นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศตัด GSP แก่สินค้าไทย 4 รายการ ได้แก่ ธัญพืช ลิ้นจี่/ลำไยกระป๋อง บรรจุภัณฑ์ทำด้วยพลาสติก และของใช้บนโต๊ะอาหารทำด้วยอลูมิเนียม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2006 โดยสหรัฐฯ กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาระงับสิทธิ GSP คือ มูลค่านำเข้าสูงเกินระดับเพดานที่กำหนด (ระดับเพดานที่กำหนดเป็นมูลค่านำเข้า จะเปลี่ยนแปลงทุกปี โดยเพิ่มขึ้นปีละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2005 ระดับเพดานเท่ากับ 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือ ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในปี 2005 เกิน 50% อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้ผ่อนผันไม่ตัดสิทธิ GSP แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สี และสินค้าอื่นอีกรวม 8 รายการ ได้แก่ ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง แป้งข้าวเจ้า ผลไม้ปรุงแต่ง มะละกอปรุงแต่ง กากมะพร้าว เครื่องชั่งอัญมณี
นางอภิรดี กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์สี (พิกัด HS.8528.12.44) แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2006 สหรัฐฯ จะนำเข้าจากไทยมูลค่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 80 แต่ไทยได้รับผ่อนผันไม่ถูกระงับสิทธิ GSP ( เนื่องจากในปี 2548 มูลค่านำเข้าต่ำกว่าเพดานที่กำหนด) แต่ในอนาคตหากสหรัฐฯจะตัดสิทธิ GSP สินค้ารายการนี้ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติคือ 3.9% ซึ่งอาจจะทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เม็กซิโก ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ NAFTA แต่คาดว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์สีในภาพรวมของไทยไปสหรัฐฯ มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ไปสหรัฐฯในสัดส่วนน้อยประมาณ 1% ของการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์สีทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ
GSP (Generalized System of Preference ) หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปเป็นสิทธิพิเศษที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีหลักการพื้นฐานว่า เป็นการให้โดยทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่หวังตอบแทน และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้เป็นโครงการที่ 3 ต่ออายุครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 — 31 ธันวาคม 2549 ปัจจุบันสหรัฐฯได้ให้สิทธิ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและดินแดนอาณานิคม รวมทั้งสิ้น 145 ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับสิทธิดังกล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-