราคม 2550 และได้ข้อสรุปในเดือนตุลาคม 2550 ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้พยายามต่อรองกับไทยให้ถอนฟ้องเรื่องซี-บอนด์ โดยแลกกับการที่สหรัฐฯจะไม่ใช้วิธีการคำนวณส่วนเหลื่อมแบบ Zeroing แต่ไทยไม่ตกลง เนื่องจากอย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ก็ต้องยกเลิกการคำนวณในลักษณะนี้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการผิดกติกาดับเบิลยูทีโออยู่แล้ว
4. ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ ให้ความเห็นว่าขณะนี้ตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดสหรัฐฯ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีพ่อค้าจีนนำเข้าข้าวหอมปทุมธานี 1 จากประเทศไทยไปผสมกับข้าวเมล็ดยาวของจีน นำใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายและแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีราคาจำหน่ายถูกกว่าข้าวหอมมะลิแท้ 5-10% ต่อปอนด์ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ข้าวผสมได้รับความนิยมสูงในกลุ่มชาวเอเซียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และร้านอาหารทั่วไป ดังนั้นหากไทยไม่เร่งป้องกัน เชื่อว่าในอนาคตตลาดข้าวไทยในสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบมาก เพราะตลาดฐานเดิมของข้าวหอมมะลิจะถูกแย่งชิงไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ