ในไตรมาสที่ 3 IMF ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2549 จากเดิมประมาณการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 4.9 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ความตึงเครียดในตลาดเงิน และการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันระลอกใหม่ แต่การขยายตัวของอุปสงค์ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตในเกณฑ์ดี สำหรับปัจจัยอื่นๆที่อาจเข้ามามีอิทธิพลในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การชะงักงันของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวของตลาดใหม่ภายใต้แรงกดดันของข้อจำกัดทางการค้าในตลาดโลก รวมทั้งการรื้อฟื้นข้อตกลงรอบโดฮาขึ้นมาพิจารณาหลังจากถูกโจมตีว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการลดลงจากราคาน้ำมันที่สูง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ สำหรับในครึ่งหลังปี 2549 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่ ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงและผันผวน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2 — 4.7
ภาคอุตสาหกรรมไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม ตามการจัดประเภทอุตสาหกรรมมาตรฐานสากล(ISIC) ในระดับ 4 หลัก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ส่วนสถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 68,451.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 35,058.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 33,392.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.10 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.40 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดุลการค้าเกินดุล 1,666.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม มีมูลค่ารวม 19,157.41 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —16.77 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 14,496.65 ล้านบาท และเดือนสิงหาคม 4,660.76 ล้านบาทส่วนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 295 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่มีเงินลงทุน 70,600 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —24.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100 % จำนวน 102 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 20,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 81 โครงการ เป็นเงินลงทุน 26,700 ล้านบาท และเป็นโครงการคนไทย 100 % 112 โครงการ เป็นเงินลงทุน 23,200 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ภาวะการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.33 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าฮาร์ตดิสไดรฟ์ (HDD) และ IC ในขณะที่การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 8.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สีขนาดเล็ก เครื่องปรับอากาศ หม้อหุงข้าว เป็นต้น ส่วนภาวะการส่งออกไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 402,382 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.42 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 8.57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอียู(14%) และตลาดสหรัฐอเมริกา (11%) ขณะที่สินค้าไฟฟ้าหลายตัวมีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น เครื่องวีดีโอ,VCD,DVD ส่วนประกอบของมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น
ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีมูลค่า 314,434 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในส่วนประกอบของทั้งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ส่วนประกอบของเครื่องซักแห้ง ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ วงจรพิมพ์ (Printed Circuit) ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เคมีภัณฑ์
ไตรมาส 3 ปี 2549 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 9,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 21,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปุ๋ยมีมูลค่านำเข้า 10,628 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ลดลงร้อยละ 5.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 4,569 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทางด้านการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2549 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่า 4,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและลดลงร้อยละ12.02เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 2,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยมีมูลค่าการส่งออก 647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 33.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 7,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเครื่องสำอางไทยที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรยังขยายตัวได้ดีในตลาดต่างประเทศและยังเป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและต่างชาติ แหล่งตลาดส่งออกเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ทั้งนี้ตลาดใหม่ที่ขยายการส่งออกได้ดีได้แก่ ออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย อุตสาหกรรมปุ๋ยมีมูลค่าการส่งออก 647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 33.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปิโตรเคมี
ไตรมาส 3 ปี 2549 ภาวะปิโตรเคมีในประเทศมีแผนขยายกำลังการผลิตดังนี้ คือ แผนการลงทุนด้าน Gas Based Olefins สายเอทิลีน โครงการอีเทนแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นหน่วยผลิต LDPE ขนาด 300,000 ตัน/ปี และหน่วยผลิต LLDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2552 อีกทั้งยังได้มีการลงนามในข้อตกลงสำหรับหน่วยผลิต ethanolamines ซึ่งเป็นสารวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสี ยา เครื่องสำอาง สารซักล้าง และซีเมนต์ จะเริ่มเดินเครื่องต้นปี 2551 ซึ่งจะมีสถานะกลายเป็นหน่วยผลิตสาร ethanolamines รายแรกของไทย
สำหรับในไตรมาส 3 ปี 2549 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 5,787.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 120.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 8,770.68 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและลดลงร้อยละ 21.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 16,436.03 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 15.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออก ไตรมาส 3 ปี 2549 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 6,591.33 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 37.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 14,522.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 40,042.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เหล็กและเหล็กกล้า
สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ อันเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาทางด้านสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ จึงทำให้ภาวะการค้าโดยรวมในประเทศชะลอตัวลง ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง และสต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณที่ไม่มาก ขณะเดียวกันพ่อค้าคนกลางก็สต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น โดยเหล็กทรงแบน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.09 แต่การใช้ในประเทศกลับชะลอตัวลง ร้อยละ 26.85 ซึ่งจะเป็นการผลิตที่เน้นเพื่อการส่งออกเนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศลดลง ผู้ผลิตจึงต้องขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่ยังคงมีความต้องการอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป สำหรับเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีการผลิตและการใช้ในประเทศขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.09 และ 3.59 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าโดยรวมชะลอตัวลงร้อยละ 9.36 และ 2.72 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนมีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ลดลง ร้อยละ 68.07 รองลงมาคือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 51.59 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 38.49 สำหรับการส่งออกโดยรวมขยายตัวขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ ร้อยละ 72.43 และ 58.96 ตามลำดับ โดย เหล็กแผ่นบางรีดร้อนและ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 192.08 และ 172.26 ตามลำดับ
ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2549 มีการผลิตรถยนต์จำนวน 302,297 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.17 และ 2.77 ตามลำดับ แต่การผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 8.78 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2549 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.15 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80, 3.97 และ 3.83 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อมองอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 การผลิตมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัวลง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลทางด้านจิตวิทยาแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วยังมีภัยทางธรรมชาติซึ่งในปีนี้เกิดฝนตกหนักอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค และส่งผลด้านลบให้ตลาดรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามการส่งออกยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลด้านบวกต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศ
ส่วนการจำหน่ายในประเทศไตรมาสที่สามของปี 2549 มีการจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 153,674 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 3.25 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.91 และ 1.31 ตามลำดับ แต่รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวม SUV ลดลงร้อยละ 4.21 และ 45.83 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2549 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 6.75 ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สามนี้เป็นช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในปีนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV ลดลงร้อยละ 9.74, 4.43, 1.44 และ 23.98 ตามลำดับ ในส่วนการส่งออกในไตรมาสที่สามของปี 2549 มีปริมาณการส่งออก จำนวน 134,618 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 60,038.08 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกเพิ่มร้อยละ 11.66 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.39 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2549 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.79 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80
พลาสติก
ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 519.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ กลุ่มประเทศในอาเซียน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศหลักที่ไทยส่งออกได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อและการส่งออกของ บางกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ด้านการนำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 579.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับแผ่นฟิมล์ ฟลอย์และแถบพลาสติก มีสัดส่วนการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลอดและท่อพลาสติก มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 23.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง
อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังของไทยมีภาวการณ์ผลิตหนังฟอกลดลงจากไตรมาสก่อนเป็นผลมาจากการส่งออกหนังฟอกลดลง และยังมีการนำเข้าหนังฟอกจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น การผลิตกระเป๋าลดลงจากไตรมาสก่อนเนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังค้างอยู่ อีกทั้งมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนกระเป๋า ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2549 เทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2549 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 ซึ่งตลาดสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.0 62.5 และ 45.6 แหล่งนำเข้า คือ จีน อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และฮ่องกง การผลิตรองเท้าลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำสินค้าคงคลังออกมาใช้ โดยการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 3 ของปี 2549เทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.9 การผลิตกระเป๋าไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 เทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 40.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 48.4
อาหาร
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง และประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 และ 7.7 ตามลำดับ เป็นผลจากยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลและปริมาณมันสำปะหลังเลื่อนเวลาเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 10.4 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต ด้านภาวะการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2549 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 110,575.5 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 จะพบว่าภาวะการส่งออกในรูปของปริมาณและมูลค่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบระหว่าง 9 เดือนของปี 2549 และ 2548 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1
ไม้และเครื่องเรือน
การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทย ในไตรมาสที่ 3 ปี2549 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้สินค้าไม้และเครื่องเรือน อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างและการตกแต่งอาคารสถานที่มีการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลงตามไปด้วย ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีปริมาณการผลิต 4.29 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 6.13 และ 26.03 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2549 มีปริมาณการผลิตรวม 14.19 ล้านชิ้น
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 5.27 ส่วนปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีปริมาณการจำหน่าย 0.47 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 59.48 และ 79.65 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2549 มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 2.96 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงร้อยละ 49.92
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
การผลิตของผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาส 3 ของปี 2549 ส่วนใหญ่มีปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคายางพาราแปรรูปขั้นต้นมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีบางผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณการผลิตลดลงซึ่งก็ไม่มากนัก โดยการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง มีจำนวน 3,339,516 เส้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.04 ยางนอกรถบรรทุกและรถโดยสาร มีจำนวน 1,234,953.เส้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.05 ยางนอกรถจักรยานยนต์ จำนวน 5,700,365 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 1.35 ยางนอกรถจักรยาน จำนวน 5,297,222 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 10.07 ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร จำนวน 630,832 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 28.76 ยางในรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,459,107 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 0.67 ยางในรถจักรยาน จำนวน 5,056,003 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 5 ยางรอง จำนวน 1,073,558 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.92 ยางหล่อดอก จำนวน 47,002 เส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 5.59 และยางรัดของ จำนวน 3,946.08 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนคิดเป็นร้อยละ 11.4
สำหรับการส่งออก ยางแปรรูปขั้นต้น ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 จำนวน 1,564.90 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึงร้อยละ 31.97 และหากเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้วมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.38 โดยตลาดส่งออกสำคัญในหมวดนี้อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นประเทศจีนและญี่ปุ่น รองลงมาเป็น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และเยอรมนี ทางด้านผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง มีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 จำนวน 836.60 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.97 และเติบโตจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 33.37 โดยตลาดส่งออกสำคัญในหมวดนี้อันดับ 1 ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมาประกอบไปด้วยญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อิตาลี และเยอรมนี
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์
ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวเนื่องจากทางกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการพิมพ์ไทย จัดประชาสัมพันธ์การเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ (Printing Hub) ในภูมิภาคอาเซียนแทนสิงคโปร์ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลงานของไทยผ่านการประกวดในระดับนานาชาติทำให้ต่างชาติเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทย โดยภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 2.3 การผลิตกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตรวม 888,490.3 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 0.3 และ 12.5 ตามลำดับ
ยา
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ สำหรับปริมาณการจำหน่ายปรับตัวลดลง เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับตลาดยาในประเทศมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง ด้านมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายาต้นตำรับและยาที่มีสิทธิบัตร และส่งออกยาสามัญซึ่งเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว โดยการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีปริมาณ 7,275.8 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5 และเพิ่มจากไตรมาสก่อนร้อยละ 17.3 สำหรับการผลิตใน 9 เดือนของปี 2549 มีปริมาณการผลิต 19,802.2 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 การจำหน่ายในประเทศมีปริมาณ 6,345 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.7 โดยประเภทของยาที่จำหน่ายลดลงได้แก่ ยาแคปซูล ยาครีม ยาฉีด และยาผง สำหรับการจำหน่ายใน 9 เดือนของปี 2549 มีปริมาณ 17,903.3 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
สถานการณ์การผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 เพิ่มขึ้นทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลงเนื่องจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัว อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความไม่ชัดเจนด้านการเมืองส่งผลให้ภาคประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย หันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากนักเหมาะกับกำลังซื้อที่มีจำกัด การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากจีน เวียดนามและอินเดีย สูงถึงร้อยละ 84.9 จากไตรมาสก่อน โดยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การจำหน่ายลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ 3.8 ซึ่งสอดคล้องกับการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 6.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง
การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 1,817.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 1,649.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.6
ปูนซีเมนต์
การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตรวม 21.23 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการผลิตปูนเม็ด 10.54 ล้านตัน และการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.69 ล้านตัน ซึ่งปริมาณการผลิตรวมยังคงทรงตัวอยู่ เนื่องจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร แต่เมื่อพิจารณาใน
ไตรมาสนี้ โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 และ 7.55 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณก่อนปิดงบประมาณปี 2549 ในการลงทุนโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในตลาดที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างเองยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และในช่วง 9 เดือนของปี 2549 มีการผลิตปูนซีเมนต์จำนวน 63.75 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02
(ยังมีต่อ)