นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้ออกพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องดำเนินการขอจดทะเบียนภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ นั่นคือภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 โดยใน การขอจดทะเบียน ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่เป็นนิติบุคคลไทย หรือผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต่างประเทศ จะต้องยื่นหลักประกันสำหรับความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดตามสัญญาที่ทำขึ้น และดำรงสินทรัพย์ขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามพระราชบัญญัตินี้หมายความว่า การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป ภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของอีกประเทศหนึ่ง
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวต่อไปว่า กรมการประกันภัยได้ดำเนินการเพื่อรองรับพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยจัดทำรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องใช้เป็นหลักประกันในการจดทะเบียนแล้ว ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครอง ดังนี้
1) ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง (ผู้เอาประกันภัย) กรณีเกิดความสูญหาย หรือความเสียหายหรือส่งมอบชักช้าสำหรับของที่รับขนตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบซึ่งอยู่ใน ความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย
2) ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต่างประเทศสำหรับความสูญหายหรือเสียหายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากการผิดสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเกี่ยวกับของที่รับขน
3) ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยตามข้อ 1) ที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้างและตัวแทนของตน และของบุคคลอื่นซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ใช้บริการเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบรวมถึงลูกจ้างและตัวแทนของบุคคลเหล่านี้ซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยดังกล่าวนี้ กำหนดไว้เป็นช่วงระหว่าง 0.01% - 10% ต่อปี ตัวอย่างเช่น จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะต้อง จ่ายเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 500 — 500,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่จะต้องทำการขนส่งระหว่างประเทศจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งและเป็นการขนส่งต่อเนื่องตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปเช่น การขนส่งทางบกกับการขนส่งทางทะเลหรือ การขนส่ง ทางทะเลกับการขนส่งทางอากาศ หรือการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น จึงขอเชิญชวน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ หรือผู้ที่ดำเนินการอยู่แล้วที่จะต้องไปจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจัดทำประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้วางเป็นหลักประกันความรับผิดโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับหลักประกันประเภทอื่น ๆ และนอกจากจะเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายแล้วยังเกิดประโยชน์ต่อตนเองนั่นคือ หากเกิดมีความเสียหายในการรับขนของก็จะได้รับการชดใช้ค่าความเสียหายดังกล่าวเป็นการช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยพร้อมที่ จะรับทำประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องดังกล่าวแล้ว หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. 0-2547-4548 หรือสายด่วนกรมการประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th