กรุงเทพ--13 ธ.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีต่างประเทศเปิดเผยว่า อาเซียนจะยกร่างกฎบัตรอาเซียนที่กระชับ ปฏิบัติได้จริง มีความยืดหยุ่นใช้ได้ระยะยาว ซึ่งจะเอื้อต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป นอกจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรีและเป็นธรรมชาติกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และรัสเซีย และจะเป็นก้าวแรกสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-มาเลเซียนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียได้แจ้งมาว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยต่อไปหลังจากมาเลเซียได้ส่งบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวมาให้แล้ว สำหรับเรื่องสถานการณ์ในพม่า บางประเทศในอาเซียนได้ขอให้รัฐบาลพม่าประสานแจ้งข้อมูลแก่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนให้ใกล้ชิดขึ้น เพราะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น การย้ายเมืองหลวง ที่ฝ่ายพม่าไม่ได้แจ้งมิตรประเทศในอาเซียนก่อน
เมื่อ 9 ธันวาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ภายหลังการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 11 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย สรุปสาระได้ ดังนี้
1. ในช่วงเช้าวันนั้นที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือกันหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ เรื่องการเตรียมการร่างกฎบัตรอาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรเป็นเอกสารที่กระชับ ไม่ยาวเกินไป ครอบคลุมหลักการที่สำคัญครบถ้วน มุ่งมองสู่อนาคต และมีความยืดหยุ่นไม่ต้องลงรายละเอียดที่เฉพาะเกินไป เพื่อให้สามารถปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะยาว และเป็นเอกสารที่จะเสริมความแข็งแกร่งในอาเซียน และใช้เป็นพื้นฐานของการสร้างประชาคมอาเซียนและการพัฒนาสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไปได้
อาเซียนได้มอบหมายให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิก (จากไทยคือ มรว. เกษมสโมสร เกษมศรี) หารือกันเพื่อยกร่างกฎบัตรอาเซียน โดยผู้นำรัฐบาล อาเซียนมีกำหนดจะพบและแลกเปลี่ยนความเห็นและวิสัยทัศน์ กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 11 และรัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้เสนอให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ หลังจากนั้น คณะผู้ทรงคุณวุฒิจะเริ่มงานของตน โดยตั้งเป้าว่าน่าจะสามารถยกร่างแรกได้ภายใน 1 ปี แต่อาเซียนมิได้กำหนดกรอบเวลาว่า กฎบัตรจะต้องยกร่างเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด เพียงแต่หวังว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว อนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศเห็นว่าจำเป็นต้องให้ประชาชนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่าง เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่เกิดขึ้นกับธรรมนูญของสหภาพยุโรป ที่เมื่อยกร่างแล้ว ประชาชนฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ลงมติไม่รับรอง ในการนี้ เพื่อให้กระบวนการเป็นที่รับรู้กันในประเทศสมาชิกอย่างกว้างขวางที่สุด ได้มีการเสนอให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิหมุนเวียนไปประชุมกันในประเทศต่างๆ และไทยได้เสนอตัวเป็นสถานที่ประชุมในปีหน้า
2. อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ คือ การเตรียมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 (The 1st East Asia Summit) ซึ่งเป็นเวทีใหม่ที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะพบกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ที่มาร่วมประชุม รวมทั้งผู้นำรัสเซียซึ่งมาร่วมในฐานะแขกรับเชิญของมาเลเซียด้วย ประเทศอาเซียนต่างเห็นพ้องกันให้ลักษณะพิเศษของเวที EAS คือ เน้นการเป็นเวทีที่ผู้นำต่างๆ จะสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเองได้อย่างเสรีและเป็นธรรมชาติในทุกๆ เรื่อง โดยมีการเตรียมการล่วงหน้าในระดับล่างน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้นำสามารถร่วมกันพิจารณาและสั่งการตรงลงไปในลักษณะ top down ได้ในเรื่องที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่รัสเซียจะเข้าร่วม EAS ครั้งต่อไปในอนาคตหรือไม่ ดร. กันตธีร์ฯ เผยว่า ยังเป็นเรื่องที่อาเซียนกำลังพิจารณาอยู่ ไทยเองสนับสนุนให้รัสเซียได้เข้าเป็นสมาชิก EAS แต่ในครั้งแรกนี้ ผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ คือมาเลเซีย โดยที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินมีกำหนดที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียอยู่แล้ว ก็มาเยี่ยมที่ประชุม EAS ตามคำเชิญของประธาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในทางการทูต ไม่ผิดธรรมดาอย่างไร ต่อคำถามที่ว่า จริงหรือไม่ที่มีความขัดแย้งระหว่างจีน ซึ่งต้องการให้กรอบอาเซียน + 3 เดิม เป็นกลไกหลักในการนำไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก กับญี่ปุ่น ที่ต้องการผลักดันให้กรอบ EAS ซึ่งประกอบด้วยประเทศ 16 ประเทศเป็นกลไกหลักมากกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศแจ้งว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมิได้พิจารณาเรื่องนี้ ยังต้องรอดูต่อไป เนื่องจากกรอบ EAS เป็นเรื่องใหม่มาก ซึ่งในการประชุม EAS ครั้งแรก ผู้นำก็คงจะได้หารือกำหนดทิศทางและบทบาทของ EAS ด้วย แต่กรอบอาเซียน + 3 และกรอบ EAS ก็มีลักษณะแตกต่างกัน ต่างก็มีประโยชน์ และสามารถส่งเสริมกันได้
3. ประเด็นที่ได้มีการหยิบยกขึ้นระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอีกเรื่องหนึ่ง ในช่วงการเลี้ยงอาหารค่ำเมื่อคืนก่อนหน้านั้นคือวันที่ 8 ธันวาคม คือเรื่องการรณรงค์ในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ของ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ผู้สมัครของไทย ซึ่งเป็นผู้สมัครของอาเซียนด้วย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีสุรเกียรติ์ฯ ได้มาเข้าร่วมการเลี้ยงอาหารค่ำดังกล่าวเพื่อบรรยายสรุปให้อาเซียนรับทราบสถานะล่าสุดของการรณรงค์หาเสียงในตำแหน่งนี้ และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ยืนยันหลักการที่จะสนับสนุนผู้สมัครของไทย และอาเซียนจะเดินหน้าร่วมมือกันดำเนินการหาเสียงสนับสนุนต่อไป
4. นอกจากนั้น ในเช้าวันที่ 9 ธันวาคม ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและจีน และได้กล่าวย้ำความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในภูมิภาคเอเชีย ได้แสดงความยินดีที่จีนมีบทบาทแข็งขันในกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีน และในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และได้ถือโอกาสเชิญชวนให้จีนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีคลัง ACD ที่ไทยจะจัดขึ้นในปีหน้า เพื่อพิจารณาการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย นอกจากนั้น ไทยชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบทบาทในการดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี และบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ อาเซียนและจีนควรร่วมมือกันต่อไปในการจัดการปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ไข้หวัดนก ภัยพิบัติธรรมชาติ และปัญหาการแสวงหาพลังงานทดแทน
5. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าว เรื่องสถานการณ์ในพม่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยยังคงสนับสนุนให้กระบวนการปรองดองแห่งชาติพม่ามีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด และได้มีการย้ำว่า พม่าควรจะสามารถมีผลเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้ได้ โดยที่ต้องยอมรับว่า ประชาคมระหว่างประเทศมีความกังวลอยู่ ทั้งนี้ บางประเทศในอาเซียนก็ได้แจ้งให้พม่าทราบว่า ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในพม่าด้วยความเป็นห่วง กับได้แสดงความไม่สบายใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับการย้ายเมืองหลวง พม่าน่าจะได้แจ้งให้มิตรประเทศในอาเซียนทราบก่อน และขอให้พม่าประสานข้อมูลต่างๆ ให้ประเทศอาเซียนทราบอย่างใกล้ชิดขึ้นในโอกาสต่อไป เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
6. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศยังไม่ได้กำหนดว่าจะพบกันแบบทวิภาคีในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่การพบปะกันระหว่างประชุม หรือการพบกันในโอกาสอื่นๆ นั้นย่อมจะมีอยู่แล้ว ในวันนี้ ดร. กันตธีร์ฯ เองก็ได้พบพูดคุยกับดาโต๊ะไซยิด ฮามิด อัลบาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับกรณีคนไทย 131 คนในมาเลเซีย ซึ่งทางการมาเลเซียเพิ่งจะส่งบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวกลับมาให้ 1 คน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ว่า รัฐบาลไทยยินดีมากต่อความร่วมมือของมาเลเซียดังกล่าว ซึ่งมีผลดีต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และเป็นการเปิดประตูเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา 130 คนไทยต่อไป กับได้ย้ำด้วยว่า รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยสมัครใจ และขั้นต่อไป ทางการไทยก็ต้องการที่จะสามารถเข้าถึงและพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไทยทั้ง 130 คน ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาอาจจะมีความชักช้าบ้าง แต่ฝ่ายไทยก็มุ่งที่จะมองไปสู่ความร่วมมือในอนาคตมากกว่า ซึ่งฝ่ายรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียก็ตอบมาด้วยดีว่า มาเลเซียพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยต่อไปเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีต่างประเทศเปิดเผยว่า อาเซียนจะยกร่างกฎบัตรอาเซียนที่กระชับ ปฏิบัติได้จริง มีความยืดหยุ่นใช้ได้ระยะยาว ซึ่งจะเอื้อต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป นอกจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรีและเป็นธรรมชาติกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และรัสเซีย และจะเป็นก้าวแรกสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-มาเลเซียนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียได้แจ้งมาว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยต่อไปหลังจากมาเลเซียได้ส่งบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวมาให้แล้ว สำหรับเรื่องสถานการณ์ในพม่า บางประเทศในอาเซียนได้ขอให้รัฐบาลพม่าประสานแจ้งข้อมูลแก่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนให้ใกล้ชิดขึ้น เพราะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น การย้ายเมืองหลวง ที่ฝ่ายพม่าไม่ได้แจ้งมิตรประเทศในอาเซียนก่อน
เมื่อ 9 ธันวาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ภายหลังการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 11 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย สรุปสาระได้ ดังนี้
1. ในช่วงเช้าวันนั้นที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือกันหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ เรื่องการเตรียมการร่างกฎบัตรอาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรเป็นเอกสารที่กระชับ ไม่ยาวเกินไป ครอบคลุมหลักการที่สำคัญครบถ้วน มุ่งมองสู่อนาคต และมีความยืดหยุ่นไม่ต้องลงรายละเอียดที่เฉพาะเกินไป เพื่อให้สามารถปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะยาว และเป็นเอกสารที่จะเสริมความแข็งแกร่งในอาเซียน และใช้เป็นพื้นฐานของการสร้างประชาคมอาเซียนและการพัฒนาสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไปได้
อาเซียนได้มอบหมายให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิก (จากไทยคือ มรว. เกษมสโมสร เกษมศรี) หารือกันเพื่อยกร่างกฎบัตรอาเซียน โดยผู้นำรัฐบาล อาเซียนมีกำหนดจะพบและแลกเปลี่ยนความเห็นและวิสัยทัศน์ กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 11 และรัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้เสนอให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ หลังจากนั้น คณะผู้ทรงคุณวุฒิจะเริ่มงานของตน โดยตั้งเป้าว่าน่าจะสามารถยกร่างแรกได้ภายใน 1 ปี แต่อาเซียนมิได้กำหนดกรอบเวลาว่า กฎบัตรจะต้องยกร่างเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด เพียงแต่หวังว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว อนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศเห็นว่าจำเป็นต้องให้ประชาชนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่าง เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่เกิดขึ้นกับธรรมนูญของสหภาพยุโรป ที่เมื่อยกร่างแล้ว ประชาชนฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ลงมติไม่รับรอง ในการนี้ เพื่อให้กระบวนการเป็นที่รับรู้กันในประเทศสมาชิกอย่างกว้างขวางที่สุด ได้มีการเสนอให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิหมุนเวียนไปประชุมกันในประเทศต่างๆ และไทยได้เสนอตัวเป็นสถานที่ประชุมในปีหน้า
2. อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ คือ การเตรียมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 (The 1st East Asia Summit) ซึ่งเป็นเวทีใหม่ที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะพบกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ที่มาร่วมประชุม รวมทั้งผู้นำรัสเซียซึ่งมาร่วมในฐานะแขกรับเชิญของมาเลเซียด้วย ประเทศอาเซียนต่างเห็นพ้องกันให้ลักษณะพิเศษของเวที EAS คือ เน้นการเป็นเวทีที่ผู้นำต่างๆ จะสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเองได้อย่างเสรีและเป็นธรรมชาติในทุกๆ เรื่อง โดยมีการเตรียมการล่วงหน้าในระดับล่างน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้นำสามารถร่วมกันพิจารณาและสั่งการตรงลงไปในลักษณะ top down ได้ในเรื่องที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่รัสเซียจะเข้าร่วม EAS ครั้งต่อไปในอนาคตหรือไม่ ดร. กันตธีร์ฯ เผยว่า ยังเป็นเรื่องที่อาเซียนกำลังพิจารณาอยู่ ไทยเองสนับสนุนให้รัสเซียได้เข้าเป็นสมาชิก EAS แต่ในครั้งแรกนี้ ผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ คือมาเลเซีย โดยที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินมีกำหนดที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียอยู่แล้ว ก็มาเยี่ยมที่ประชุม EAS ตามคำเชิญของประธาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในทางการทูต ไม่ผิดธรรมดาอย่างไร ต่อคำถามที่ว่า จริงหรือไม่ที่มีความขัดแย้งระหว่างจีน ซึ่งต้องการให้กรอบอาเซียน + 3 เดิม เป็นกลไกหลักในการนำไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก กับญี่ปุ่น ที่ต้องการผลักดันให้กรอบ EAS ซึ่งประกอบด้วยประเทศ 16 ประเทศเป็นกลไกหลักมากกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศแจ้งว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมิได้พิจารณาเรื่องนี้ ยังต้องรอดูต่อไป เนื่องจากกรอบ EAS เป็นเรื่องใหม่มาก ซึ่งในการประชุม EAS ครั้งแรก ผู้นำก็คงจะได้หารือกำหนดทิศทางและบทบาทของ EAS ด้วย แต่กรอบอาเซียน + 3 และกรอบ EAS ก็มีลักษณะแตกต่างกัน ต่างก็มีประโยชน์ และสามารถส่งเสริมกันได้
3. ประเด็นที่ได้มีการหยิบยกขึ้นระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอีกเรื่องหนึ่ง ในช่วงการเลี้ยงอาหารค่ำเมื่อคืนก่อนหน้านั้นคือวันที่ 8 ธันวาคม คือเรื่องการรณรงค์ในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ของ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ผู้สมัครของไทย ซึ่งเป็นผู้สมัครของอาเซียนด้วย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีสุรเกียรติ์ฯ ได้มาเข้าร่วมการเลี้ยงอาหารค่ำดังกล่าวเพื่อบรรยายสรุปให้อาเซียนรับทราบสถานะล่าสุดของการรณรงค์หาเสียงในตำแหน่งนี้ และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ยืนยันหลักการที่จะสนับสนุนผู้สมัครของไทย และอาเซียนจะเดินหน้าร่วมมือกันดำเนินการหาเสียงสนับสนุนต่อไป
4. นอกจากนั้น ในเช้าวันที่ 9 ธันวาคม ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและจีน และได้กล่าวย้ำความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในภูมิภาคเอเชีย ได้แสดงความยินดีที่จีนมีบทบาทแข็งขันในกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีน และในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และได้ถือโอกาสเชิญชวนให้จีนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีคลัง ACD ที่ไทยจะจัดขึ้นในปีหน้า เพื่อพิจารณาการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย นอกจากนั้น ไทยชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบทบาทในการดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี และบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ อาเซียนและจีนควรร่วมมือกันต่อไปในการจัดการปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ไข้หวัดนก ภัยพิบัติธรรมชาติ และปัญหาการแสวงหาพลังงานทดแทน
5. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าว เรื่องสถานการณ์ในพม่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยยังคงสนับสนุนให้กระบวนการปรองดองแห่งชาติพม่ามีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด และได้มีการย้ำว่า พม่าควรจะสามารถมีผลเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้ได้ โดยที่ต้องยอมรับว่า ประชาคมระหว่างประเทศมีความกังวลอยู่ ทั้งนี้ บางประเทศในอาเซียนก็ได้แจ้งให้พม่าทราบว่า ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในพม่าด้วยความเป็นห่วง กับได้แสดงความไม่สบายใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับการย้ายเมืองหลวง พม่าน่าจะได้แจ้งให้มิตรประเทศในอาเซียนทราบก่อน และขอให้พม่าประสานข้อมูลต่างๆ ให้ประเทศอาเซียนทราบอย่างใกล้ชิดขึ้นในโอกาสต่อไป เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
6. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศยังไม่ได้กำหนดว่าจะพบกันแบบทวิภาคีในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่การพบปะกันระหว่างประชุม หรือการพบกันในโอกาสอื่นๆ นั้นย่อมจะมีอยู่แล้ว ในวันนี้ ดร. กันตธีร์ฯ เองก็ได้พบพูดคุยกับดาโต๊ะไซยิด ฮามิด อัลบาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับกรณีคนไทย 131 คนในมาเลเซีย ซึ่งทางการมาเลเซียเพิ่งจะส่งบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวกลับมาให้ 1 คน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ว่า รัฐบาลไทยยินดีมากต่อความร่วมมือของมาเลเซียดังกล่าว ซึ่งมีผลดีต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และเป็นการเปิดประตูเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา 130 คนไทยต่อไป กับได้ย้ำด้วยว่า รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยสมัครใจ และขั้นต่อไป ทางการไทยก็ต้องการที่จะสามารถเข้าถึงและพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไทยทั้ง 130 คน ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาอาจจะมีความชักช้าบ้าง แต่ฝ่ายไทยก็มุ่งที่จะมองไปสู่ความร่วมมือในอนาคตมากกว่า ซึ่งฝ่ายรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียก็ตอบมาด้วยดีว่า มาเลเซียพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยต่อไปเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-