โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดกรอบเวลา และแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและที่แน่ๆก็คือ จะจัดทำให้แล้วเสร็จเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 6 กรกฏาคม เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดทำประชามติต่อไป ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคณะกรรมาธิการยกร่างอันน่าชื่นชม
ที่น่าสนใจมากก็คือ การกำหนดประเด็นคำถามที่คณะกรรมาธิการยกร่างต้องการทราบความเห็นจากประชาชน โดยทั่วไป เพื่อประกอบการพิจารณาในการยกร่างถึง 20 คำถาม ซึ่งก็มีข่าวว่า ได้ก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างกันเองพอสมควรในทำนองที่ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสรับทราบมาก่อน หรือไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นด้วย ซึ่งก็ทำให้คนภายนอกที่ติดตามการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จึงพลอยมีความงุนงงไปด้วยว่า เพียงเริ่มต้นยกแรก คณะกรรมาธิการยกร่าง ก็เกิดความขัดแย้งในระหว่างกันเองเสียแล้วหรือ แต่ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ที่ใครต่อใครมักจะเกรงกันไปว่า จะมีการครอบงำคณะกรรมธิการยกร่างได้นั้น เห็นที่จะพอเบาใจกันได้แล้ว
เรื่องขององค์กรอิสระตามที่ได้ฟังจากข่าว ก็ดูเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งมีทั้งความเห็นที่จะทำให้องค์กรอิสระ เป็นอิสระจริงๆทั้งจะไม่ให้ ส.ว. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งอีกต่อไป โดยเห็นว่าควรจะมีองค์กรอื่นองค์กรเดียว ทำหน้าที่แต่งตั้ง แต่ก็ยังมีความเห็นที่อยากให้ยกเลิกองค์กรอิสระไปเลย
ผมเห็นว่า ทั้งประเด็น 20 คำถาม และทั้งประเด็นที่มีการถกเถียงกันในเรื่องขององค์กรอิสระว่า ควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของ สว. หรือแม้กระทั่งองค์กรหนึ่งเดียวที่จะให้มีบทบาทในการแต่งตั้ง ล้วนเป็นประเด็น สำคัญที่ควรจะได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้มาซึ่ง คำตอบสุดท้ายที่เหมาะสมกว่า ก่อนที่จะนำไปเป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ผมจึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ด้วยดังนี้
1. ประเด็น 20 คำถาม ผมเข้าใจว่า กรรมาธิการยกร่างผู้มีส่วนในการกำหนดประเด็นคำถามคงมีความมุ่งหมาย แต่เพียงว่า เพื่อให้ได้ความเห็นกลับมาพอที่จะนำมาวิเคราะห์เบื้องต้นก่อนที่จะกำหนดเป็นแนวทางในการยกร่างมากกว่าที่จะถือเป็นคำตอบว่าฝ่ายข้างมากคิดอย่างไร เพราะถ้าต้องการเช่นนั้น ประเด็นคำถามต้องมีความชัดเจนและรัดกุมมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งแม้แต่กรรมาธิการยกร่างด้วยกันเองก็ยังมีความเห็นว่า ค่อนข้างชี้นำเหมือนมีธงคำตอบไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตั้งใจว่าจะเสนอความคิดเห็นเป็นคำตอบต่อคำถามเหล่านั้นเป็นระยะๆในเวลาที่คณะกรรมาธิการยกร่างจะได้วิเคราะห์คำตอบที่ได้รับกลับคืน
2. ประเด็นขององค์กรอิสระที่คณะกรรมาธิการยกร่างถกเถียงกันว่าจะคงไว้ หรือตัดทิ้งเสียบ้าง
ผมเห็นว่าควรคงไว้ทั้งหมด เพราะโดยหลักการแล้ว เป็นประโยชน์ด้วยกันทุกองค์กร เพียงแตว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางส่วนถูกอิทธิพลจากฝ่ายการเมือง เข้าแทรกแซงและครอบงำทั้งในชั้นคณะกรรมการสรรหา ในขั้นการพิจารณาแต่งตั้งในชั้นวุฒิสภา และ ทั้งเมื่อได้ดำรงตำแหน่งแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไข ก็ต้องแก้ไขป้องกันที่เหตุปัจจัย ทั้ง 3 ขั้นตอน กล่าวคือ
2.1 การป้องกันในชั้นสรรหา ให้เลิกระบบสรรหาแบบเดิม หันมาใช้ระบบสรรหาโดยองค์กรเกี่ยวข้อง เลือกมาให้แต่ละส่วน ตามองค์ประกอบของผู้ดำรงตำแหน่ง เช่น จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จากที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด จากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา จากองค์กรวิชาการ หรือ วิชาชีพอิสระแห่งละกี่คน และให้คัดเลือกมาเท่ากับจำนวน ตำแหน่งที่มีอยู่
2.2 การป้องกันในชั้นพิจารณาแต่งตั้ง โดยสมาชิกวุฒิสภา ก็คือให้สมาชิกวุฒิสภา พิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ใช้วิธีคัดเลือก เอาเหมือนระบบเดิม เพราะรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่เสนอมา เท่ากับจำนวนตำแหน่งอยู่แล้ว รายใดไม่ได้รับความเห็นชอบก็ให้องค์กรที่คัดเลือกเดิม คัดเลือกเสนอมาใหม่ เมื่อมีตำแหน่งว่างลง ก็ใช้หลักเดียวกัน
ส่วนการถอดถอนวุฒิสภา ก็จะไม่มีอำนาจแต่จะให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2.3 การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำ เมื่อดำรงตำแหน่งแล้ว อาจกระทำได้โดยการแบ่งแยกอำนาจที่สำคัญควรจะได้ มีการตรวจสอบถ่วงดุล ให้เป็นอำนาจอิสระของอีกองค์กรหนึ่ง เช่น การให้ใบเหลืองใบแดง เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยศาลคดีเลือกตั้ง หรือการพิจารณาวินิจฉัย กรณีสำคัญมากๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะต้องกำหนดให้ใช้องค์คณะตุลาการคณะพิเศษ ที่กำหนดขึ้นเฉพาะเรื่อง เฉพาะครั้ง เป็นผู้พิจารณาเหล่านี้เป็นต้น
3. เรื่องที่มาของส.ว. ซึ่งบัดนี้ คณะอนุกรรมาธิการยกร่างมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง คือแนวทางหนึ่งมาจากการแต่งตั้งทางอ้อม โดยมีกรรมการสรรหาที่ปลอดจากฝ่ายการเมือง และอีกแนวทางหนึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยการให้ประชาชน เลือกคณะผู้เลือกตั้ง แล้วให้คณะผู้เลือกตั้งไปเลือก ส.ว.
ผมเห็นว่าเรื่อง ส.ว.นั้น เรามาไกลเกินไปกว่าที่จะใช้ระบบแต่งตั้งเสียแล้ว ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และที่สำคัญก็คือว่า เรายังคิดที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยอีกหรือไม่ ว่าส.ว.คือผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งถ้าจะไม่มาจากการเลือกตั้งแล้ว จะเรียกว่า เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างไร หรือแม้แต่อาจจะมีความคิดให้ผสมผสานกัน เป็นแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง อันนี้ก็คงไม่ดีแน่ เพราะอาจเกิดกรณีดูหมิ่นในระหว่างกันเองได้ ในเวลาที่มีความเห็นขัดแย้งกัน ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว
ส่วนจะเลือกตั้งโดยอ้อม โดยจะให้ประชาชนเลือกคณะผู้เลือกตั้ง แล้วให้คณะผู้เลือกตั้งไปเลือก สว.อีกชั้นหนึ่ง ทำไมต้องไปทำให้สลับซับซ้อนกันมากมาย น่าจะได้คิดหาวิธีง่ายๆ ธรรมดาๆ ก่อน เพราะประชาธิปไตยไม่ควรจะสลับซับซ้อนมากนัก ประชาชนจะยิ่งสับสน และเกิดความเบื่อหน่ายได้ ผมจึงมีความเห็นว่า ก็เลือกกันโดยตรงนี้แหละ เพราะประชาชนก็เคยเลือกกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอย่าเลือกแบบเดิมเพราะการเลือกตั้งแบบเดิมที่ใช้เขตจังหวัด เป็นเขตเลือกตั้ง ผลที่เกิดขึ้นก็มีจุดอ่อนให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ อย่างเช่นว่า ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมือง เพราะจะเป็นฐานเสียงเดียวกัน เป็นสภาเครือญาติ เป็นสภาผัว สภาเมีย อย่างที่ถูกวิจารณ์กันอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องของฐานเสียงเดียวกัน เช่นกัน และส่วนใหญ่ถูกแทรกแซงและครอบงำโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองได้โดยง่าย เพราะตอนเลือกตั้งก็อาศัยฐานเสียงของพรรคเขาในขณะเป็นส.ว. ก็เลยรับค่าตอบแทนพิเศษ จากเขาในแต่ละเดือนเสียด้วยเลย เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงเลือกตั้งแบบเดิม ก็คงแก้ปัญหาเดิมๆไม่ได้
ผมเห็นว่าทางหนึ่งที่พอจะแก้ไขปัญหาเดิมได้พอสมควร ก็คือการขยายเขตเลือกตั้งให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยมีผู้เสนอให้ใช้เขตประเทศแทน ซึ่งผมคิดว่า จะกว้างเกินไป จนยากที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้รับเลือกตั้งกับผู้เลือกตั้งได้ ทั้งทางปฏิบัติในการลงคะแนนเลือกตั้ง ในบัตรเลือกตั้ง ก็จะยุ่งยาก เพราะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งมาก
ผมจึงเห็นว่า เขตเลือกตั้งที่น่าจะมีความพอดี ที่พอจะอธิบายความสัมพันธ์ในระหว่างกันได้ จัดการเลือกตั้งก็ง่ายขึ้น พอที่จะขจัดอิทธิพลทางการเมือง อิทธิพลท้องถิ่น ขจัดภาพผู้ได้รับการเลือกตั้งทางเครือญาติได้ด้วย ก็คือใช้ภาคหรือใช้กลุ่มจังหวัดหลายๆ จังหวัด เป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง แต่ยังคงมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้แต่ละจังหวัด ยังคงต้องมีส.ว.อย่างน้อย 1 คน และนอกจากนั้นก็ให้เป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนประชากร เมื่อเทียบส่วนกับจำนวนส.ว.ทั้งหมด ที่มีทั้งประเทศ โดยให้ผู้เลือกตั้ง คนหนึ่งมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดได้ไม่เกิน 1 คน อย่างนี้ก็จะได้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ล้าหลังไปกว่าเดิม และไม่น่าจะมีจุดอ่อนแบบเดิมๆอีก
ส่วนในเรื่องของจำนวนส.ว. ที่คณะอนุกรรมาธิการยกร่างเห็นว่า ควรจะมีจำนวนถึง 60% ของจำนวนส.ว.นั้น ผมเห็นว่ามีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.น่าจะมีความเหมาะสมกว่า ในเวลาที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะมีส.ว.เป็นจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจะมีความพอดี
คณะกรรมาธิการยกร่างจะเห็นด้วยกับความเห็นของผมหรือไม่ ก็สุดแท้แต่ แต่ก็ขอให้สบายใจได้ว่า นี่ไม่ใช่ความเห็นของนักการเมือง เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง หรือของพรรคการเมืองอย่างแน่นอน
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 8 ก.พ. 2550--จบ--