รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2007 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                        สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม 2550
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 168.65 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 (164.83) ร้อยละ 2.32 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (157.27) ร้อยละ 7.23
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 65.45 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 (64.16) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (66.88)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2550
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวเล็กน้อย เป็นผลจาก ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ขณะที่การจำหน่ายสินค้าในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเทศกาลตรุษจีน
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะชะลอตัวเล็กน้อย จากปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามเป็นคู่แข่งในการส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปเหมือนประเทศไทย และสามารถส่งสินค้า ไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้เต็มที่ไม่จำกัดโควต้า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามสูงขึ้น จากต้นทุนแรงงานถูกกว่าไทย 1 เท่า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะต้องมีการปรับตัวมากขึ้นและอาจจะทำให้การผลิตชะลอตัวลง
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งมีแนวโน้มการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ใช้ในประเทศ เช่น ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ ผู้ผลิตกระป๋องและเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มหันมาใช้ เหล็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เหล็กทรงยาวมีแนวโน้มทรงตัวเป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2550 โดยประมาณการจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 จึงคาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกายังอยู่ในทิศทางขาลงแต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2550 คาดว่าน่าจะคงทรงตัวจาก เดือนมกราคม 2550 เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ วันทำงานค่อนข้างน้อยจากเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นนั้นคาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อการขายในช่วงหน้าร้อนที่มาถึงนี้ นอกจากนี้ในตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มดีได้แก่ ตลาดอียู ตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้มีทีท่าว่าจะได้ดีเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าเองด้วย ขณะที่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีสถานการณ์การผลิตและการขายในภาพรวมที่ดีและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรกอาจขยายตัวบ้างแต่ยังไม่ร้อนแรงมากนัก ในช่วงหลังของปีอันเป็นช่วงสูงสุดของการผลิตและขายจะมีการขยายตัวสูงมากกว่า 10 %
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ธ.ค. 49 = 164.83
ม.ค. 50 = 168.65
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี เพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตน้ำตาล
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ธ.ค. 49 = 64.16
ม.ค. 50 = 65.45
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ
- การผลิตน้ำตาล
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลง จากการลดลงของคำสั่งซื้อ สำหรับการจำหน่ายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเทศกาลตรุษจีน
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 4.4 โดยสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 16.1 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 6.7 และสับปะรดกระป๋องร้อยละ 19.0 เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวลงจากช่วงเทศกาลสำคัญๆ ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ร้อยละ 8.8 ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 6.4 สำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ กลุ่มสินค้าน้ำมันพืช ปาล์มน้ำมันมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 ส่วนถั่วเหลืองมีการผลิตลดลง ร้อยละ 11.2 และอาหารสัตว์ผลิตลดลงถึงร้อยละ 22.2 เนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก สำหรับน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงเปิดหีบฤดูกาลผลิต 49/50 ผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 30.3 เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้กำลังผลิตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 56.3 จากปี 2549 ที่ระดับร้อยละ 43.0
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 9.3 และ 11.2 พิจารณาได้จากการบริโภคสินค้าไก่และกุ้ง ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.1 และ 43.1 ตามลำดับ
2) ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลตามพิกัดศุลกากร 2007 ทำให้ไม่มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวเล็กน้อย เป็นผลจาก ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ขณะที่การจำหน่ายสินค้าในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเทศกาลตรุษจีน
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล (ธันวาคม)
1. น้ำตาลทราย
1.1 การผลิต
ในฤดูการผลิตปี 2549/2550 เริ่มเปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้ผลิตน้ำตาลทรายในเดือนธันวาคม 2549 จำนวนทั้งสิ้น 1,019,436.36 ตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 720,437.25 ตัน หรือ 71% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
1.2 การบริโภค
ในเดือนธันวาคม 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 185,055.19 ตัน ลดลง 2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภค จำนวน 189,356.19 ตัน สำหรับการบริโภคโดยรวมตั้งแต่เดือนมกราคม — ธันวาคม 2549 (12 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,281,317.81 ตัน เพิ่มขึ้น 3% จากในช่วง เดียวกันของปี 2548
1.3 การส่งออก
ในเดือนธันวาคม 2549 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 177,687.52 ตัน ลดลง 29% จากเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 248,397.01 ตัน
การส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม — ธันวาคม 2549 (12 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,192,679.19 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 1,185,682.19 ตัน หรือ 54% ของปริมาณการส่งออก ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปี 2548
1.4 การนำเข้า
ในเดือนธันวาคม 2549 ไม่มีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากต่างประเทศ ส่วนในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2549 (12 เดือน) มีการนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น 10,415.77 ตัน
ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม — ธันวาคม 2549 ยังคงไม่เกินโควตานำเข้าภายใต้กรอบ WTO ซึ่งประเทศไทยผูกพันไว้ที่ จำนวน 13,760 ตัน ที่อัตราภาษีนำเข้า 65% ส่วนอัตราภาษีนอกโควตาอยู่ที่ 94%
2. กากน้ำตาล
ในเดือนธันวาคม 2549 มีการผลิตกากน้ำตาล จำนวน 410,527.07 ตัน ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2549 (12 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,400,591.72 ตัน
การส่งออกกากน้ำตาลในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,925.00 ตัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม — ธันวาคม 2549 มีจำนวน 501,477.73 ตัน ลดลง 66% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งส่งออกได้ถึง 1,477,344.36 ตัน
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“...การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศเวียดนามทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามสูงขึ้น เนื่องจากเวียดนามเป็นคู่แข่งในการส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปเหมือนประเทศไทย”
1. การผลิต
ภาวะการผลิตหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดือนมกราคม 2550 โดยรวมมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ผ้าผืนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ผ้าลูกไม้ ผ้านวม ผ้าห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 มีเพียงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอที่ลดลงร้อยละ 1.8 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงโดย เฉพาะสินค้าที่ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ได้แก่เส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ 10.1 ผ้าทอ ผ้าขนหนู ลดลงร้อยละ 8.3 เนื่องจากมีการนำเข้าสำเร็จรูปมากขึ้นเพื่อทดแทนการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเส้นใยสิ่งทอ ฯ
2. การจำหน่าย
2.1. การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2550 โดยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ยกเว้นเพียงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักลดลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากเป็นสินค้าผลิตเพื่อการส่งออกและความต้องการบริโภคในประเทศมีไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลง
2.2. ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลพิกัดศุลกากร ปี 2007 จึงไม่มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้า สำเร็จรูป จะชะลอตัวเล็กน้อย จากปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามเป็นคู่แข่งในการส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปเหมือนประเทศไทย และสามารถส่งสินค้า ไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้เต็มที่ไม่จำกัดโควต้า ทำให้ความ สามารถ ในการแข่งขันของเวียดนามสูงขึ้น จากต้นทุนแรงงานถูกกว่าไทย 1 เท่า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะต้องมีการปรับตัวมากขึ้นและอาจจะทำให้การผลิตชะลอตัวลง
4. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
บริษัท นิปปอน สตีล เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด จาก 36.33% เป็น 44.70% หลังจากที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง จาก 19.5% เหลือ 5% โดยกระจายหุ้นให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่นรายอื่น เช่น ซูมิโตโม เมทัล จาก 2.0% เป็น 2.5% มิตซุย แอนด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จาก 7.0% เป็น 8.61% และ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จาก 3.88% เป็น 4.77%
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ม.ค. 50 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.35 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 143.55 เมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.40 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.59 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.69 เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นหลังจากชะลอตัวลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.10 โดยลวดเหล็กและเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.01 และ 19.44 ตามลำดับ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.36 เนื่องจากในเดือนนี้ผู้ผลิตได้เริ่มขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นหลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงปลายปีและมีวันหยุดมาก ผู้ผลิตจึงลดปริมาณการผลิตลง ขณะที่ผู้สั่งซื้อเองไม่ค่อยสต๊อกสินค้าไว้เพื่อเป็นการบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้สูงในช่วงปลายปี จึงมีผลให้ในเดือนมกราคมผู้ผลิตต้องเริ่มขยายการผลิตขึ้น ประกอบกับโดยปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงฤดูการขายของสินค้าเหล็กด้วย ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตขยายตัวขึ้น ร้อยละ 13.75 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อนและรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 203.20 และ 193.68 ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วโรงงานได้หยุดการผลิตสินค้าชั่วคราวประมาณ 2-3 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณวัตถุดิบมีไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการผลิต
2.ราคาเหล็ก
การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวปรับตัวสูงขึ้นโดยเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 424 เป็น 476 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.39 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 456 เป็น 497 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.05 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 513 เป็น 526 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.56 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 585 เป็น 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.56 และเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 433 เป็น 435 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.58 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศต่างๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบ CIS ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและ EU ประกอบกับการที่ประเทศจีนส่งออกสินค้าเหล็กไปยัง EU มากขึ้น โดยในปี 2006ขยายตัวขึ้นถึง ร้อยละ 450 ซึ่งปัญหาเรื่องนี้คณะกรรมการการค้าของยุโรปได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ของประเทศจีน (MOFCOM) และให้ประเทศจีนควบคุมปริมาณการส่งออกเหล็กไปยัง EU ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้รับปากที่จะใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเหล็กไปยัง EU ในปี 2007 รวมถึงการออกกฎหมายในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมและหาตลาดส่งออกใหม่นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและ EU นอกจากนั้น ทาง EU ยังขู่ว่าถ้าการส่งออกจากจีนไป EU ยังไม่ลดลงทาง EU จะดำเนินการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งมีผลให้ขณะนี้รัฐบาลจีนได้เริ่มควบคุมการส่งออกสินค้าเหล็กบางอย่างไปยัง EU แล้ว เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กลวด เป็นต้น
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน มี.ค. คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งมีแนวโน้มการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ใช้ในประเทศ เช่น ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ ผู้ผลิตกระป๋องและเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มหันมาใช้ เหล็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เหล็กทรงยาวมีแนวโน้มทรงตัวเป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ
5. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2550 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 เนื่องจากในเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลจำหน่ายผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายได้เร่งการจำหน่ายเพื่อปิดยอดขายของปี 2549 ประกอบกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในหลายจุดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ส่งผลทางด้านจิตวิทยาแก่ผู้บริโภค นักลงทุน และผู้ประกอบการ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นและชะลอการบริโภค การลงทุน โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 86,458 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 86,197 คัน ร้อยละ 0.30 แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 5.77
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 38,643 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 50,454 คัน ร้อยละ 23.41 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 54.28
- การส่งออกรถยนต์ จำนวน 40,708 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 38,842 คัน ร้อยละ 23.95 แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 25.85 โดยมีการส่งออกรถยนต์กระบะ 1 ตัน (รวม PPV) ร้อยละ 72.83 และรถยนต์นั่งร้อยละ 27.17
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2550 โดยประมาณการจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2550 การผลิตขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 แต่การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 160,630 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 197,454 คัน ร้อยละ 18.65 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 5.27
- การจำหน่าย จำนวน 150,672 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 170,880 คัน ร้อยละ 11.83 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 7.67
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU) มีจำนวน 3,653 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 12,376 คัน ร้อยละ 70.48 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 ร้อยละ 22.83
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าจะขยายตัวจากเดือนมกราคม 2550 เนื่องจากมีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด
6.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก ปี 2549 สำหรับการส่งออกลดลง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังคงชะลอตัว”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ เดือนมกราคม 2550 เทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 3.04 และ 0.38 ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก ปี 2549 ทำให้ตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอคำสั่งซื้อลง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 3.74 แต่การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.17
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมกราคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.34 และ 27.19 ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังคงชะลอตัว
3.แนวโน้ม
ในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2550
ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 จึงคาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก สำหรับการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกายังอยู่ในทิศทางขาลงแต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
7. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนม.ค. 2550 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 248.14 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.83 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.53 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ HDD และ Other IC เป็นต้น
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2550 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 248.14 ลดลงร้อยละ 6.06 เป็นผลจากการชะลอตัวจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ที่มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่ระดับ 331.91 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.62 สินค้าที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนได้แก่ HDD เนื่องจากได้เร่งทำการผลิตในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.83 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.53 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD และ Other IC เป็นต้น
2. การตลาด
ดัชนีส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 9.41 โดยมีดัชนีอยู่ที่ 264.94 เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่เป็นช่วงสูงสุด (ก.ย.-ธ.ค.) ของการผลิตและขายไปแล้ว โดยสินค้าที่ส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD
และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีการส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 28.07 เป็นผลจาก HDD และ Other IC ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 40.34 และ 23.81 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าทั้งสองเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่มีอยู่ในตลาดโลกที่ต้องการส่วนประกอบไปใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภท Consumer electronics เช่น MP3 Player, PC, กล้องดิจิตอลต่างๆ ขณะที่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศค่อนข้างมีการเติบโตสูงเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากตลาดของหน่วยบันทึกข้อมูลแบบพกพาหรือแบบแฟลชสตอเรจ ที่ใช้ในกล้องดิจิตอล พีดีเอ โทรศัพท์มือถือมีความจุในการเก็บมาขึ้นสวนทางกับราคาที่ลดลงจากการแข่งขันเพื่อรักษา Market Share ของแต่ละค่าย ซึ่งคาดกันว่า ตลาดในประเทศของหน่วยบันทึกแบบนี้จะสูงถึง 5 พันล้านบาท และมีแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความจุมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่มีขนาดเล็กลงด้วย
3. แนวโน้ม
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2550 คาดว่าน่าจะคงทรงตัวจาก เดือนมกราคม 2550 เนื่องจากในเดือนก.พ.50 วันทำงานค่อนข้างน้อยจากเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นนั้นคาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อการขายในช่วงหน้าร้อนที่มาถึงนี้ นอกจากนี้ในตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มดีได้แก่ ตลาดอียู ตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้มีทีท่าว่าจะได้ดีเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าเองด้วย
ขณะที่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีสถานการณ์การผลิตและการขายในภาพรวมที่ดีและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรกอาจขยายตัวบ้างแต่ยังไม่ร้อนแรงมากนัก ในช่วงหลังของปีอันเป็นช่วงสูงสุดของการผลิตและขายจะมีการขยายตัวสูงมากกว่า 10 % ทีเดียว
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2550 มีค่า 168.65 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 (164.83) ร้อยละ 2.3 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (157.27) ร้อยละ 7.2
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมกราคม 2550 มีค่า 65.45 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 (64.16) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (66.88)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐานอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่อง แต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2550
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ