อย่าให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวเร่งวิกฤต
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
12 เมษายน 2550
เรื่องสำคัญที่สำคัญแน่นอน และอาจเป็นปัญหาของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งก็ได้มีข้อยุติในชั้นของคณะกรรมาธิการยกร่างในประเด็นสำคัญ ๆ ไปแล้วหลายประเด็น ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ในขณะนี้
ที่ผมกล่าวว่าอาจเป็นปัญหาของชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า หากเรามีรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องไม่สมบูรณ์เมื่อใช้บังคับแล้วก็จะมีปัญหาตามมา ก็เท่ากับเป็นปัญหาของชาติในอนาคต และในขณะที่กำลังจัดทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้หากคณะกรรมาธิการยกร่าง และสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมากซึ่งถ้าถึงขนาดเกิดอาการรับไม่ได้ขึ้นมา ก็จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะตึงเครียดอยู่แล้วในเวลานี้ให้เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เพราะอาจกลายเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เกิดวิกฤตในประเทศได้ และนี่ก็เป็นปัญหาของชาติในปัจจุบันนั่นเอง
อาการรับไม่ได้ของคนจำนวนมากนั้น แสดงออกได้หลายทาง นับตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นโต้แย้งอย่างรุนแรง การรวมกลุ่มหรือชุมนุมคัดค้านไปจนถึงการไม่เห็นชอบด้วยในการออกเสียงประชามติ
การแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง แม้จะรุนแรง ก็อาจจะถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นรวมกลุ่มหรือชุมนุมคัดค้าน ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้นทุกทีก็คงไม่ธรรมดา และไม่ใช่เรื่องดีแน่ หรือการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการจัดทำประชามติก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะให้อำนาจแก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดที่เคยประกาศใช้มาแล้ว มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศเป็นรัฐธรมนูญต่อไปได้ก็ตาม ก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะประชาชนจะขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม และถ้ายิ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญของ คมช. และครม. มีปัญหาสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนอีกด้วย ก็จะยิ่งไปกันใหญ่
ผมเคยได้วิเคราะห์วิจารณ์สู่กันฟังมาแล้วตั้งแต่เมื่อตอนต้นเดือนธันวาคม 2549 ว่า ปี 2550 นี้อันตราย เพราะคลื่นใต้น้ำจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องด้วยภาวะแวดล้อมจะผลักดันให้ต้องเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะจะเป็นทั้งช่วงเวลาที่การพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองจะเสร็จสิ้นลงจะเป็นทั้งช่วงเวลาที่ คตส. จะมีคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นของคนในรัฐบาลก่อน ปัญหาของชาวบ้านที่มีอยู่ก็อาจจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และสุดท้ายก็คือปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย แนวคิดที่ขัดแย้งกัน จนอาจกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญได้
แม้ว่าในขณะนี้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่มีอะไรวิกฤตแต่สถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่ว ๆ ไปในขณะนี้ดูจะมีแนวโน้มอันตรายที่อาจจะกลายเป็นวิกฤตได้เสมอ เพราะแต่ละวันก็จะมีแต่ข่าวลือ ข่าวปล่อย เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ มีคลื่นการเมืองทั้งบนน้ำและใต้น้ำเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง ประเทศมีปัญหาเพิ่มขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และมีความผิดหวังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ความเชื่อมั่นในรัฐบาลจึงลดลงจนน่าวิตก ซึ่งถ้าเกิดแรงกระทบจากกรณียุบพรรคการเมือง ซึ่งใกล้เข้ามาเต็มที่แล้วรวมทั้งแรงป่วนจากกรณีชี้มูลความผิดเพราะทุจริต โดย คตส. เข้าไปด้วยแล้วความสับสนวุ่นวาย ที่จะกลายเป็นวิกฤตก็อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดกรณีขัดแย้งอย่างรุนแรงในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก ถึงขนาดที่เกิดอาการรับไม่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
ความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันประคับประคองมิให้เกิดกรณีฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่เสมอ กล่าวคือ
1. คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องจะต้องระมัดระวังมิให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สวนทางกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ อันอาจก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นได้
2. เรื่องใดประเด็นใด ที่เคยก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาแล้วในอดีต หรือที่ได้เคยผ่านการต่อสู้จนถึงขนาดเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว ก็ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
3. เรื่องใดประเด็นใดที่ดูจะล้าหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญเดิมที่เคยมีหรืออาจจะทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ควรจะได้ระมัดระวังมิให้มีประเด็นที่ว่านี้
4. คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องต้องมีความมุ่งหมายให้การจัดทำรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการจัดทำประชามติ ต้องไม่มีความคิดว่าไม่ผ่านก็เป็นเรื่องที่ คมช. และครม. จะต้องไปดำเนินการต่อ เพราะนั่นคือการสะสมเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดวิกฤตแน่นอน
5. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในชั้นยกร่างของคณะกรรมาธิการยกร่างแล้วเกิดมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยมากมายซึ่งมีแน่ คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องก็ควรจะได้เปิดใจกว้างที่จะรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะแสดงทีท่าให้เห็นว่ายังอาจแก้ไขได้ในพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญและก็ควรจะมีความจริงใจที่จะดำเนินการต่อไปในเรื่องที่มีเหตุผลรับฟังได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไป ประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว
หากทุกฝ่ายร่วมมือกันได้เช่นนี้นอกเหนือจากจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีข้อบกพร่องน้อยแล้วก็ยังจะได้ชื่อว่าได้ช่วยกันประคับประคองมิให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ในช่วงเวลาที่ใกล้จะถึงเดือนพฤษภาคมอย่างนี้ ถ้าจะได้รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 35 ไว้บ้างก็จะทำให้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท.
*****************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 12 เม.ย. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
12 เมษายน 2550
เรื่องสำคัญที่สำคัญแน่นอน และอาจเป็นปัญหาของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งก็ได้มีข้อยุติในชั้นของคณะกรรมาธิการยกร่างในประเด็นสำคัญ ๆ ไปแล้วหลายประเด็น ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ในขณะนี้
ที่ผมกล่าวว่าอาจเป็นปัญหาของชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า หากเรามีรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องไม่สมบูรณ์เมื่อใช้บังคับแล้วก็จะมีปัญหาตามมา ก็เท่ากับเป็นปัญหาของชาติในอนาคต และในขณะที่กำลังจัดทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้หากคณะกรรมาธิการยกร่าง และสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมากซึ่งถ้าถึงขนาดเกิดอาการรับไม่ได้ขึ้นมา ก็จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะตึงเครียดอยู่แล้วในเวลานี้ให้เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เพราะอาจกลายเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เกิดวิกฤตในประเทศได้ และนี่ก็เป็นปัญหาของชาติในปัจจุบันนั่นเอง
อาการรับไม่ได้ของคนจำนวนมากนั้น แสดงออกได้หลายทาง นับตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นโต้แย้งอย่างรุนแรง การรวมกลุ่มหรือชุมนุมคัดค้านไปจนถึงการไม่เห็นชอบด้วยในการออกเสียงประชามติ
การแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง แม้จะรุนแรง ก็อาจจะถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นรวมกลุ่มหรือชุมนุมคัดค้าน ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้นทุกทีก็คงไม่ธรรมดา และไม่ใช่เรื่องดีแน่ หรือการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการจัดทำประชามติก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะให้อำนาจแก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดที่เคยประกาศใช้มาแล้ว มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศเป็นรัฐธรมนูญต่อไปได้ก็ตาม ก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะประชาชนจะขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม และถ้ายิ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญของ คมช. และครม. มีปัญหาสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนอีกด้วย ก็จะยิ่งไปกันใหญ่
ผมเคยได้วิเคราะห์วิจารณ์สู่กันฟังมาแล้วตั้งแต่เมื่อตอนต้นเดือนธันวาคม 2549 ว่า ปี 2550 นี้อันตราย เพราะคลื่นใต้น้ำจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องด้วยภาวะแวดล้อมจะผลักดันให้ต้องเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะจะเป็นทั้งช่วงเวลาที่การพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองจะเสร็จสิ้นลงจะเป็นทั้งช่วงเวลาที่ คตส. จะมีคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นของคนในรัฐบาลก่อน ปัญหาของชาวบ้านที่มีอยู่ก็อาจจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และสุดท้ายก็คือปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย แนวคิดที่ขัดแย้งกัน จนอาจกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญได้
แม้ว่าในขณะนี้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่มีอะไรวิกฤตแต่สถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่ว ๆ ไปในขณะนี้ดูจะมีแนวโน้มอันตรายที่อาจจะกลายเป็นวิกฤตได้เสมอ เพราะแต่ละวันก็จะมีแต่ข่าวลือ ข่าวปล่อย เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ มีคลื่นการเมืองทั้งบนน้ำและใต้น้ำเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง ประเทศมีปัญหาเพิ่มขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และมีความผิดหวังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ความเชื่อมั่นในรัฐบาลจึงลดลงจนน่าวิตก ซึ่งถ้าเกิดแรงกระทบจากกรณียุบพรรคการเมือง ซึ่งใกล้เข้ามาเต็มที่แล้วรวมทั้งแรงป่วนจากกรณีชี้มูลความผิดเพราะทุจริต โดย คตส. เข้าไปด้วยแล้วความสับสนวุ่นวาย ที่จะกลายเป็นวิกฤตก็อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดกรณีขัดแย้งอย่างรุนแรงในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก ถึงขนาดที่เกิดอาการรับไม่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
ความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันประคับประคองมิให้เกิดกรณีฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่เสมอ กล่าวคือ
1. คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องจะต้องระมัดระวังมิให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สวนทางกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ อันอาจก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นได้
2. เรื่องใดประเด็นใด ที่เคยก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาแล้วในอดีต หรือที่ได้เคยผ่านการต่อสู้จนถึงขนาดเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว ก็ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
3. เรื่องใดประเด็นใดที่ดูจะล้าหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญเดิมที่เคยมีหรืออาจจะทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ควรจะได้ระมัดระวังมิให้มีประเด็นที่ว่านี้
4. คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องต้องมีความมุ่งหมายให้การจัดทำรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการจัดทำประชามติ ต้องไม่มีความคิดว่าไม่ผ่านก็เป็นเรื่องที่ คมช. และครม. จะต้องไปดำเนินการต่อ เพราะนั่นคือการสะสมเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดวิกฤตแน่นอน
5. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในชั้นยกร่างของคณะกรรมาธิการยกร่างแล้วเกิดมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยมากมายซึ่งมีแน่ คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องก็ควรจะได้เปิดใจกว้างที่จะรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะแสดงทีท่าให้เห็นว่ายังอาจแก้ไขได้ในพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญและก็ควรจะมีความจริงใจที่จะดำเนินการต่อไปในเรื่องที่มีเหตุผลรับฟังได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไป ประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว
หากทุกฝ่ายร่วมมือกันได้เช่นนี้นอกเหนือจากจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีข้อบกพร่องน้อยแล้วก็ยังจะได้ชื่อว่าได้ช่วยกันประคับประคองมิให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ในช่วงเวลาที่ใกล้จะถึงเดือนพฤษภาคมอย่างนี้ ถ้าจะได้รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 35 ไว้บ้างก็จะทำให้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท.
*****************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 12 เม.ย. 2550--จบ--