นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า จากข่าวสารซึ่งปรากฏในสื่อต่างๆ ในขณะนี้พบว่า ประชาชนผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่ง เกิดจากการที่ผู้ประกอบการต่างๆ เช่น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า เป็นต้น มีการจำหน่ายสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง หรือเสื่อมคุณภาพ ซึ่งความบกพร่องดังกล่าวนั้นเกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการผลิตหรือการใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ เป็นผลให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจาก การใช้สินค้าเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ได้คุณภาพทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุยางแตกได้รับบาดเจ็บ เครื่องใช้ไฟฟ้าระเบิดและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ น้ำดื่มมีสารเคมีปนเปื้อนทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วย นมผงที่ปนเปื้อนทำให้เด็กเจ็บป่วย เป็นต้น อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือกระทั่งเสียชีวิต เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงภัยที่ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระในการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถโอนความเสี่ยงภัยของตนไปยังบริษัทประกันภัยได้ โดยการทำประกันภัยความรับผิดอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) ซึ่งการประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความบาดเจ็บ เสียชีวิต ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่อง ชำรุด เสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้น โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ในศาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งหมายถึง บุคคลใด ๆ ที่ไม่ใช่ลูกจ้างหรือบุคคลในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย
จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่สนใจทำประกันภัยความรับผิดอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ ติดต่อขอทำประกันภัยได้โดยตรงกับบริษัทประกันภัยต่างๆ ได้แก่ บริษัท คิวบีอี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย บริษัท ประกันภัยศรีเมือง จำกัด บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อวีว่า ประกันภัย (ไทย) จำกัด และ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอัตราเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 01 — 5 % หรือ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยระหว่าง 10 — 5,000 บาท ต่อจำนวนเงินจำกัดความรับผิด 100,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ ประวัติความเสียหายที่ผ่านมา ฯลฯ ของผู้เอาประกันภัย
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การประกันภัย ความรับผิดอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการต่างๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ หากสินค้าที่ตนผลิตหรือขายก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ก็จะมีบริษัทประกันภัยมารับภาระทาง การเงินแทน และนอกจากผู้ประกอบการจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัยอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้บริโภคเองก็จะมีความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการประกอบธุรกิจ และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกด้วยหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2547-4550 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th