ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/37

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2006 15:04 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/37 เมื่อวันที่ 17-20 มกราคม 2549 ณ กรุงเวียงจันทน์  ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ดังนี้
1. การรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญของอาเซียน ที่ประชุมเห็นชอบการพิจารณาเพิ่มสาขาLogistics และเห็นชอบที่จะปรับปรุง Roadmap เพื่อการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญใน Phase II โดยจะจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจสมัยพิเศษ (Special SEOM) เพื่อพิจารณามาตรการที่มีการปรับปรุง/เพิ่มเติม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) พิจารณาในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนเมษายน 2549 เพื่อให้แนวนโยบายต่อไป
2. การเปิดเสรีการค้าบริการ จากที่ผู้นำอาเซียนเห็นชอบการเปิดเสรีการค้าบริการทุกสาขาของ อาเซียนภายในปี พ.ศ.2558 ที่ประชุมมอบให้คณะกรรมการประสานงานด้านการค้าบริการ (CCS) จัดทำแนวทาง (benchmark) สำหรับการเปิดเสรีดังกล่าว และจัดทำนิยามความยืดหยุ่น (flexibility) สำหรับสาขาบริการที่มีความอ่อนไหวให้ชัดเจนเพื่อการดำเนินงานโดยจะต้องเจรจาจัดทำข้อผูกพันในเรื่องการเข้าสู่ตลาด (Market Access) และการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) สำหรับสาขาบริการต่างๆ ในแต่ละรอบของการเจรจา ซึ่งขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาในรอบที่ 4 (พ.ศ.2548-2549) เพื่อจัดทำ ข้อผูกพันในชุดที่ 5
3. หลักการ 2+X ที่ประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามหลักการ 2+X (ข้อเสนอความ ร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 2 ประเทศขึ้นไป) และ ASEAN-X (การดำเนินการตามความตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนโดยให้ความยืดหยุ่นกับประเทศที่ยังไม่พร้อมเริ่มดำเนินการในภายหลัง) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการดำเนินงานในกรอบอาเซียน โดยประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า หลักการทั้งสองไม่แตกต่างกันนัก เนื่องจากหลักการทั้งสองต่างมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยจะเป็นการเปิดเสรีและร่วมมือกันในระดับที่ไม่ต้องพร้อมกันทั้ง 10 ประเทศ
4. นโยบายด้านการค้าและการลงทุนของอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้าน การอำนวยความสะดวกทางการค้า (ASEAN Coordinating Committee on Trade Facilitation) เพื่อปรับประสานการดำเนินนโยบายด้านการค้าและการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยจะหารือในรายละเอียดก่อนการตัดสินใจ เนื่องจากเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขา/หน่วยงาน
5. การดำเนินงานภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประชุมพิจารณาประเด็นสำคัญภายใต้การดำเนินงานเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ดังนี้
5.1 การชะลอการลดภาษีสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปของมาเลเซีย ขณะนี้ มาเลเซียได้ลดภาษีสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปมาอยู่ร้อยละ 15 แล้ว และต้องการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาให้สิทธิอาฟต้าในอัตราต่างตอบแทน (reciprocal rate) แก่ตน แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อตกลงรองรับการให้อัตราต่างตอบแทนในกรอบอาฟต้า มาเลเซียจึงรับที่จะยกร่าง MOUs เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พิจารณาในที่ประชุม CCCA (คณะกรรมการอาเซียนในการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้บรรลุการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน) ครั้งต่อไป
5.2 การโอนย้ายสินค้าในบัญชีอ่อนไหวสูง (HSL) เข้าสู่บัญชีลดภาษี (IL) ของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แจ้งว่า ไม่สามารถย้ายสินค้าอ่อนไหวสูง ซึ่งได้แก่ ข้าว เข้าสู่บัญชีลดภาษี (IL) ได้ ตามกำหนด (1 ม.ค. 2548) ที่ประชุมเสนอให้จัดทำพิธีสารใหม่ขึ้นสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงทางการเมือง เพื่ออนุโลมการชะลอการโอนย้ายสินค้าดังกล่าวเข้าสู่บัญชี IL โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีด้านเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยควรครอบคลุมสินค้าอื่นที่ประเทศสมาชิกบางประเทศมีปัญหาด้วย
6. ความสัมพันธ์ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประชุมหารือแนวทางการพัฒนากลไกด้านสถาบันสำหรับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ โดยเห็นชอบให้กำหนดรูปแบบโครงสร้าง/กลไกการดำเนินงาน ASEAN’s FTA ที่ชัดเจน โดยให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการดูแล/ตรวจสอบการดำเนินการ และอาจมี Joint Committee ทำหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ โดยมี SEOM ทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานควบคู่กันไป และขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณายกระดับ FTA Units ภายในให้มีประสิทธิภาพเพื่อการประสานงาน
สำหรับความคืบหน้าการเจรจา FTA ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ มีดังนี้
6.1 อาเซียน-จีน การเจรจาเรื่องการค้าบริการ และการลงทุนยังไม่มีผลคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากท่าทีที่แตกต่างกันระหว่างอาเซียนและจีน รวมทั้งท่าทีภายในของอาเซียนเอง โดยเฉพาะเรื่อง การให้สิทธิประโยชน์กับผู้มีถิ่นพำนักถาวร (Permanent resident) และการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับ นิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง (Substantial Business Operation: SBO) นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ลงนามในพิธีสารแก้ไขความตกลงอาเซียน-จีน เพื่อรวมรายการสินค้าที่เร่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ก่อน (EHP) ระหว่างฟิลิปปินส์และจีน และพิธีสารแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-จีน เพื่อรวมรูปแบบการลดภาษีระหว่างเวียดนามและจีนด้วย
6.2 อาเซียน-เกาหลี หลังจากลงนามความตกลงการค้าสินค้าไปแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม2548 ยังมีประเด็นสำคัญที่อาเซียนและเกาหลีจะต้องเจรจาต่อไป ได้แก่ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และรายการ สินค้าในบัญชีอ่อนไหว (Sensitive Track) ซึ่งจะเป็นภาคผนวกของความตกลงการค้าสินค้า (TIG Agreement) เพื่อเสนอรัฐมนตรีลงนามในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนเมษายน 2549 โดยจะเริ่มเปิดการเจรจากันอีกในวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2549 ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งไทยจะเข้าร่วมการประชุมด้วย เพื่อผลักดันประเด็นที่ไทยขอให้เกาหลีเปิดตลาดข้าว
6.3 อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ประชุมพิจารณาเตรียมการสำหรับการประชุมการเจรจาจัดทำเขต การค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น (AJCEP Workshop) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2549 ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยเห็นชอบให้อาเซียนร่วมหารือกันก่อน (ASEAN Caucus) ร่วมกับภาคเอกชนที่จะเข้าร่วม Workshop ดังกล่าวโดยภายหลังจากการจัด Workshop แล้ว ให้คณะเจรจา AJCEP เริ่มการเจรจาด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าควบคู่กันไปด้วย เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าบริการ และการลงทุน
6.4 อาเซียน-EU ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้ารายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนและ EU โดยมีเป้าหมายที่จะเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะให้ที่ประชุม AEM-EU พิจารณาในช่วงการประชุม AEM Retreat ที่ฟิลิปปินส์ ในเดือนเมษายน 2549 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN-EU Vision Group ครั้งที่ 3 ในวันที่ 24-25 มกราคม 2549 ณ กรุงเทพฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ