บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-พ.ค. 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2006 12:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2549  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.7-5.7* ในขณะที่ปี 2548  GDP ไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 แต่ขณะนี้มีสถานการณ์ผันผวนด้านการเมืองตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 24 ของโลก ในช่วง ม.ค.-ส.ค 2548 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.16 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 20 ของโลก ของช่วง ม.ค.-ส.ค. 2548 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.25 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-พ.ค. 2549 มีมูลค่า 100,804.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 49,601.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.54 หรือคิดเป็นร้อยละ 38.07 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 130,288 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 51,203.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.37 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 1,601.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 84.45 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-พ.ค. 2549 ในจำนวนนี้มีสินค้าซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง ดังนี้
- ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,ยางพารา,เลนส์,แผงวงจรไฟฟ้า และปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.83, 47.72, 41.95, 40.27 และ 32.87 ตามลำดับ
6. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนและภาวะการส่งออก ดังนี้
การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่าง ๆ มกราคม-พฤษภาคม 2549
ภูมิภาคต่าง ๆ สัดส่วน มูลค่า %
ร้อยละ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เปลี่ยนแปลง
1. อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) 16.2 8,028 17.7
2. ยุโรป (สหภาพยุโรป & ยุโรปตะวันออก) 14.2 7,046 11.8
3. เอเชียตะวันออก(ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี) 17.6 8,752 10.1
4. อาเซียน (9) 21.0 10,430 11.5
5. จีนและฮ่องกง 14.2 7,031 27.7
6. อินเดีย 1.2 617 -1.1
7. อื่นๆ 15.5 7,698 28.2
สถิติการส่งออกสินค้าไทยไปแต่ละภูมิภาค
6.1 การส่งออกไปภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) เดือน ม.ค — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 8,028 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 หรือคิดเป็นร้อยละ 38.56 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 20,819 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 โดยการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.55 ส่วนการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.05
จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 50 อันดับแรกพบว่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 4 รายการได้แก่ เม็ดพลาสติก,ปูนซีเมนต์, เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น และน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 60 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกไปสหรัฐที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดแคนาดา เมื่อสังเกตจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2549 มีมูลค่า 480.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.05 จากสินค้า 50 อันดับแรกส่งออกไปแคนาดาพบว่ามีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 566.52 และสินค้าอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ และผ้าผืน
6.2 ยุโรป (สหภาพยุโรปและยุโรปตะวันออก) การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปในเดือน ม.ค — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 7,046 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 43.03 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 16,372 ล้านเหรียญสหรัฐ
สหภาพยุโรป (15) สินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 6,482.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.37 จากสินค้าสำคัญ 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้พบว่ามีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 3 รายการคือ ยางพารา เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและเนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็งสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น อาหารสัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ดีบุก,แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า
ยุโรปตะวันออก สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปตะวันออกในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 563.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.17 สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ วงจรพิมพ์,เตาอบไมโครเวฟและเครื่องไฟฟ้าที่ให้ความร้อน,ผักกระป๋องและแปรรูป,แผงวงจรไฟฟ้า,ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ,เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์และส่วนประกอบ,อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด,ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี,อาหารสำเร็จรูป,เครื่องวีดีโอ,เครื่องเสียงอุปกรณ์และส่วนประกอบ,ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิดเครื่องยนต์,กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง,สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย สินค้าที่มีมูลค่าลดลง กว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าว,มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและปลาแห้ง
ตลาดในยุโรปตะวันออกที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ คาซัคสถาน สาธารณรัฐสโลวัก เบรารุส โดยขยายตัวร้อยละ 126.34, 156.67, และ 405.54 ตามลำดับ ส่วนประเทศที่ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์ ยูเครนและจอร์เจีย ประเทศที่มีสถิติลดลง ได้แก่ สโลวิเนีย โรมาเนีย อาเมเนียและยูโกสลาเวีย เป็นต้น
6.3 เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้) การส่งออกสินค้าไทยไปยังเอเชียตะวันออกในช่วง ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 8,752 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 หรือคิดเป็นร้อยละ 36.85 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 23,750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ญี่ปุ่น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 6,389.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.38 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการคือ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ยางพารา สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด
ไต้หวัน การส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 1,326.43 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.62 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 4 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์,อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,น้ำมันสำเร็จรูป,อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า,เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูปและส่วนประกอบ และกระดูกสัตว์และขนสัตว์ปีก สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอดและผลิตภัณฑ์เซรามิก
เกาหลีใต้ การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 1,036.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.07 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป,ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 คือ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้,เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ,เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์,เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า,อัญมณีและเครื่องประดับ,ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องพักกระแสไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
6.4 อาเซียน(9) การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดอาเซียนในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 10,430.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.48 หรือคิดเป็นร้อยละ 36.40 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 28,650 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 รายการแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 280.47 มี 1 รายการ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการคือ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำและไดโอด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หม้อ แปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำตาลทรายและวงจรพิมพ์
ตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 30 คือ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และบรูไน โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.21,31.15,35.09 และ 40.67 ตามลำดับ ตลาดที่มีมูลค่าลดลงมีเพียงประเทศเดียวคือ อินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 26.73 เนื่องจากการส่งออกน้ำตาล เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ไปตลาดนี้ลดลงถึงร้อยละ 79.40,58.78 และ 57.60 ตามลำดับเป็นต้น
6.5 จีนและฮ่องกง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนและฮ่องกงในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 7,031 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.2 ของเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่า 19,943 ล้านเหรียญสหรัฐ
จีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 4,232.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.78 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปจีน 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 7 รายการ ได้แก่ น้ำมันดิบ,น้ำมันสำเร็จรูป,วงจรพิมพ์,เลนซ์,แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า,เครื่องพักกระแสไฟฟ้า,สายไฟฟ้าสายเคเบิ้ล สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 60 มี 2 รายการคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง
ฮ่องกง การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 2,798.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.64 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทย 50 อันดับแรกมีสินค้าไทยที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 มี 5 รายการ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด,น้ำมันสำเร็จรูป,เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ยางพารา,เครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากว่าร้อยละ 30 ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับใช้สัญณานเสียงและส่วนประกอบ,เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน
6.6 อินเดีย การส่งออกสินค้าไทยอินเดียในเดือน ม.ค. — พ.ค. 2549 มีมูลค่า 616.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 623.49 ล้านเหรียญสหรัฐของปี 2548 ในช่วงเดียวกันลดลงร้อยละ 1.11 หรือคิดเป็นร้อยละ 25.43 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 2,451 ล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรก มีสินค้าที่ขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 10 รายการได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ,ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง,หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ,แผงวงจรไฟฟ้า,กระดาษ,เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์,แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ,ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง,ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ,เครื่องเทศและสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม,ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน,ผลิตภัณฑ์เซรามิก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
7. การนำเข้า
7.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 19.63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.10
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 28.29 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.80
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 40.40 ลดลงร้อยละ 3.28
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.03 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.04 ลดลงร้อยละ 8.87
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.60 ลดลงร้อยละ 3.46
7.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 65.97 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค.-พ.ค. 2549 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และโอมาน สัดส่วนร้อยละ 20.14, 9.88, 6.79, 6.37, 5.20, 4.46, 4.12, 4.03, 2.81 และ 2.70 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ -4.27, 10.56, -3.70, -5.87, 6.66, 6.65, 13.42, 27.45, 2.70 และ 24.87 ตามลำดับ
8. สรุปข้อคิดเห็น
8.1 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค) ได้รายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนเมษายน 2549 ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.32 ชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคม ร้อยละ 7.8 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์และเบียร์ขยายตัวในอัตราที่ลดลงและจากวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าการส่งออกยานยนต์และแผงวงจรรวมมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาหามาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการผลักดันให้เกิดการลงทุนมากขึ้นด้วยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสร้างความได้เปรียบรวมทั้งการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2549 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-4.0 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) และการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ด้านการลงทุน ภาครัฐได้หามาตรการกระตุ้นการลงทุนโดยเห็นชอบให้สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมการผลิตยางสำหรับพาหนะ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมและเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
จากสถิติการให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2549 บีโอไอ ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 511 ราย เทียบกับ 454 รายของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.55 เงินลงทุน 159.7 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 สำหรับโครงการลงทุนเพื่อการส่งออก 30% - 79% มีจำนวน 83 โครงการและการส่งออก 80% - 100% มีจำนวน 156 โครงการ
8.2 มีนักเศรษฐศาสตร์หลายรายได้ให้ความเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเผชิญภาวะความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแต่นายโรคริโก เดอ ราโต กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังมีความมั่นใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่งอยู่
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายรายตั้งข้อสังเกตุว่าการปรับตัวลดลงของตลาดทุนในสหรัฐ ยุโรปและเอเซียมาจากสาเหตุความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐ ผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้ จึงเป็นภาวะที่ประเทศในเอเซียต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากประเทศในเอเซียส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกเพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ดังนั้น ตัวแปรต่างๆ ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงรวมไปถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงย่อมมีผลกระทบต่อประเทศในเอเซียโดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกเป็นกลไกหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
8.3 การเจรจาข้อตกลงเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐกำลังเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียทั้ง ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย หลังจากได้บรรลุข้อตกลงกับสิงคโปร์ไปก่อนแล้วแต่ขณะนี้การตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐต้องล่าช้าออกไปด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงมีความเห็นว่าหากล่าช้าไปมากจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออกเนื่องจากผู้ประกอบการอเมริกันอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่บรรลุข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐไปก่อนซึ่งจะส่งผลให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง
8.4 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค) ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง”ความไม่สมดุลทางการเงินของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย” สรุปใจความสำคัญได้ว่าในปี 2549 สศค.ได้ประมาณเศรษฐกิจไทยและโลกไว้ที่ 4.7% และ 3.2% ถือว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้เนื่องจาก
1. การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดการขาดดุลการคลังและบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐขาดดุลอยู่ 8.05 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.5% ของจีดีพีซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงและอันตรายและอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินได้
2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐถูกชดเชยด้วยการลงทุนจากรประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐ
ทั้งนี้ความไม่สมดุลทางการเงินระหว่างประเทศอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ และการไหลเวียนของเงินทุน อย่างไรก็ตาม สศค. ได้มีข้อแนะนำว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียควรมีการร่วมมือด้านการค้าให้มากขึ้นและควรแสวงหาตลาดการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นรวมถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านการเงินในภูมิภาคด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ