รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน ก.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2005 11:39 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2548
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคม 2548
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกรกฎาคม 2548 เท่ากับ 126.9
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
2.2 เดือนกรกฎาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 9.6
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้น
ร้อยละ 9.5
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน
2548 ร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 3.0 และ 1.3 ตามลำดับ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.1
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.1 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ คือ
- ข้าวเปลือกเจ้า ปริมาณซื้อขายมีไม่มาก จากความต้องการของโรงสีและผู้ส่งออกชะลอตัวขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดต่อเนื่อง
- พืชผัก ได้แก่ มะนาว ผักคะน้า แตงกวา ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอมและผักชี ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาล
- สุกรมีชีวิต ภาวะการจำหน่ายชะลอตัว เป็นผลจากราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคไก่และสัตว์น้ำแทน ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้สุกรเป็นสินค้าควบคุมและส่งเสริมการจำหน่ายในราคาถูก
- กุ้งกุลาดำ ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่การส่งออกชะลอตัวจากปัญหาการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันการชำระภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของกุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐรวมทั้งการเลื่อนให้ GSP ของสหภาพยุโรป
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.0 สินค้าสำคัญที่ราคา สูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ (NG) และ ก๊าซธรรมชาติเหลว
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ส่งผลให้เม็ดพลาสติกประเภทต่าง ๆ เช่น โพลีสไตริน (PS) โพลีเอทีลีน (PE) โพลีโพรพีลีน (PP) และอะคริโลไนทริล บิวทาไดอีนสไตริน (ABS) มีราคาสูงขึ้นด้วย
- ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือน้ำยางข้น
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และขวดพลาสติก ปรับราคาสูงขึ้นตามวัตถุดิบ คือ เม็ดพลาสติก
- ผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ แฮม ไส้กรอก และลูกชิ้น ปรับราคาตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
- สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทอง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5808 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ