ร่วมรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
12 กรกฎาคม 2550
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสถานการณ์การจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ว่า จะมีความยุ่งยาก แต่ก็น่าจะผ่านไปได้เพราะสถานการณ์แวดล้อม โดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนทั่ว ๆ ไปดูจะมีความเอื้ออำนวยให้ผ่านไปได้มากกว่าที่จะไม่ผ่านและผมก็ได้ให้ข้อสังเกตต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล คมช. กกต. และสสร. ว่าแต่ละฝ่ายไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท หากแต่จะต้องถือเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ในการร่วมมือกันสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในสาระของรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ
เมื่อมาถึงสัปดาห์นี้ก็ได้เห็นเค้าลางแห่งความยุ่งยากและสับสนวุ่นวายเพิ่มขึ้นอย่างที่ได้คาดหมายไว้ ทีมไทยรักไทยเดิมที่ได้ประกาศคว่ำบาตรมาก่อนแล้ว ก็ได้รวมทีมใส่เสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความเป็นภาษาฝรั่งว่า วีโหวตโน (We Vote No) อยู่ที่ตัวเสื้อ และประกาศ 4 แผนการเพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญในขั้นตอนของการจัดทำประชามติและพร้อม ๆ กันนั้น กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหารซึ่งได้เคยลงโฆษณาคัดค้านผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความว่าโหวตล้มรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามฝ่ายที่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน โดยเดินทางไปยื่นแถลงการณ์ประณาม ณ ที่ทำการพรรคเลยทีเดียว ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดตัวของฝ่ายที่จะร่วมกันคัดค้านก็คงได้
ส่วนทางด้านของฝ่ายที่มีภารกิจในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ทางสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้จัดให้มีการสัมมนาสมาชิกเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเผยแพร่รัฐธรรมนูญเพื่อการลงประชามติ ซึ่งจะมีการเผยแพร่สปอตโฆษณาชุดต่าง ๆ ผ่านทั้งทางโทรทัศน์ เคเบิลทีวี สถานีวิทยุ วิทยุชุมชน รวมทั้งหอกระจายข่าวชุมชนที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านจะมีการติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และจะมีการรณรงค์ผ่านเวปไซต์รัฐสภา ลงโฆษณาผ่านสิ่งพิมพ์มีโครงการมนุษย์ไฟเขียวโชว์ตัวตามสี่แยกและจะจัดให้มีมหกรรม 76 ทั่วไทยไฟเขียวรัฐธรรมนูญอีกด้วย
เมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวและได้รับรู้รับทราบถึงยุทธศาสตร์และแผนงานของทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งฝ่ายต่อต้านโดยรับรัฐธรรมนูญและฝ่ายรณรงค์มิให้รับรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะคาดหมายได้ว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติ บรรยากาศในประเทศของเราจะเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวคึกคัก ของการชี้ชวนที่ไม่ให้รับและให้รับรัฐธรรมนูญในรูปแบบของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการของการตลาดสมัยใหม่ ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อและที่อันตรายที่สุดซึ่งก็ได้เริ่มขึ้นบ้างแล้วก็คือ การประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายของตนอันจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกด้วยการแบ่งฝ่ายแบ่งพวกให้ขยายวงกว้างขวางออกไปอีกและหากคิดว่านี่เป็นเพียงบรรยากาศในขั้นเริ่มต้นเท่านั้นยิ่งนานไปจะยิ่งขัดแย้งแตกแยกกันมากขึ้นก็จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
ผมคิดว่า สิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะต้องช่วยกันคิดในขณะนี้ก็คือว่าเราจะช่วยกันสร้างบรรยากาศของการรณรงค์ทั้งที่ไม่ให้รับและให้รับรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยดีไม่มีการดูหมิ่นดูแคลนหรือประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายของตนได้อย่างไรซึ่งแม้ไม่อาจทำให้ลดน้อยลงได้ทั้งหมดเพียงทำให้ลดน้อยลงได้บ้างก็ยังดี และที่สำคัญก็คือต้องช่วยกันทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศได้เข้าใจว่า การดูหมิ่นดูแคลนหรือประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายตนต่อการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง หากแต่การกระทำที่ถูกต้อง ก็คือ การถกเถียงโต้แย้งกันในเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไรและการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติและประชาชนจะมีได้มีเสียอย่างไร
ผมคิดย้อนหลังไปถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท่ามกลางมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คิดแล้วยิ่งมีความรู้สึกว่า คุณธรรมสี่ประการในพระราชดำรัสของพระองค์ในวันนั้นช่างมีความสอดคล้องตรงกันกับบรรยากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้จริง ๆ และหากจะได้อัญเชิญมาเป็นธงนำในกระบวนการคิด พูด ทำ ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสร้างสรรค์แน่นอน คุณธรรม สี่ ประการนี้ก็คือ
ประการแรก คือการที่ทุกคน คิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญ ต่อกัน
ประการที่สอง คือการที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือการที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือการที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล
เพื่อให้บรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์จริง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนเกินเหตุอันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศต่อไปอีก ผมมีความเห็นว่า
1. รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธควรจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพสร้างบรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ด้วยการอัญเชิญพระราชดำรัสฯ คุณธรรมสี่ประการ มาเป็นหลักคิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นประการแรก
2. รัฐบาลควรจัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนได้มีความเข้าใจอย่างครบถ้วน ทั่วถึงพร้อม ๆ กับการสร้างความเข้าใจว่าประชาชนมีความเป็นอิสระที่จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญก็ได้และการรับหรือไม่รับนั้นควรจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องของการให้เหตุและผลในการตัดสินใจ
3. รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งที่จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ใช้สื่อของรัฐในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงโต้แย้งกันในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร รวมทั้งการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญจะมีผลดี ผลเสียอย่างไร
ผมมั่นใจว่าหากรัฐบาลจะยอมรับเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการดำเนินการได้เช่นนี้ ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศในกระบวนการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้นแน่นอนที่สำคัญก็คือว่าจะช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกมิให้เกิดขึ้นจนเกินเหตุให้ประเทศต้องบอบช้ำเสียหายเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นไปอีก.
*****************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 12 ก.ค. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
12 กรกฎาคม 2550
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสถานการณ์การจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ว่า จะมีความยุ่งยาก แต่ก็น่าจะผ่านไปได้เพราะสถานการณ์แวดล้อม โดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนทั่ว ๆ ไปดูจะมีความเอื้ออำนวยให้ผ่านไปได้มากกว่าที่จะไม่ผ่านและผมก็ได้ให้ข้อสังเกตต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล คมช. กกต. และสสร. ว่าแต่ละฝ่ายไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท หากแต่จะต้องถือเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ในการร่วมมือกันสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในสาระของรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ
เมื่อมาถึงสัปดาห์นี้ก็ได้เห็นเค้าลางแห่งความยุ่งยากและสับสนวุ่นวายเพิ่มขึ้นอย่างที่ได้คาดหมายไว้ ทีมไทยรักไทยเดิมที่ได้ประกาศคว่ำบาตรมาก่อนแล้ว ก็ได้รวมทีมใส่เสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความเป็นภาษาฝรั่งว่า วีโหวตโน (We Vote No) อยู่ที่ตัวเสื้อ และประกาศ 4 แผนการเพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญในขั้นตอนของการจัดทำประชามติและพร้อม ๆ กันนั้น กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหารซึ่งได้เคยลงโฆษณาคัดค้านผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความว่าโหวตล้มรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามฝ่ายที่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน โดยเดินทางไปยื่นแถลงการณ์ประณาม ณ ที่ทำการพรรคเลยทีเดียว ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดตัวของฝ่ายที่จะร่วมกันคัดค้านก็คงได้
ส่วนทางด้านของฝ่ายที่มีภารกิจในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ทางสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้จัดให้มีการสัมมนาสมาชิกเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเผยแพร่รัฐธรรมนูญเพื่อการลงประชามติ ซึ่งจะมีการเผยแพร่สปอตโฆษณาชุดต่าง ๆ ผ่านทั้งทางโทรทัศน์ เคเบิลทีวี สถานีวิทยุ วิทยุชุมชน รวมทั้งหอกระจายข่าวชุมชนที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านจะมีการติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และจะมีการรณรงค์ผ่านเวปไซต์รัฐสภา ลงโฆษณาผ่านสิ่งพิมพ์มีโครงการมนุษย์ไฟเขียวโชว์ตัวตามสี่แยกและจะจัดให้มีมหกรรม 76 ทั่วไทยไฟเขียวรัฐธรรมนูญอีกด้วย
เมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวและได้รับรู้รับทราบถึงยุทธศาสตร์และแผนงานของทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งฝ่ายต่อต้านโดยรับรัฐธรรมนูญและฝ่ายรณรงค์มิให้รับรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะคาดหมายได้ว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติ บรรยากาศในประเทศของเราจะเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวคึกคัก ของการชี้ชวนที่ไม่ให้รับและให้รับรัฐธรรมนูญในรูปแบบของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการของการตลาดสมัยใหม่ ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อและที่อันตรายที่สุดซึ่งก็ได้เริ่มขึ้นบ้างแล้วก็คือ การประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายของตนอันจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกด้วยการแบ่งฝ่ายแบ่งพวกให้ขยายวงกว้างขวางออกไปอีกและหากคิดว่านี่เป็นเพียงบรรยากาศในขั้นเริ่มต้นเท่านั้นยิ่งนานไปจะยิ่งขัดแย้งแตกแยกกันมากขึ้นก็จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
ผมคิดว่า สิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะต้องช่วยกันคิดในขณะนี้ก็คือว่าเราจะช่วยกันสร้างบรรยากาศของการรณรงค์ทั้งที่ไม่ให้รับและให้รับรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยดีไม่มีการดูหมิ่นดูแคลนหรือประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายของตนได้อย่างไรซึ่งแม้ไม่อาจทำให้ลดน้อยลงได้ทั้งหมดเพียงทำให้ลดน้อยลงได้บ้างก็ยังดี และที่สำคัญก็คือต้องช่วยกันทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศได้เข้าใจว่า การดูหมิ่นดูแคลนหรือประณามหยามเหยียดต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายตนต่อการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง หากแต่การกระทำที่ถูกต้อง ก็คือ การถกเถียงโต้แย้งกันในเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไรและการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติและประชาชนจะมีได้มีเสียอย่างไร
ผมคิดย้อนหลังไปถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท่ามกลางมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คิดแล้วยิ่งมีความรู้สึกว่า คุณธรรมสี่ประการในพระราชดำรัสของพระองค์ในวันนั้นช่างมีความสอดคล้องตรงกันกับบรรยากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้จริง ๆ และหากจะได้อัญเชิญมาเป็นธงนำในกระบวนการคิด พูด ทำ ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสร้างสรรค์แน่นอน คุณธรรม สี่ ประการนี้ก็คือ
ประการแรก คือการที่ทุกคน คิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญ ต่อกัน
ประการที่สอง คือการที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือการที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือการที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล
เพื่อให้บรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์จริง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนเกินเหตุอันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศต่อไปอีก ผมมีความเห็นว่า
1. รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธควรจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพสร้างบรรยากาศในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ด้วยการอัญเชิญพระราชดำรัสฯ คุณธรรมสี่ประการ มาเป็นหลักคิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นประการแรก
2. รัฐบาลควรจัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนได้มีความเข้าใจอย่างครบถ้วน ทั่วถึงพร้อม ๆ กับการสร้างความเข้าใจว่าประชาชนมีความเป็นอิสระที่จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญก็ได้และการรับหรือไม่รับนั้นควรจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องของการให้เหตุและผลในการตัดสินใจ
3. รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งที่จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ใช้สื่อของรัฐในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงโต้แย้งกันในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร รวมทั้งการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญจะมีผลดี ผลเสียอย่างไร
ผมมั่นใจว่าหากรัฐบาลจะยอมรับเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการดำเนินการได้เช่นนี้ ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศในกระบวนการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้นแน่นอนที่สำคัญก็คือว่าจะช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกมิให้เกิดขึ้นจนเกินเหตุให้ประเทศต้องบอบช้ำเสียหายเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นไปอีก.
*****************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 12 ก.ค. 2550--จบ--