สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 4, 2006 15:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤษภาคมนี้ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามภาคการผลิตซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัว ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ทางด้านการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่สูงขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
ภาคเกษตรกรรม
ในเดือนพฤษภาคมนี้ ผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพารา ราคาพืชผลหลักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.4 ตามราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.5 ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.6
ทางด้านการทำประมงทะเลซบเซา เนื่องจากภาคธุรกิจประมงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้เรือประมงส่วนใหญ่หยุดทำการประมง ขณะที่ราคาสัตว์น้ำปรับสูงขึ้นแต่ไม่พอรองรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อนเนื่องได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับการแข่งขันในตลาดต่างประเทศมีมาก ผู้ซื้อจึงไม่สามารถรับซื้อสัตว์น้ำในราคาที่สูงได้ ทำให้ราคาสัตว์น้ำไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก โดยในเดือนนี้ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้มีปริมาณลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 ขณะที่มูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 12.8 ส่วนผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากกุ้งที่เพาะเลี้ยงในช่วงต้นปีเริ่มมีการทยอยจับ และเกษตรกรบางรายมีการเร่งจับ เนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้กุ้งมีขนาดเล็ก
ภาคอุตสาหกรรม
ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ในเดือนพฤษภาคมขยายตัวดี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบและการส่งออก โดยผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.5 ขณะเดียวกันยางพารา อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และไม้ยางพาราและเฟอร์นิเจอร์ มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 15.2 และ 17.7 ตามลำดับ ส่วนสัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง (ผ่านด่านศุลกากรสงขลา) และถุงมือยาง ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ
การท่องเที่ยว
ในเดือนพฤษภาคมนี้ ภาคใต้เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวภาคใต้ โดยรวมชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ชะลอตัวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่ทางภาคใต้ตอนล่างมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 185,879 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 36.8 ตามการเพิ่มขึ้นของภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ตอนล่างถึงร้อยละ 115.2 (ปี 2548 เกิดเหตุการณ์สึนามิ) และ 24.7 ตามลำดับ
การอุปโภคบริโภคเอกชน
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคใต้เดือนพฤษภาคมโดยรวมขยายตัวเนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์สูง ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตลดอจนภาวะการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ขยายตัว ส่งผลให้เกิดแรงซื้อในระบบเศรษฐกิจแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ พิจารณาได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.0 และการจดทะเบียนรถใหม่เพิ่มขึ้นทุกตัว
การลงทุนภาคเอกชน
สถานการณ์ด้านการลงทุนยังชะลอตัว จากผลกระทบด้านราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงโดยการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคใต้ตอนบน ทั้งการก่อสร้างและกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ซึ่งโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นการขยายกิจการเดิม ไม่มีการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่
จากภาวการณ์ที่การลงทุนเริ่มชะลอลงดังกล่าว ภาครัฐจึงมีมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยมีมติให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตยางสำหรับยานพาหนะ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตยางสำหรับยานพาหนะนั้น ได้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร สำหรับผู้ประกอบการที่ขยายการลงทุนในเขต 1 และ 2 ซึ่งเดิมไม่ได้มีการยกเว้นให้
การจ้างงาน
ในเดือนนี้ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการลดลง จากข้อมูลของสำนักงานจัดหางาน 14 จังหวัดภาคใต้ นายจ้างแจ้งความต้องการแรงงานทั้งสิ้น 4,365 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.4 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมา คือ การขายปลีก ขายส่ง ส่วนผู้สมัครงาน มีจำนวน 4,676 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.4 และมีการบรรจุงาน จำนวน 3,578 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.4 โดยอุตสาหกรรมการผลิตมีการบรรจุงานมากที่สุด ซึ่งเป็นการบรรจุงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ยาง โรงแรม และอาหารทะเลกระป๋อง 1,225 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.2 ของการบรรจุงานทั้งหมด
ระดับราคา
เดือนพฤษภาคมนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 6.3 เร่งตัวจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจาการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 7.1 โดยสินค้าในหมวดย่อยสำคัญที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หมวดผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เนื่องจากสภาพอากาศ ร้อนจัด ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น หมวดปลา และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 หมวดอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0
การค้าต่างประเทศ
ในเดือนพฤษภาคม 2549 การส่งออกมีมูลค่า 840.6 ล้านดอลลาร์ สรอ.เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันปีก่อนขยายตัวร้อยละ 47.8 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 36.8 ในเดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพาราอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 302.0 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.3 แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 25.6 ในเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
ภาคการคลัง
ในเดือนพฤษภาคมนี้ จัดเก็บภาษีได้จำนวน 3,051.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.2 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยจัดเก็บได้จำนวน 2,815.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.9 และภาษีศุลกากร จัดเก็บได้ 103.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.7 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ เคมี ปุ๋ยและสัตว์น้ำ ส่วนภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้จำนวน 131.7 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.4 เป็นการลดลงของภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
ทางด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีจำนวน 8,269.5 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.1 เนื่องจากการเบิกจ่ายที่คลังจังหวัดสงขลาลดลงมากเป็นสำคัญ โดยมีการเบิกจ่ายจำนวน 1,516.4 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 48.8
ภาคการเงิน
ในเดือนพฤษภาคม จากการที่ The Federal Open Market Committee ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา อีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าทางการไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะเน้นบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร
ทั้งนี้ เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ในเบื้องต้น คาดว่ามีจำนวนรวม 355,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ เดือนเดียวกันปีก่อนก่อนร้อยละ 9.9 ส่วนสินเชื่อคงค้าง คาดว่ามีจำนวน 270,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.5 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเงินฝากลดลง เนื่องจากได้มีการถอนเงินฝากไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนสินเชื่อลดลง เช่นกัน ผลจากธนาคารพาณิชย์มีการระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ