มาตรการ ธปท.ได้ผล กดบาทอ่อนค่าลง 2% ใน 1 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 19, 2007 14:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางธาริษา  วัฒนเกส เปิดเผยว่า มาตรการกันสำรอง 30% ที่ ธปท.ออกไปเมื่อวันที่ 18 ธค. 49 ได้ผลดี ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 2%  ใน 1 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยช่วง 1 ปี  โดยที่ผ่านมาค่าเงินมีแต่แข็งค่า ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยหรือบางประเทศแข็งค่าขึ้นด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2550 จะถดถอยลงจากปี 2549 เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการที่รายได้ของประเทศคู่ค้าลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับการลงทุนที่น่าจะชะลอตัวลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้ ธปท.ปรับลดประมาณการขยายตัวของจีดีพีลงจากปัจจุบัน ที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 4.5 - 5.5% โดยจะประกาศอัตราใหม่ในวันที่ 26 มกราคมนี้
ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวชมเชย ธปท. ที่ออกมาตรการกันสำรอง 30% เพราะหากไม่ออกมาตรการดังกล่าว ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่เงินทุนไหลเข้ามากดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาทำให้การส่งออกยังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ต่อไปได้ แม้จะชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกปี 2550 จะขยายตัวได้ 9% (กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 12%) จากที่การส่งออกปี 2549 ขยายตัว 16% ส่วนปริมาณการส่งออกปี 2550 จะขยายตัวได้ 5.6% จากที่ปริมาณการส่งออกปี 2549 ขยายตัวได้ 8.6% ในส่วนของการบริโภคในประเทศ คาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรจะกลับมาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นมีอำนาจซื้อดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัว 3.7 - 4.7% หรือเฉลี่ยที่ 4.2%
ประเด็นวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปตลอดหากค่าเงินในภูมิภาคเป็นเช่นไร ก็ควรเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในการรองรับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ