พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม พ.ศ. 2549

ข่าวทั่วไป Wednesday August 16, 2006 13:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ระหว่าง วันที่ 16-31 สิงหาคม พ.ศ. 2549  ฉบับที่ 16/2549     
สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคอื่นๆ ปริมาณฝนจะมากกว่าระยะที่ผ่านมา
ข้อควรระวัง
ในระยะครึ่งหลังของเดือนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อน(พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อนหรือพายุไต้ฝุ่น)ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก เหนือด้านตะวันตก และอาจเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกและชายฝั่งภาคตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่พายุหมุนเขตร้อนบางลูกจะเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือของประเทศไทยได้ ประชาชนจึงควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย
สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
เนื่องจากในระยะนี้บางพื้นที่จะมีฝนตกชุก ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง นอกจากนี้เกษตรกรระวังและป้องกันการระบาดของโรคฉี่หนู โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
ข้าวนาปี เนื่องจากในบางช่วงอาจมีฝนตกหนักติดต่อกันซึ่งทำให้สภาพอากาศชื้น ดังนั้นชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ด้วย
พืชไร่ ผู้ที่ปลูกพืชไร่ในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งควรยกร่องแปลงปลูกให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก
ยางพารา สำหรับในช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้มีฝนตกชุกบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ชาวสวนยางพารา ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคหน้ากรีดยาง
สัตว์น้ำ เนื่องจากในระยะนี้มีฝนตกชุก ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน ทำให้อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ