กรุงเทพ--16 พ.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่าในช่วงปลายมีนาคมถึงกลางเมษายน ศกนี้ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของเราทั่วโลกต่างมีภารกิจสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง สส. และ สว. นอกราชอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถละทิ้งงานในหน้าที่ประจำไปได้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากหรือถูกหลอกลวงไปปล่อยทิ้งให้ตกระกำลำบากในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือคนไทยเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน
ดูแค่สถิติหญิงไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วในช่วงเดือนมกราคม- มีนาคม 2549 มีจำนวนถึง 20 คน ขณะที่ปี 2548 ทั้งปี สถานทูตได้ช่วยเหลือหญิงไทยรวม ทั้งสิ้น 32 คน จะเห็นว่าสถิติดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกแก๊งค์มิจฉาชีพหลอกลวงไปปล่อยทิ้งในแอฟริกาใต้ หากปล่อยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นโดยไม่เร่งดำเนินการทางกฎหมายกับเหล่ามิจฉาชีพในเมืองไทยอย่างเด็ดขาด เชื่อว่าจำนวนคนไทยที่ถูกหลอกลวงคงเพิ่มขึ้นอีกมาก
มีเรื่องเล่าเพื่อเตือนคนไทยมาจากแอฟริกาใต้ว่า แรงงานชาวจังหวัดเชียงราย 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ถูกกลุ่มนายหน้าในเมืองไทยหลอกลวงให้ไปทำงานในโรงงานขนมปังที่แอฟริกาใต้ โดยแก๊งค์ดังกล่าวหลอกว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท แต่แรงงานจะต้องเสียค่าหัวคนละ 120,000 บาท
แต่พอแรงงานทั้งสามเดินทางไปถึงสนามบินโจฮันเนสเบิร์กกลับต้องไปนั่งรอที่สนามบินนานถึง 3-4 ชม. โดยไม่มีวี่แววว่าจะมีใครมารับ จนเจ้าของร้านอาหารไก่ไทยในแอฟริกาใต้ที่ไปรับพ่อครัวของร้านที่สนามบินต้องโทรศัพท์แจ้งสถานทูตว่าสงสัยแรงงานกลุ่มดังกล่าวอาจจะถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในแอฟริกาใต้
เจ้าหน้าที่สถานทูตจึงได้รีบไปพบกับแรงงานไทยที่สนามบิน ปรากฏว่ามีชายผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ชื่อว่า “ลียอง” อ้างว่าเป็นทนายความและได้รับการติดต่อจากคนไทยให้มารับคนงานทั้งสามคน เจ้าหน้าที่สถานทูตขอดูบัตรประจำตัวทนายความ แต่ชายคนนั้นอ้างว่ารีบเดินทางมาจึงไม่ได้พกติดตัวมา ทั้งยังอ้างลอยๆ ว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตชื่อ “แอน” ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีพิรุธเพราะไม่มีบุคคลชื่อดังกล่าวทำงานในสถานทูต และแรงงานทั้งสามก็ไม่ต้องการที่จะไปกับนายลียอง เจ้าหน้าที่จึงพาแรงงานไทยมายังสถานทูต เนื่องจากเกรงว่าอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพในแอฟริกาใต้
สถานทูตได้ติดต่อกับนายลียองอีกครั้ง ซึ่งนายลียองกล่าวอีกว่าตนเป็นทนายความและสามารถช่วยเหลือในการขอใบอนุญาตทำงานหลังจากที่แรงงานได้งานทำแล้ว ในวันนั้นตนได้รับแจ้งจากคนไทยซึ่งไม่ทราบชื่อว่าให้ไปรับแรงงานไทยทั้งสามคน ตนจึงไปรับและหวังว่าเมื่อแรงงานทั้งสามได้งานทำ ตนก็จะมีรายได้จากการขอใบอนุญาตทำงาน สถานทูตจึงขอให้นายลียองมาพบที่สถานทูตในวันที่ 27 มีนาคม 2549 จากนั้น ก็ได้จัดหาที่พักให้แรงงานไทย
วันที่ 27 มีนาคม 2549 สถานทูตได้ติดต่อกับนายลียองอีกครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าติดธุระที่เมืองเดอร์บันไม่สามารถมาได้ และในวันที่ 28 และ 29 มีนาคม ก็อ้างว่าไม่สะดวกและได้ผลัดจะมาสถานทูตในวันต่อๆ มา จนถึงวันที่ 31 มีนาคม ก็ยังไม่มา
ส่วนแรงงานไทยทั้งสามคนได้พยายามติดต่อกับกลุ่มนายหน้าทางเมืองไทยหลายครั้ง และแจ้งว่าไม่มีคนไปรับและยังไม่ได้งานทำ แต่กลุ่มนายหน้าก็บ่ายเบี่ยงว่าจะมีคนไปรับแน่ๆ พร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ในแอฟริกาใต้ไว้ แต่เมื่อโทรไปกลับพบว่าหมายเลขดังกล่าวยังไม่เปิดให้บริการ นอกจากนี้ นายหน้ายังกำชับไม่ให้แรงงานไทยติดต่อกับสถานทูต ต่อมานายหน้าได้แจ้งแรงงานไทยว่าได้งานแล้ว โดยให้ผู้ชาย 2 คนไปทำงานในบาร์เพื่อนั่งดื่มกับแขก ส่วนผู้หญิงให้ไปนวด แต่แรงงานไทยทั้งสามปฏิเสธ กลุ่มนายหน้าจึงแนะนำให้ไปเดินของานทำที่ไชน่า ทาวน์เอาเอง
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เห็นทีแรงงานทั้งสามคนต้องถูกทิ้งให้เผชิญชะตากรรมตามลำพัง เพราะขนาดเจ้าของโรงงานกระดาษสาในกรุงพริทอเรียซึ่งเป็นคนไทยทราบเรื่องและจะรับคนงานไทยเข้าทำงานโดยจะรับแรงงานหญิงก่อน แต่ต่อมาได้แจ้งต่อสถานทูตว่าไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานไทยได้ เนื่องจากปัจจุบันการขอใบอนุญาตทำงานของคนงานในแอฟริกาใต้นั้น คนงานจะต้องมีใบรับรองวุฒิการศึกษา หรือ การอบรมเฉพาะทางในด้านนั้นๆ การที่แรงงานไทยจะไปเดินหางานทำเองจึงแทบไม่มีโอกาสเลย
เรื่องนี้ สถานทูตได้ยืนยันมาอีกว่า ปัจจุบันการให้ใบอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าวของแอฟริกาเข้มงวดมาก นอกจากแรงงานต่างชาติต้องมีใบรับรองคุณวุฒิเพื่อรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว นายจ้างยังต้องประกาศอัตราที่ว่างลงในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้โอกาสแรงงานท้องถิ่นชาวแอฟริกาใต้ก่อน หากไม่มีผู้สมัครบริษัทจึงสามารถรับแรงงานต่างชาติได้ โดยแรงงานต่างชาติต้องแสดงสัญญาการจ้างงานเพื่อขอรับวีซ่าประเภททำงานจากสถานทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยก่อน
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ที่อ้างว่าเป็นนายหน้าหางานนั้น หากไม่มีใบรับรองจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานของไทย ถือว่าเป็นนายหน้าเถื่อน แรงงานไทยจึงควรระมัดระวังและพึงหลีกเลี่ยงจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ เพราะคนพวกนี้มักจะทำวีซ่าประเภทท่องเที่ยวให้แก่แรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะได้รับเงินค่าหัว นอกจากนี้ยังได้ยกเว้นวีซ่าและอยู่ในแอฟริกาใต้ได้ 30 วัน ดังเช่นกรณีของแรงงานไทยทั้งสามคนดังกล่าว รวมทั้งแรงงานไทยรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วย
ก่อนจบขอเตือนพี่น้องแรงงานไทยอีกครั้งว่า อย่าได้หลงเชื่อกลุ่มนายหน้าที่อ้างว่าสามารถช่วยดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานได้หลังจากที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในแอฟริกาใต้แล้ว เพราะทางการแอฟริกาใต้มีขั้นตอนในการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดมาก และขอย้ำเตือนคนในหมู่บ้านและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ให้พึงระวังกลุ่มนายหน้าดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ มิจฉาชีพกลุ่มนี้ยังชักชวนคนในหมู่บ้านของแรงงานไทยทั้งสามให้เข้าไปทำงานในแอฟริกาใต้อีก โดยอ้างว่าแรงงานทั้งสามได้งานทำในแอฟริกาใต้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะสถานทูตได้ให้ความช่วยเหลือและส่งตัวกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ตามที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่าในช่วงปลายมีนาคมถึงกลางเมษายน ศกนี้ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของเราทั่วโลกต่างมีภารกิจสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง สส. และ สว. นอกราชอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถละทิ้งงานในหน้าที่ประจำไปได้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากหรือถูกหลอกลวงไปปล่อยทิ้งให้ตกระกำลำบากในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือคนไทยเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน
ดูแค่สถิติหญิงไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วในช่วงเดือนมกราคม- มีนาคม 2549 มีจำนวนถึง 20 คน ขณะที่ปี 2548 ทั้งปี สถานทูตได้ช่วยเหลือหญิงไทยรวม ทั้งสิ้น 32 คน จะเห็นว่าสถิติดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกแก๊งค์มิจฉาชีพหลอกลวงไปปล่อยทิ้งในแอฟริกาใต้ หากปล่อยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นโดยไม่เร่งดำเนินการทางกฎหมายกับเหล่ามิจฉาชีพในเมืองไทยอย่างเด็ดขาด เชื่อว่าจำนวนคนไทยที่ถูกหลอกลวงคงเพิ่มขึ้นอีกมาก
มีเรื่องเล่าเพื่อเตือนคนไทยมาจากแอฟริกาใต้ว่า แรงงานชาวจังหวัดเชียงราย 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ถูกกลุ่มนายหน้าในเมืองไทยหลอกลวงให้ไปทำงานในโรงงานขนมปังที่แอฟริกาใต้ โดยแก๊งค์ดังกล่าวหลอกว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท แต่แรงงานจะต้องเสียค่าหัวคนละ 120,000 บาท
แต่พอแรงงานทั้งสามเดินทางไปถึงสนามบินโจฮันเนสเบิร์กกลับต้องไปนั่งรอที่สนามบินนานถึง 3-4 ชม. โดยไม่มีวี่แววว่าจะมีใครมารับ จนเจ้าของร้านอาหารไก่ไทยในแอฟริกาใต้ที่ไปรับพ่อครัวของร้านที่สนามบินต้องโทรศัพท์แจ้งสถานทูตว่าสงสัยแรงงานกลุ่มดังกล่าวอาจจะถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในแอฟริกาใต้
เจ้าหน้าที่สถานทูตจึงได้รีบไปพบกับแรงงานไทยที่สนามบิน ปรากฏว่ามีชายผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ชื่อว่า “ลียอง” อ้างว่าเป็นทนายความและได้รับการติดต่อจากคนไทยให้มารับคนงานทั้งสามคน เจ้าหน้าที่สถานทูตขอดูบัตรประจำตัวทนายความ แต่ชายคนนั้นอ้างว่ารีบเดินทางมาจึงไม่ได้พกติดตัวมา ทั้งยังอ้างลอยๆ ว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตชื่อ “แอน” ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีพิรุธเพราะไม่มีบุคคลชื่อดังกล่าวทำงานในสถานทูต และแรงงานทั้งสามก็ไม่ต้องการที่จะไปกับนายลียอง เจ้าหน้าที่จึงพาแรงงานไทยมายังสถานทูต เนื่องจากเกรงว่าอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพในแอฟริกาใต้
สถานทูตได้ติดต่อกับนายลียองอีกครั้ง ซึ่งนายลียองกล่าวอีกว่าตนเป็นทนายความและสามารถช่วยเหลือในการขอใบอนุญาตทำงานหลังจากที่แรงงานได้งานทำแล้ว ในวันนั้นตนได้รับแจ้งจากคนไทยซึ่งไม่ทราบชื่อว่าให้ไปรับแรงงานไทยทั้งสามคน ตนจึงไปรับและหวังว่าเมื่อแรงงานทั้งสามได้งานทำ ตนก็จะมีรายได้จากการขอใบอนุญาตทำงาน สถานทูตจึงขอให้นายลียองมาพบที่สถานทูตในวันที่ 27 มีนาคม 2549 จากนั้น ก็ได้จัดหาที่พักให้แรงงานไทย
วันที่ 27 มีนาคม 2549 สถานทูตได้ติดต่อกับนายลียองอีกครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าติดธุระที่เมืองเดอร์บันไม่สามารถมาได้ และในวันที่ 28 และ 29 มีนาคม ก็อ้างว่าไม่สะดวกและได้ผลัดจะมาสถานทูตในวันต่อๆ มา จนถึงวันที่ 31 มีนาคม ก็ยังไม่มา
ส่วนแรงงานไทยทั้งสามคนได้พยายามติดต่อกับกลุ่มนายหน้าทางเมืองไทยหลายครั้ง และแจ้งว่าไม่มีคนไปรับและยังไม่ได้งานทำ แต่กลุ่มนายหน้าก็บ่ายเบี่ยงว่าจะมีคนไปรับแน่ๆ พร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ในแอฟริกาใต้ไว้ แต่เมื่อโทรไปกลับพบว่าหมายเลขดังกล่าวยังไม่เปิดให้บริการ นอกจากนี้ นายหน้ายังกำชับไม่ให้แรงงานไทยติดต่อกับสถานทูต ต่อมานายหน้าได้แจ้งแรงงานไทยว่าได้งานแล้ว โดยให้ผู้ชาย 2 คนไปทำงานในบาร์เพื่อนั่งดื่มกับแขก ส่วนผู้หญิงให้ไปนวด แต่แรงงานไทยทั้งสามปฏิเสธ กลุ่มนายหน้าจึงแนะนำให้ไปเดินของานทำที่ไชน่า ทาวน์เอาเอง
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เห็นทีแรงงานทั้งสามคนต้องถูกทิ้งให้เผชิญชะตากรรมตามลำพัง เพราะขนาดเจ้าของโรงงานกระดาษสาในกรุงพริทอเรียซึ่งเป็นคนไทยทราบเรื่องและจะรับคนงานไทยเข้าทำงานโดยจะรับแรงงานหญิงก่อน แต่ต่อมาได้แจ้งต่อสถานทูตว่าไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานไทยได้ เนื่องจากปัจจุบันการขอใบอนุญาตทำงานของคนงานในแอฟริกาใต้นั้น คนงานจะต้องมีใบรับรองวุฒิการศึกษา หรือ การอบรมเฉพาะทางในด้านนั้นๆ การที่แรงงานไทยจะไปเดินหางานทำเองจึงแทบไม่มีโอกาสเลย
เรื่องนี้ สถานทูตได้ยืนยันมาอีกว่า ปัจจุบันการให้ใบอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าวของแอฟริกาเข้มงวดมาก นอกจากแรงงานต่างชาติต้องมีใบรับรองคุณวุฒิเพื่อรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว นายจ้างยังต้องประกาศอัตราที่ว่างลงในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้โอกาสแรงงานท้องถิ่นชาวแอฟริกาใต้ก่อน หากไม่มีผู้สมัครบริษัทจึงสามารถรับแรงงานต่างชาติได้ โดยแรงงานต่างชาติต้องแสดงสัญญาการจ้างงานเพื่อขอรับวีซ่าประเภททำงานจากสถานทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยก่อน
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ที่อ้างว่าเป็นนายหน้าหางานนั้น หากไม่มีใบรับรองจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานของไทย ถือว่าเป็นนายหน้าเถื่อน แรงงานไทยจึงควรระมัดระวังและพึงหลีกเลี่ยงจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ เพราะคนพวกนี้มักจะทำวีซ่าประเภทท่องเที่ยวให้แก่แรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะได้รับเงินค่าหัว นอกจากนี้ยังได้ยกเว้นวีซ่าและอยู่ในแอฟริกาใต้ได้ 30 วัน ดังเช่นกรณีของแรงงานไทยทั้งสามคนดังกล่าว รวมทั้งแรงงานไทยรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วย
ก่อนจบขอเตือนพี่น้องแรงงานไทยอีกครั้งว่า อย่าได้หลงเชื่อกลุ่มนายหน้าที่อ้างว่าสามารถช่วยดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานได้หลังจากที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในแอฟริกาใต้แล้ว เพราะทางการแอฟริกาใต้มีขั้นตอนในการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดมาก และขอย้ำเตือนคนในหมู่บ้านและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ให้พึงระวังกลุ่มนายหน้าดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ มิจฉาชีพกลุ่มนี้ยังชักชวนคนในหมู่บ้านของแรงงานไทยทั้งสามให้เข้าไปทำงานในแอฟริกาใต้อีก โดยอ้างว่าแรงงานทั้งสามได้งานทำในแอฟริกาใต้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะสถานทูตได้ให้ความช่วยเหลือและส่งตัวกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-