ในปี 2550 มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกหลายประการ ดังนี้
1. ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ได้ลงนามในกฎหมายต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐฯ ออกไปอีก 2 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โครงการ GSP ได้ให้การต่ออายุโดยไม่ขาดช่วง
โครงการ GSP ใหม่ของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับกฏการแข่งขันเท่าที่จำเป็น (Competitive Need Limitations : CNLs) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กรณีที่ประเทศที่ได้รับสิทธิใด ส่งสินค้าที่ได้รับ GSP ไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าหรือปริมาณเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกตัด GSP ในปีต่อไป ซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจผ่อนผันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้
สำหรับเกณฑ์ตามโครงการใหม่กำหนดไว้คือ หากมีมูลค่าเกิน 125 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 หรือนำเข้าแต่ละปีมีปริมาณเกินร้อยละ 50 ของปริมาณสินค้าชนิดเดียวกันที่นำเข้าสหรัฐฯ ก็จะถูกตัด GSP แต่กฏหมายฉบับใหม่มีความเข้มงวดขึ้น คือมีข้อกำหนดให้ประธานาธิบดีเพิกถอนการผ่อนผัน กรณีที่มีการผ่อนผันมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และปรากฏว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ได้รับการผ่อนผันจากประเทศใดในแต่ละปี เพิ่มขึ้นร้อยละ150 เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือปริมาณเกินร้อยละ 75 ของปริมาณที่นำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด
2. สหภาพยุโรป ขยายการรับสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 2 ประเทศ คือบัลแกเรีย และโรมาเนียมีผลคั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ทำให้สมาชิกรวมเป็น 27 ประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะทำให้ตลาดส่งออกที่ประกอบด้วยหลายประเทศแต่ใช้กฎระเบียบเดียวกัน มีอัตราภาษีเดียวกันใหญ่ขั้น และสามารถใช้สิทธิ GSP ขยายครอบคลุมไปถึงสินค้าที่ส่งไปบัลแกเรีย และโรมาเนียเดิมด้วย
3. นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO ) ได้ประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรระบบ Harmonized System (HS)เป็น HS 2007 ซึ่งมีรายการที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงประมาณ 5,000 รายการ รายการเดิมบางรายการถูกยกเลิกไปเพราะไม่มีการค้า บางรายการเพิ่มขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับการค้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงการจำแนกพิกัดศุลกากรระบบ HS ดังกล่าวทำให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การศุลกากรโลกและใช้พิกัดศุลกากรระบบ HS จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรขาเข้า (ภาค 2) ของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ให้สอดคล้องด้วย
การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าวมีผลกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออก ในการนำเข้าจะต้องสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรให้ถูกต้องตรงกับพิกัดที่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนการส่งออกสินค้ารายการที่ได้รับสิทธิทางภาษีตามความตกลงต่างๆ ก็จะต้องสำแดงพิกัดที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำเข้าและส่งออกจะต้องติดตามดูรายละเอียดที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสำแดงให้ถูกต้องมิให้เกิดปัญหาในการนำเข้าและส่งออก
ประเด็นวิเคราะห์
ความเคลี่อนไหวทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการ GSP ใหม่ของสหรัฐฯ การขยายรับสมาชิกอีก 2 ประเทศของสหภาพยุโรป และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรระบบ HS ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ผู้ส่งออกและนำเข้าจะต้องศึกษาอย่างถ่องแท้เพื่อประโยชน์และความได้เปรียบทางการค้าของตนต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th