ผู้ส่งออกห่วงค่าเงินบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2007 16:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นักค้าเงินของหลายธนาคาร กล่าวถึงภาวะค่าเงินบาทในช่วงเปิดตลาดเช้าวันที่ 11 กค. นี้ ที่ระดับ 33.42-33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเย็นวานนี้ซึ่งปิดตลาดที่ระดับ 33.46-33.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งขึ้นต่อเนื่องโดยมีแรงขายจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบการภายในประเทศ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนความเสี่ยงจากผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้า ซึ่งยังมีผลต่อความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน                              
ในขณะที่ภาคเอกชนและสมาคมทางการค้าหลายฝ่ายได้ให้ความเห็นว่า
1. การส่งออกปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 145,668 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 12.1 จากปี 2549 โดยครึ่งปีหลังจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยลบด้านค่าเงินบาทแข็งทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับราคาสินค้า
2. โดยผู้ส่งออกรายใหญ่พบว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ผู้ส่งออกรายเล็กประสบปัญหาและมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงขึ้นอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นปัญหาต่อเงินทุนหมุนเวียนส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสิ่งทอ
3. วันนี้ (11 กค.2550) บริษัทไทยศิลป์ อาคเนย์อิมพอร์ต เอ็กพอร์ต จำกัด ผู้ส่งออกสิ่งทอและการ์เมนท์ โดยรับจ้างผลิตสินค้าแบรนด์ไนกี้และอาดิดาส ได้ปิดกิจการกะทันหัน โดยคาดว่ากิจการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งต่อเนื่องส่งผลให้คนงานตกงานทันที 6,000 คน และรวมตัวประท้วง
4. ค่าเงินบาทของไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่แข็งค่าที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 6.9-7% ส่วนในประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 1-3% เท่านั้นขณะที่เวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทยแข็งค่าในระดับที่ติดลบ ดังนั้นคงต้องยอมรับแล้วว่าขณะนี้ถือเป็นวิกฤตค่าบาทแล้วโดยเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยควรที่จะทบทวนมาตรการต่างๆ ของค่าเงินว่าทั้งหมดที่เคยออกมานั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปหรือไม่
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างผิดปกติโดยปัจจัยหลักมาจากเงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมากไม่ได้เป็นผลมาจากการที่ (ธปท.)อนุญาตให้ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(นอน-เรสซิเด้นท์) กู้ยืมเงินบาทจากตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) เพื่อปิดภาระป้องกันความเสี่ยง (hending) ในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังไม่มีผลในทางปฏิบัติในขณะนี้แต่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กค.—17 สค.2550 โดยการอนุญาตให้กู้ยืมเงินบาทดังกล่าวจะไม่กดดันค่าเงินบาททั้งในช่วงนี้และในช่วงที่มีการทำธุรกรรมจริงเพราะ (ธปท.) ได้กำหนดให้ต้องทำทั้งด้านซื้อและขายไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม (ธปท.) พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่ขณะนี้มีเงินต่างประเทศไหลเข้ามามากในตลาดหุ้นจึงไม่อยากให้ผู้ส่งออกตกใจเพราะค่าเงินบาทเป็นไปตามภูมิภาคหาก (ธปท.) พยายามทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปจากความจริงเงินทุนจากต่างประเทศอาจจะไหลเข้ามามากกว่าในขณะนี้เพราะสามารถที่จะลงทุนเก็งกำไรได้มากกว่าจึงไม่อยากให้ผู้ส่งออกเทขายเงินเหรียญสหรัฐฯออกมา
ประเด็นวิเคราะห์
นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ได้พยายามหาทางออกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกในการรักษาการส่งออกให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องและอยู่รอดได้ในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าควรพิจารณาดังนี้
1. ระยะสั้น
1.1 กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าที่มี Import Content สูงควรมีการบริหารจัดการที่ดีในการ matching ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นดอลลาร์สหรัฐกับรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินสกุลเดียวกัน พร้อมๆ ไปกับมีกระบวนการจัดการด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้มีน้อยที่สุด
1.2 กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าที่มี Import Content ต่ำ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากค่าบาทที่แข็งในการนำเข้า
วัตถุดิบมาช่วยชดเชยรายได้ส่งออกเป็นบาทที่ลดลง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ควรบริหารจัดการคำสั่งซื้อให้ดี และใช้ประโยชน์จากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนลง
2. ระยะปานกลาง
2.1 การตัดสินใจลงทุน upgrade เทคโนโลยี ในภาวะที่หลายอุตสาหกรรมมีปริมาณการผลิตใกล้เต็มกำลังการผลิตแล้ว ขณะที่บาทแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อเตรียมพร้อมในการขยายกำลังการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น อันจะเป็นข้อได้เปรียบประเทศคู่แข่งใหม่ๆ หลายประเทศในการแข่งขันกันในเวทีการค้าโลก
2.2 การย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ในระยะปานกลาง ผู้ประกอบการบางรายอาจถึงเวลาที่จำเป็นต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออาศัยประโยชน์จากความพร้อมของแรงงาน วัตถุดิบ การมีตลาดขนาดใหญ่ รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ อาทิ สิทธิ GSP และค่าเงินที่มีเสถียรภาพเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของขนาดตลาดในประเทศ พร้อมไปกับลดต้นทุนการผลิตลง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดส่งออก
2.3 การขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ จีนและอินโดจีน ซึ่งล้วนเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงมาก ขณะที่อำนาจซื้อยังค่อนข้างต่ำ (ยกเว้นตะวันออกกลาง) จึงมักนิยมซื้อสินค้าคุณภาพปานกลางในราคาไม่สูงนัก ซึ่งสินค้าไทยสามารถรองรับความต้องการของตลาดเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีเพื่อลดผลกระทบจากตลาดหลักที่อาจหดตัวลง
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ