ผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2006 11:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ศึกษาผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทในภาพรวมโดยชี้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2548 เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเพราะจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศระยะสั้น การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเกิดจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐโดยในช่วงไตรมาส 4/2548 สหรัฐขาดดุลเป็นมูลค่า 224.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเซียมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2549 ค่าเงินบาทแข็งค่าร้อยละ 7.52 ญี่ปุ่นและจีน ค่าเงินแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.29 และ 0.67 ตามลำดับ
สาเหตุที่สำคัญที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมายังภูมิภาคเอเซียเพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น โดยในช่วงมกราคม-เมษายน 2549 มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยประมาณ 112,120 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31
ประเด็นวิเคราะห์:
ผลจากการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและภาคอุตสาหกรรมการส่งออก เช่น สิ่งทอ ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับคู่ค้า เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลงเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและศักยภาพการแข่งขันด้านราคาลดลงในเชิงเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกโดยรวมของประเทศในปี 2549 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 12.86 หรือมูลค่า 5,011,638 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548
การแข็งค่าของเงินบาทโดยภาพรวมส่งผลกระทบการส่งออกมากกว่าการนำเข้าจึงจะทำให้มูลค่าการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวลดลงร้อยละ 0.3 หรือเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 เนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนจะลดลงร้อยละ 0.29 รวมทั้งการใช้จ่ายของการบริโภคในภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ