คำต่อคำ นายชวน หลีกภัย ในการอภิปรายในหัวข้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยในภาวะวิกฤติ

ข่าวการเมือง Friday May 25, 2007 17:40 —พรรคประชาธิปัตย์

          นมัสการพระคุณเจ้า ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ ถ้าพูดกันตามลำดับคนเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ได้พูด 2 ครั้ง (เสียงหัวเราะจากที่ประชุม) ท่านบรรหาญอย่าเพิ่งน้อยใจนะฮะ ให้เท่ากันนะครับ (เสียงหัวเราะจากที่ประชุม) ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ที่จริงแล้วหัวข้อในวันนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ และก็เป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งที่มีการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามีพระชนมมายุ 80 พรรษา วัตถุประสงค์ที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ได้เล่าให้ผมฟังในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะเริ่มเฉลิมฉลองในวาระสำคัญที่เป็นมงคลนี้ ผมก็จะออกนอกเรื่องนิดเดียวครับว่า เหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในท่ามกลางกระแสสังคม กระแสโลก และในท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องจงรักภักดี และก็มีอีกส่วนหนึ่งที่พยายามทำสิ่งที่ขัดแย้งสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน คือกรณีของเวปไซต์ต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นหน้าที่เราทุกคนหรือผู้ที่มีภาระหน้าที่โดยตรงจะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไข ดำเนินการ ไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องหาทางแก้ไข ภาระหน้าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ไม่ควรละเลย เพราะผมเชื่อว่า ถ้าคนไทยได้เห็นได้รู้สิ่งที่พวกนั้นทำ ไม่มีใครที่จะรับได้ ยกเว้นคนที่ทำ เพราะฉะนั้นวันนี้ ผมคิดว่าก็เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่เราจะได้มารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในส่วนหนึ่ง แต่ว่าโดยที่หัวข้อใหญ่คือ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นหัวข้อหลัก แต่ว่าหัวข้อหลักนี้ท่านประธานสภานิติบัญญัติฯ ได้กล่าวไปแล้ว ในส่วนที่เป็นภาระที่ท่านจามรศักดิ์มอบภารกิจให้พวกเราที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ก็คือ หัวข้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และในภาวะวิกฤติจะเห็นว่า การใช้หัวข้อนั้นเปลี่ยนไปจากพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และในภาวะวิกฤติ ความหมายก็หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะถ้าเรากล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็มี 3 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ผมก็ตีความว่าวัตถุประสงค์ก็เราจะพูดถึงช่วงระยะเวลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันคือช่วง 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ ซึ่งได้มีการเฉลิมฉลองไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ว่าผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะได้รำลึกย้อนหลังไปถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย อย่างน้อยจะได้เห็นความแนบแน่นของระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เท่าที่เราจะระลึกได้ว่าบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมีหลักฐานที่อ้างอิงได้เมื่อประมาณ 800 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องสุโขทัย ประวัติศาสตร์คงจะไปไกลกว่านั้นแต่ด้วยการไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องของตำนาน เป็นเรื่องเล่าเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานยืนยันเราก็เอาส่วนที่มีหลักฐานยืนยันว่าในช่วงประมาณ 800 ปีตั้งแต่สุโขทัยมาถึงปัจจุบัน ประเทศเราก็ไม่มีช่วงใดว่างเว้นการปกครองในระบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเรียกพ่อขุน พ่อหลวง หรือเรียกอย่างไรก็ตาม หรือพระเจ้าแผ่นดิน หรือชื่ออย่างอื่นก็ตาม แต่ก็คือการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะผ่านสุโขทัยมาอยุธยา ธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ยืนยันให้โลกได้รู้ว่าประเทศนี้มีความเป็นหนึ่งเดียวแนบแน่น ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องยาวนานมาในท่ามกลางความสงบและวิกฤติในแต่ละช่วงแต่ละเหตุการณ์แต่โครงสร้างการปกครองไม่ได้เปลี่ยน วิวัฒนการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในบางยุคบางสมัย เช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา 400 ปี พระมหากษัตริย์แต่ละองค์ก็พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองในแต่ละยุคของพระองค์ท่าน และแน่นอน ถ้าเราระลึกถึงประวัติศาสตร์ว่า 800 กว่าปีมาถึงวันนี้ ก็ได้สังเวยชีวิตของผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องบ้านเมือง
ในสมัยก่อนนั้นเมื่อมีศึกสงครามผู้ที่ต้องออกรบก็คือพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินรบชนะประเทศนั้นก็ชนะ เพราะฉะนั้นความมั่นคงของชาติบ้านเมืองนั้นได้มีการยอมรับว่าบ้านเมืองอยู่รอดมาได้ถึงวันนี้ก็คือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาที่พระเจ้าแผ่นดินได้คู่บ้านคู่เมือง อันนี้คือความเป็นจริงที่เราต้องตระหนักตั้งแต่ต้น และเราจะได้เข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำไมถึงได้เลือกระบบนี้ เหตุผลก็คือ เราก็ยอมรับระบบนี้มาตั้งแต่ 800 ปีแล้ว และก็เพื่อความเป็นธรรม ผมขอเท้าความว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 นั้น แท้จริงแล้วดำริริเริ่มก็มาจากพระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ ดังที่เราจะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า จะให้ลูกวชิราวุธพระราชทาน Constitution ในสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า รัฐธรรมนูญ ยังไม่มีคำว่า รัฐสภา ก็เรียกทับศัพท์เป็น Parliament เป็น Constitution นั่นคือความปรารถนาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเสด็จไปในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระเจ้าลูกยาเธอของพระองค์หลายพระองค์ก็ได้ไปเรียนหนังสือในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้พระเจ้าแผ่นดินเองคิดถึงการปกครองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคตแต่ว่ารัชกาลที่ 6 ทรงครองราชย์เพียง 10 กว่าปี ไม่ทันได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ได้วางรากฐานคือการศึกษาซึ่งเป็นตัวสำคัญที่สุดคือการออกกฎหมายพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในยุคของพระองค์ท่าน
เรื่องการศึกษานี้ต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2475 ที่การเลือกผู้แทนราษฎรนั้นต้องมีส่วนหนึ่งที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อรอให้คนจบการศึกษาระดับประถมได้สัดส่วนแล้วถึงจะยกเลิกแล้วก็เลือกตั้งแทนคนที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกกฎหมายการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับขึ้นมาก็วัตถุประสงค์คือการสร้างคนที่มีความรู้เพื่อรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้ก็เป็นคำตอบว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นไปคู่กับความรู้ของประชาชน เพราะเป็นการปกครองของประชาชน เป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน มาถึงรัชกาลที่ 7 เราต้องยอมรับว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในรัชกาลของพระองค์ท่าน แต่ติดขัดด้วยบรรดาอภิรัฐมนตรียับยั้งไว้ ผมเข้าใจว่าไม่ต่ำกว่า 2 — 3 ครั้งว่าคนไทยยังมีการศึกษาไม่มากพอที่จะรับการปกครองนี้ ผมเคยพูดว่า เมื่อเกิดการปฏิวัติของคณะผู้ก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผู้ที่คงจะมีความรู้สึกเสียใจที่สุด เสียพระทัยที่สุดก็น่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะพระองค์ต้องการพระราชทานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแน่นอนถ้าเป็นไปอย่างที่พระองค์ประสงค์ประวัติศาสตร์ของไทยก็อาจจะเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ผมเท้าความเรื่องนี้เพื่อให้เราได้เห็นคุณค่าสิ่งที่เรามีอยู่ในขณะนี้ว่า มันมาอย่างไร สถาบันที่เรามีอยู่คู่กับการปกครองบ้านเมืองคือสถาบันกษัตริย์นั้น มีความหมายอย่างไร ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ถ้าเราได้ระลึกตระหนักถึงอดีตเวลานี้เราจะคิดอะไรในวันนี้และวันข้างหน้าเราจะได้เข้าใจถ่องแท้เราจะได้เข้าใจลึกซึ้งไม่ฉาบฉวยไม่ผิวเผินไม่หลงไปกับกระแสเกินความจำเป็น สำหรับประเด็นที่ผมได้แยกไว้เมื่อสักครู่นี้ว่าท่านอาจารย์บวรศักดิ์ได้ตั้งหัวข้อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และในภาวะวิกฤติ ผมขอแยกออกเป็น 2 หัวข้อ เพื่อสะดวกในการครอบคลุมประเด็นไม่ให้ออกนอกประเด็นนี้ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยในฐานะที่เคยมีโอกาสได้รับใช้บ้านเมืองได้มีโอกาสรับสนองพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ประมาณ 6 ปีเศษ ๆ แน่นอนว่าได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ได้มีโอกาสได้ยินรับสั่ง ได้มีโอกาสได้กราบบังคมทูล ปรึกษาหารือในบางเรื่องที่ควรแก่การปรึกษาหารือได้มีการ ได้มีโอกาสได้รับกระแสพระราชดำรัส และได้มีโอกาสได้ติดตามพระองค์ไปในชนบทได้สนใจที่จะฟังพระองค์ท่านรับสั่งกับบุคคลต่าง ๆ และสถาบันต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ว่าเราไม่มีเวลาที่จะลงละเอียดถึงขนาดนั้น ผมก็ขอพูดในประเด็นนี้สั้น ๆ แต่เพียงว่า รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระมหากษัตริย์หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้น ดังที่ได้กล่าวได้ว่าหลักอยู่ตรงที่ได้กล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภาคณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็บัญญัติทำนองเดียวกัน แต่ว่าผมสังเกตอ่านให้ท่านฟังนะครับ
อำนาจฯปัอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภาคณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จบเพียงเท่านั้น แต่ร่างปี 2550 ฉบับนี้ที่กำลังเถียงกันอยู่มีวรรค 2 เกิดขึ้นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ประเดี๋ยวเราจะมาย้ำเรื่องนี้เพราะ ผมเชื่อว่าถ้าเราติดตามฟังพระราชดำรัสพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเราจะเห็นทรงตักเตือน หรือทรงแนะนำ ทรงให้โอวาทกับผู้บริหารในสถาบันต่าง ๆ ในเรื่องนี้ต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะฝ่ายศาลจะหนักที่สุดที่จะทรงรับสั่งถึงภารกิจของฝ่ายตุลาการ แต่ว่าในรัฐบาลในส่วนของคณะรัฐบาลนั้นแน่นอนว่าเป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจกลไกซึ่งเป็นของประชาชนผ่านทางคณะรัฐมนตรี หน้าที่ของรัฐบาลจึงเป็นผู้บริหารในนามของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ผ่านมายังคณะรัฐมนตรี ภารกิจของฝ่ายบริหารกับพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับนะครับ แต่ว่าผมจะถือโอกาสเรียนท่านทั้งหลายว่านั่นเป็นเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติจริงในฐานะผู้บริหารนั้นสิ่งที่ท่านต้องทำตั้งแต่เรื่องแรกก็คือการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดูเหมือนว่าจะเป็นพิธีการ แต่ว่าถ้าใครได้ระลึกถึงพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 แล้วท่านจะเห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงถือเรื่องการปฏิญาณสำคัญอย่างไร ทรงรับสั่งกับคณะรัฐมนตรีชุดนั้นว่าคราวนี้เป็นการตั้งรัฐบาลที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรัฐบาลแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่อง และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องถือว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนท่านจึงรัฐบาลของประชาชนถ้าทำดีก็เป็นความเจริญของประชาชนและประเทศชาติ ถ้าผิดพลาดก็เป็นความผิดพลาดของประเทศชาติในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามีความผิดพลาดใด ๆ ก็ถือว่าอันตรายต่อส่วนรวม เพราะว่าการตัดสินใด ๆ ที่ท่านได้ทำ การปฏิบัติในการปกครองของท่านจะมีผลกว้างไกล ฉะนั้นจึงขอให้ระลึกถึงคำปฏิญาณของท่าน คำปฏิญาณก็คือ
ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ทั้งจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ สั้น ๆ แต่ว่าพระองค์รับสั่งให้ระลึกถึงคำปฏิญาณของท่าน ผมเรียนว่าถ้าผู้ที่ถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นปฏิบัติไปตามสัตย์ปฏิญาณวิกฤติบ้านเมืองไม่เกิดครับ คือคำปฏิญาณสั้น ๆ เพียงไม่กี่ประโยคนั้นก็จะครอบคลุมการปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาล ด้วยหลักนิติธรรมแล้ว เพราะการปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นความหมายก็คือผู้บริหารต้องปฏิบัติไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดต้องเขียนวรรค 2 เข้ามา แต่ว่าแท้จริงแล้วส่วนนี้เป็นส่วนที่พระราชทานพระบรมราโชวาทมาก่อนในรัฐบาลก่อน ๆ อันนี้ถือเป็นสิ่งแรกที่อยากจะเรียนท่านทั้งหลายด้วยเวลาที่จำกัดที่จริงแล้วเราจะเห็นได้ชัดว่าในโอกาสต่าง ๆ นั้นนอกเหนือจากที่คณะมนตรีจะถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วยังได้รับพระราชทานคำแนะนำในการบริหารบ้านเมืองต่อเนื่องทุกรัฐบาล และไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเราต้องยอมรับว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่รัฐบาลเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเล่านั้นมีบุคคลอยู่ผู้เดียวที่ไม่ได้เปลี่ยนตลอด 60 ปีที่ผ่านมาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผ่านรัฐมนตรีมาแล้ว ผมว่า 20 คนนะครับ ตั้งแต่สมัยจอมพลป.พิบูลย์สงคราม จนถึง พล.อ.สุรยุทธ์ ร่วม 20 นะครับ ทรงผ่านรัฐบาลมาผมว่าเกือบ ผมว่าไม่ต่ำกว่า 50 ชุด ไม่นับรัฐมนตรีอีกสักกี่ 100 กี่ 1,000 คนนะครับ เพราะฉะนั้นทรงเห็นทรงประจักษ์ถึงความสำเร็จ ความผิดพลาด ความถูกต้อง ความไม่ถูกต้อง ความสุจริต ความไม่สุจริต ของบุคคลที่ทำงานทางฝ่ายรัฐบาล ประสบการณ์ที่พระองค์ท่านมีนั้นต้องถือว่าไม่มีผู้ใดในประเทศที่จะเทียบได้ ดังนั้นพระราชทานคำแนะนำ แต่ละเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย และยั่งรู้วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พระบรมราโชวาทที่พระราชทานในแต่ละครั้งจึงเป็นการป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างมาก วันนี้พูดถึงวิกฤติเรื่องน้ำถ้าไม่ใช่เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผมไม่ทราบว่าน้ำท่วมกรุงเทพเท่าไหร่ในปีที่ผ่านมา เราขาดแคลนน้ำเท่าไหร่ในช่วงหน้าแล้งแต่ละปี แม้จะมีส่วนราชการรับผิดชอบโดนตรงก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าโครงการหลัก ๆ ล้วนมาจากโครงการพระราชดำริ เพราะทรงอ่านแผนที่เก่งกว่าทุกคนในประเทศนี้ไม่ต้องดูพื้นที่จริง พระองค์เอาแผนที่มาดูก็รู้ว่ายอดเขานี้สูงเท่าไหร่ 2 ข้างนั้นสูงพอเก็บน้ำได้เท่าไหร่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดใด เพราะฉะนั้นวิกฤติของชีวิตประชาชนก็ได้รับการป้องกันเยียวยามาตั้งแต่ต้น แม้ไม่ทั้งหมด แต่ว่าส่วนหนึ่งก็คือมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้เราพูดเรื่องโภชนาการ วันนี้คนไทยเป็นโรคไขมันในเส้นเลือด เป็นโรคหัวใจกันมาก นึกถึงตอนที่เขาแจกปลานิล อาหารที่ดีที่สุดของคนในชาติก็คือปลาใครนึกถึงปลานิลเมื่อสมัยโน้นบ้างบังเอิญพวกผมเป็นนักเรียนอยู่รับแจกปลานิลคนละ 2 ตัว ตอนเรียนอยู่มัธยม ตายหมด เพราะไม่มีที่เลี้ยง แต่ว่านั่นคือการมองเห็นกาลข้างหน้าว่าปลาคืออาหารหลักที่เป็นประโยชน์วงการแพทย์ก็มาเตือนที่หลังด้วยซ้ำไป อันนี้คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน ถ้าเราจำได้พระราชทานคำแนะนำเกษตรกรโครงการพระราชดำริที่ทดลองทำตัวอย่าง หรือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และคนจน และทรงทดลองได้ผลรู้จริงถึงได้นำมาปฏิบัติ
วันนี้เรามีเหตุรุนแรงในภาคใต้ คำแนะนำของพระองค์ท่าน เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา ถ้าได้ทำตั้งแต่ต้นวิกฤติก็ไม่เกิดขึ้น ขอพูดเรื่องนี้ว่าในฐานะคนในพื้นที่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่พระองค์ท่านคงเสียพระทัยมาก เพราะทรงแก้ปัญหามาเกือบ 40 ปีที่เสด็จลงในพื้นที่ ในช่วงที่ทรงครองราชย์ได้มีตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 แล้วเสด็จทุกปี ความทรงเข้าใจถึงประวัติ ถึงอดีต ถึงปัญหาที่เป็นมาในอดีตจึงสามารถจับทางของการแก้ปัญหาได้ ปัญหาเลวร้ายในพื้นที่ที่มีความรุนแรงมายาวนานจึงได้ทุเลาเบาลงโดยลำดับไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าเหตุร้ายก็ลดน้อยลงไปจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ 2 ครั้ง ครั้งแรกก็คือสมัยจอมพลป. รณรงค์เรื่องวัฒนธรรมไทยนิยมอันนี้ก็ถือว่าเป็นการพลาดไปถึงพื้นที่นั้นที่ก่อให้เกิดคนคิดตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นตัวเป็นตนขึ้น ความผิดพลาดครั้งที่ 2 ที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดก็คือเมื่อ 5 — 6 ปีที่แล้ว เมื่อมองว่าปัญหาในพื้นที่ไม่มีอะไร เป็นเรื่องเล็กน้อยเรื่องโจรกระจอก ความพลาดดังกล่าวนั้นผมคิดว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ปัญหายาวนานให้เกิดความสามัคคีของคนพุทธ - มุสลิมพังทลาย วันนี้ก็อย่าวางใจนะครับถ้าเราคิดว่าคนใน 3 จังหวัดมีคนร้ายอยู่สักแค่ร้อยละ 1 เท่านั้นเอง ไม่กี่พันคน ไม่กี่หมื่นคน คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย แต่ว่าเวลามันจะไปมันจะพังไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่นะครับ มันไปเพราะคนส่วนน้อย และคนส่วนใหญ่ก็ไม่มีทางเลือกก็ต้องตามไปกับฝ่ายผู้ชนะ น่าเสียดายสิ่งที่พระองค์ท่านได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวไว้ต้องพังทลายลงไปด้วยการประเมินเหตุการณ์และการแก้ปัญหาที่ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย และเราต้องสูญเสียทุกวัน เมื่อวานนี้ก็หลายศพนะครับก็น่ากลัว เพราะว่าใช้วิธีเหี้ยมโหดทารุณ เพื่อไล่ให้คนออกนอกพื้นที่
ผมได้ทำหนังสือเรียนท่านประธาน คมช. ไปเมื่อเดือนมีนาคมแล้ว ขอให้ส่งคนไปปักหลักที่นั่นเพราะว่าคนพุทธกำลังออก บางหมู่บ้านที่เคยมีคนพุทธอยู่ ออกไปหมดแล้วแต่ตัวเลขมันคงไม่ปรากฎ แต่มีความจริงปรากฎ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เมื่อระลึกไปว่า ถ้าเราไม่ผิดพลาดไม่ตระหนักสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของเราก็จะไม่นองเลือดอย่างที่เป็นอยู่และเราไม่ต้องสูญเสียมากมาย เพียงแค่ไม่นานสูญเสียไปเป็นพันคน สองพัน สามพันคน มันไม่ควรจะสูญเสีย นั่นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ผมคิดว่าเราลืมไม่ได้ต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในโครงการพระราชดำริ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผมใช้คำว่าพระองค์ท่านไม่ทรงดูดาย ต่อปัญหาบ้านเมืองร่วมทุกข์ร้อนกับประชาชน โครงการที่ทรงตั้งมานั้น รัฐบาลทุกชุดจึงไม่มีใครคัดค้านหรือตัดงบประมาณของพระองค์ท่าน อันนี้ใครที่ทำหน้าที่ดูแลโครงการพระราชดำรินั้นก็ต้องระมัดระวังเพราะสมัยก่อนนั้นโครงการพระราชดำรินั้นเป็นโครงการเดียวที่รอดพ้นการคอร์รัปชั่นการทุจริต แต่เดี๋ยวนี้ลามไปแล้วครับ โครงการพระราชดำริก็กินไม่เลือกฮะ เดี๋ยวนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตรายเหมือนกัน
ผมขอข้ามเรื่องนี้ไปนะครับ เพราะจริง ๆ แล้ว เรื่องพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่า มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่เฉพาะจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐบาลต้องถวายสัตย์ปฏิญาณและต้องรับสนองพระบรมราชโองการในทุกเรื่องที่กฎหมายกำหนดเอาไว้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อย่างนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเข้ามาแทรกแซงภารกิจของรัฐบาลนอกจากพระราชทานคำแนะนำ ไม่เข้ามาแทรกแซงการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงข้าราชการ ไม่เคยเข้ามาแทรกแซง ผมได้นำการเปลี่ยนแปลงการโยกย้ายข้าราชการโดยเฉพาะในกระทรวงกลาโหมไปกราบบังคมทูล ทรงลงพระปรมาภิไธย ทรงซักถามเรื่องตัวบุคคลบ้าง แต่ไม่เคยมีเด็กฝากเลยครับ อันนี้คือสิ่งที่ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่า ในฐานะที่ได้ทำหน้าที่นี้อยู่หลายครั้ง จะมีที่ทรงเปลี่ยนจากการตัดสินใจของรัฐบาล ราชการ ก็คือเรื่องอภัยโทษ ทรงพระราชทานอภัยโทษในบางครั้ง สวนทางกับสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ อันนี้ก็เป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ในเรื่องนี้ครับ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเราทั้งหลายตั้งระวัง เพราะว่าบางเรื่องพระองค์ท่านรับสั่งเมื่อมีคนมาล่วงละเมิด พระองค์ท่านไม่อยากเป็นคู่กรณี กลายเป็นเหยื่อของสื่อต่างประเทศอย่างที่เราเห็นเมื่อศาลตัดสินฝรั่งคนหนึ่งและพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว เคยมีเรื่องหนึ่งผมเรียนท่านทั้งหลายนะครับคือ ผู้ต้องหายาเสพติดในอังกฤษ ถูกศาลตัดสินจำคุก นายกรัฐมนตรี นายจอห์น เมเจอร์ ขอมายังรัฐบาล กราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานอภัยโทษต่อมาทรงพระราชทานให้ แหม่ม 2 คนนี้กลับไปให้สัมภาษณ์โกหกให้เสียหายต่อบ้านเมือง ผมต้องทำหนังสือถึงนายกฯ จอห์น เมเจอร์ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอภัยโทษให้เช่นนี้แทนที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณกลับไปโกหกในประเทศอังกฤษ นายกรัฐมนตรีก็ต้องขอโทษ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เห็นว่าจะขายเรื่องของตัวเองทำหนัง อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างดุลยพินิจของฝ่ายบริหารของรัฐบาล กับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ขออนุญาตให้เรื่องนี้ท่านอดีตนายกฯ บรรหาร และท่านอื่นได้พูดต่อไปนะครับ
ผมขอมาเรื่องวิกฤติ เพราะว่าในหัวข้อที่อาจารย์บวรศักดิ์ ได้กำหนดมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอเรียนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย กับภาวะวิกฤติ เรื่องของภาวะวิกฤตินั้นก็แล้วแต่เราจะมองกันว่าอะไรคือวิกฤติ วิกฤติของรัฐบาลไม่ได้หมายถึงวิกฤติของประเทศชาติ เมื่อรัฐบาลมีวิกฤติอยู่ไม่ได้ต้องยุบสภา นั่นไม่ใช่วิกฤติของประเทศชาติ เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดวิกฤติตอนผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก มีปัญหาต้องยุบสภา ผมก็เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเพื่อขอยุบสภา ขอพระองค์ท่านทรงลงพระปรมาภิไธยยุบสภา ทรงพระราชทานอนุญาตให้มีการยุบสภาตามที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจหน้าที่จะต้องปฏิบัติ นั่นก็ไม่ใช่วิกฤติของประเทศ หรือวิกฤติของประเทศชาติ หรือวิกฤติของบ้านเมือง แต่เป็นเรื่องของวิกฤติของพรรคการเมืองที่มีปัญหา รัฐบาลมีปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีทาง วิกฤติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจริงแล้วได้มีวิกฤติเกิดขึ้นในรัชกาลต่าง ๆ เช่นรัชกาลที่ 7 ถ้าเรานึกออกก็คือวิกฤติถึงขั้นที่ทรงสละราชบัลลังก์ นั่นก็ต้องถือว่าเป็นวิกฤติ แต่วิกฤติครั้งนั้นพระองค์ท่านก็ทรงยืนยันว่าทรงเต็มใจที่พระราชทานอำนาจให้แก่ประชาชน และทรงไม่ยอมรับการที่อำนาจนี้อยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ใช่ของประชาชน นั่นก็ต้องถือว่าเป็นวิกฤติของชาติบ้านเมือง ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงวิกฤติคนก็จะนึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คิดถึง 6 ตุลาคม 2519 คิดถึงพฤษภาคม 2535 และแน่นอน ที่รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า วิกฤติที่สุดในโลก ก็คือวิกฤติเมื่อปี 2549 ปีที่แล้ว ความจริงแล้ว วิกฤติต่อบ้านเมืองเราจะแบ่งได้อย่างนี้ครับ
เป็นวิกฤติภายในของเรา หรือเป็นวิกฤติที่มาจากข้างนอกด้วย วิกฤติภายในของเราเช่น 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลา 19 รวมทั้ง 2549 วิกฤติที่สุดในโลกก็เป็นวิกฤติภายใน ผมได้ลำดับเหตุการณ์เฉพาะในช่วงที่เห็นว่าเราได้เห็นด้วยตาเราเอง ทั้งในฐานะคน ๆ หนึ่ง ในฐานะผู้แทนราษฎร ในฐานะรัฐบาล ว่าช่วงระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดวิกฤติขึ้นในบ้านเมืองหลายครั้ง และทุกครั้งก็ต้องอาศัยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะยุติวิกฤติเหล่านั้นลงไป ไม่ว่า 14 ตุลา 16 หรือพฤษภา 35 แต่ว่าวิกฤติที่มาจากข้างนอกที่รุนแรงมากถึงขั้น เสียบ้านเสียเมืองนั้นก็คือวิกฤติที่เราไม่อยู่ในบัญชีนี้ แต่ว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นมาในภูมิภาคนี้ในอินโดจีน จนเชื่อว่าไทยก็จะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องล้มไปตามทฤษฎีโดมิโน ผมเรียนท่านเรื่องนี้เพราะว่าผมมีเพื่อนบางคนที่เชื่อว่าไทยก็ไม่รอดแล้ว ในที่สุดเขาย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในอเมริกา เรียนธรรมศาสตร์ด้วยกัน เขาประเมินเหตุการณ์ว่าไทยก็จะเหมือนกับลาว เขมร เวียดนาม คืออยู่ไม่ได้ กระแสในช่วงนั้นคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ในช่วงนั้นจะตระหนักนะครับว่ามันมีกระแสจากข้างนอกรุนแรงถึงความเปลี่ยนแปลง กระแสสังคมนิยมรุนแรงมาก ปี 2518 การเลือกตั้งคะแนนพรรคสังคมนิยมนั้นขึ้นมากเลยนะครับ ขึ้นมากได้รับเลือกตั้งอย่างมากแล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศอินโดจีน เจ้ามหาชีวิตลาว ก็พ้นไปด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พูดง่าย ๆ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ล้มไป เวียดนามก็ล้มไป กัมพูชาก็ล้มไป ไทยอยู่ติด ๆ ตรงนี้ เขาเชื่อว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะต้องล้มตามอินโดจีนเหล่านั้น เป็นความเชื่อคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น แต่ว่าท่านเชื่อไม๊ครับ ว่าในที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในประเทศอินโดจีน คนไทยถึงได้ตื่น ถึงได้เริ่มตระหนักและมองเห็นกระจ่างชัดได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อบ้านตัวเอง คนไทยส่วนหนึ่งตั้งหลัก ตั้งหลักทบทวนตัวเอง เราวัดได้จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2519 คะแนนที่เคยเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจในปี 2518 นั้นกลับตรงข้ามหมด พูดง่าย ๆ ว่าจาก 8,000 ก็เหลือ 800 นั่นเพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอินโดจีน ทำให้คนตกใจ แต่ว่าทั้งหมดนี้เพราะอะไร เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสั่งสมให้เกิดความจงรักภักดีเกิดความรู้สึกผูกพันหวงแหนไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นมาอยู่ในประเทศนี้ ผมคิดว่าช่วงนั้นบ้านเมืองรอดพ้นเหตุการณ์ปี 18 แม้ปี 19 6 ตุลาคม เกิดเหตุรุนแรงสูญเสียมากมาย แล้วมีคนเข้าป่า 2,000 กว่าคน มีนักศึกษาคนหนุ่มคนสาว 2,000 กว่าคน ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ผมเองเป็นคนถามในปี 2522 ถามรองผู้บัญชาการทหารบกที่มาชี้แจงกรรมาธิการฝ่ายปกครอง ผมเป็นอยู่ด้วยว่ามีคนเข้าป่าเท่าไหร่ ท่านก็บอกว่าประมาณ 2,000 กว่าคน เข้าไปด้วยความอยากจะเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ก็มี เข้าไปเพราะถูกกดดัน ถูกใส่ใคร้ เข้าไปเพื่อความอยู่รอดก็มี ผมถ้าเป็นวัยรุ่นก็คงไปแล้วครับ เพราะว่าผมก็ถูกข้อหาคอมมิวนิสต์ต้องหลบหนีอยู่เป็นเดือน หนังสือพิมพ์ก็พาดหัว ชวน โผล่ ล้านช้าง ที่ลาว สวามิภักดิ์ลาวแดง พาดหัวตัวเบ้อเร่อเลยนะครับ แต่ว่าด้วยตระหนักว่าเข้าไปทำอะไรเพื่อมาล้มล้างบ้านเมืองให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์เหรอ มันก็รับไม่ได้ รับคณะปฏิวัติไม่ได้แต่ว่าก็รับคอมมิวนิสต์ไม่ได้ แต่ว่าคนส่วนหนึ่งเข้าไปด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลง ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเป็นระบบโน้น เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีครับ แต่อาจจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่นั้นก็คือหนีเพื่อเอาตัวรอด ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของทหาร ตำรวจ ในขณะนั้น นั่นคือเหตุการณ์เมื่อปี 19 แต่ว่าเหตุการณ์นั้นเองครับ ที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสู้รบกับคนไทยด้วยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราได้ยินนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงอยู่ในบ้านเมืองเวลานี้หลายคนไปประกาศวิทยุของสถานีวิทยุคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกาศจะล้มล้างสถาบันในบ้านเมืองนี้ให้ได้ คนเหล่านั้นเชื่อว่ายังไม่ลืมนะครับ ผมทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าเราอยู่ได้อย่างปรกติสุขทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ด้วยพระบารมีปกเกล้าที่ทำให้บ้านเมืองนี้อยู่รอดอยู่ได้ อันนั้นคือวิกฤติที่ผมคิดว่า คนอาจจะไม่นับอยู่ในวิกฤติ แต่ผมถือว่านั่นคือวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย ที่ว่าเราจะอยู่รอดมีการปกครองระบอบนี้หรือเราจะเปลี่ยนไปเป็นระบบสังคมนิยม หรือเป็นคอมมิวนิสต์ นั่นคือเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งและแน่นอนที่สุดว่าผลพวงจากการแก้ปัญหาด้วยความเข้าอกเข้าใจกันเหตุร้ายก็ค่อย ๆ คลายมาดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ