(ต่อ1) สรุปการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ข่าวการเมือง Thursday May 24, 2007 10:27 —รัฐสภา

จริยธรรม วัฒนธรรมทางการเมือง โดยการจัดให้มี “สภาพัฒนาการเมือง” เป็นองค์กรหลักในการ จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมือง รวมทั้งทำหน้าที่ประสาน ติดตาม กำกับ การดำเนินการตามแผน       แม่บทพัฒนาการเมืองให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองและยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม ๒๘ เวที มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน             พร้อมกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการได้ดำเนินการ            รายงานผลของการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมืองและการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง จะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพื่อการวางรากฐานที่สำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับถาวร และจะได้ดำเนินการสนับสนุนประชาชนในการแสดงประชามติที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐ นี้ และการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันกับ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรมการจัด การเลือกตั้ง ที่เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงวันอาทิตย์ที่ ๑๖ หรือวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทั้งในประเทศและนานาอารยะประเทศ ว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อไป อันจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในระยะต่อไปด้วย
ในการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งในด้านการศึกษาและ ปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการเน้นการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของการปฏิรูป การเมือง นอกจากนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้าสู่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ ๓ หรือระบบ ๓G เป็นต้น
๒. การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการ
น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และผลักดัน ให้เกิดการปฏิบัติในสังคมไทย โดยใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบความยั่งยืนและความพอดี โดยเน้นให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำ และผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาประกอบด้วยการดำเนินงานใน ๓ ระดับ คือ
ระดับเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้เกิดความ เข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนการพัฒนาการเกษตร ตามแนวทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็น ทางเลือกสำหรับเกษตรกรรายย่อย ควบคู่ไปกับการขยายโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยกระดับของผลผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยี การจัดการ และการเชื่อมโยงกับการตลาด
ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรตาม แนวทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยผ่านศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน ๔๐ ศูนย์ และมีเกษตรกรเข้าร่วม ๒๐,๐๐๐ ราย ได้ดำเนินการจัดการหนี้สินของเกษตรกร โดยผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และการดูแลราคาสินค้าเกษตร ได้ทำให้ราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ปรับตัวสูงขึ้นจากตันละ ๘,๙๐๐-๙,๔๐๐ บาท ในปีที่แล้ว เป็นตันละ ๑๑,๓๐๐-๑๑,๕๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๑.๖ ราคาหัวมันสด ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑.๓๐-๑.๔๐ บาท จากกิโลกรัมละ ๑.๐๕ บาท เป็นต้น
การสร้างความเข้มแข็งของประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันต่อการ เปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่นเป็นลำดับแรก โดยประชาชนและชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่น ต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการเสริมสร้างอาชีพและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น รัฐบาลจึงได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชนและชุมชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวางต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้และดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นฐานของคุณธรรม
ความรู้ และความเพียร ในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความสมดุลของกระบวนการพัฒนาที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิสังคม สนับสนุนภาคเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนที่ไม่พร้อมหรือผู้ที่ ไม่สามารถปรับตัวได้ด้วยการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ชุมชนต้องมิให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จำเป็นต้องปรับปรุงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในภูมิภาค รัฐบาลจึงได้ให้ความเห็นชอบ งบประมาณจำนวน ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคม ให้ร่วมกันรับผิดชอบบริหารและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
ระดับเศรษฐกิจระบบตลาด รัฐบาลถือเป็นนโยบายที่จะให้กลไกการตลาดสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ภายใต้หลักคุณธรรมและการสร้างความเป็นธรรมในภาคเศรษฐกิจและขจัดการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยรัฐบาลได้อาศัยกลไกการตลาดเสรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้วยความเป็นธรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งออกและการท่องเที่ยว
รัฐบาลได้วางรากฐานให้การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาค อุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักของประเทศ และมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศนั้น ในระยะเร่งด่วน รัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๐ เป็นต้นไป ครอบคลุม ๕ มาตรการหลัก คือ ๑. ลดมลพิษทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ๒. ติดตามและตรวจสอบระดับมลพิษ ๓. ดูแลด้านสาธารณสุขและอนามัยของประชาชน ๔. ศึกษาความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมของพื้นที่ในอนาคต และ ๕. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบ
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระยะยาวและจัดตั้งกลไกบริหารจัดการที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการสร้างระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วมของ ๓ ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สร้างระบบธรรมาภิบาลในองค์กร และตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และจัดให้มีการศึกษาเตรียมการพัฒนาพื้นที่เพื่อ
รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของประเทศในอนาคต โดยกำหนดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของขีดความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะมลภาวะและผลกระทบต่อสุขอนามัยของแรงงานและประชาชน และการมีส่วนร่วมของ ชุมชนในพื้นที่
ระดับเศรษฐกิจส่วนรวม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยได้ดำเนินการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจส่วนรวม และการจัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้ติดตามดูแลความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท และการเคลื่อนย้ายของเงินทุนนำเข้า เพื่อมิให้ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันตามที่ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในนโยบายรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องการเน้นการขยายตัวอย่างมีคุณภาพของระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ได้ผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง ด้วยการพัฒนา ผลิตภาพที่เกิดจากภายในและร่วมมือกับภาครัฐอย่างบูรณาการ ซึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการสำคัญที่เป็นการวางรากฐานการพัฒนา โดยการเร่งรัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและแผนแม่บทการสร้างเสริม ประสิทธิภาพแห่งชาติ เพื่อการวางรากฐานการยกระดับประสิทธิภาพไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม โดยได้เริ่มจากภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก และจะขยายไปสู่ภาคการผลิตและบริการสาขาอื่น ๆ ในระยะต่อไป
๓. การดำเนินนโยบายทางสังคม
รัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นฐานของคุณธรรม จากสาเหตุหลักในเรื่องความขัดแย้งของสังคม ซึ่งเป็นต้นเหตุโยงไปสู่ปัญหาการเมือง การเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ รัฐบาลนี้จึงได้ดำเนินการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยจัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขที่เน้น การสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริมการสร้างสังคมสันติสุขบนพื้นฐานวัฒนธรรมไทย ด้วยการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัด และเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาที่ยึดคุณธรรมนำความรู้ การสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมการจัด ค่ายต่าง ๆ
สำหรับการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนนั้น รัฐบาลได้มุ่งพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และผลักดันการสร้างสมดุลของระบบบริการสุขภาพ ทั้งในด้านการเสริมสร้าง ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมการลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงภายใต้โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งรัฐบาลยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ
สุขภาพแห่งชาติ และประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้านบาท
สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมและความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ ๕ ปี สร้างสวัสดิการสังคมไทย ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) และแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมไทยเพื่อชีวิตมั่นคง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสังคมและความคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส และในการดำเนินงานด้านการปฏิรูประบบยุติธรรมนั้น รัฐบาลได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้านการนำกระบวนการยุติธรรม เชิงสมานฉันท์มาใช้โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักและกำลังพัฒนาระบบงานตำรวจให้โปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำ “แผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์” เพื่อมุ่งลดความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้มาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการ ได้แก่ การเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้ การพัฒนาสุขภาวะของประชาชนให้ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิตใจ และปัญญา โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ การส่งเสริมกีฬาพื้นฐานและกีฬามวลชน เพื่อให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ โดยการจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายทั้งในรูปลานกีฬาและสวนสุขภาพ ในทุกชุมชนกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ทั่วประเทศ ให้บริการประชาชนได้กว่า ๗ ล้านคน นอกจากนี้รัฐบาล ยังได้มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ปัญหาสังคม ยาเสพติด และความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดระบบสวัสดิการชุมชนให้เชื่อมโยงกับการจัดสวัสดิการสังคมของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการแก้ปัญหา และฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติขึ้น เพื่อเป็นกลไกประสานงานดำเนินการใน ๒๙ จังหวัด
รัฐบาลยังได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความ เข้มแข็งของสังคม สถาบันครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทย เช่น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สร้างสวัสดิการสังคมไทย ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมไทยเพื่อชีวิตมั่นคง แผนปฏิบัติการส่งเสริมสถาบันครอบครัว (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔ แผนคุณธรรม จริยธรรม เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนมีคุณธรรม เป็นต้น
๔. การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ
รัฐบาลได้ดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกมุสลิม และร่วมมือกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมุสลิม ทั้งด้านการข่าวและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การควบคุมพื้นที่แนวชายแดน โดยรัฐบาลได้ดำเนิน
ยุทธศาสตร์ของไทยต่อองค์กรและประเทศสำคัญในโลกมุสลิม เพื่อสร้างพันธมิตรของไทยในโลกมุสลิม ควบคู่กับการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและพลังงาน รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในด้านต่าง ๆ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจและยึดถือความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติเป็นหลัก เช่น การจัดฝึกอบรมการป้องกันไข้หวัดนกให้ประเทศสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) และสหภาพแอฟริกา (AU) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบันและการป้องกัน โรคมาลาเรียและโรคเอดส์ให้แก่ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้าง ฝนหลวงแก่ประเทศแทนซาเนีย เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการเร่งส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค โดยความสัมพันธ์กับประเทศจีนนั้น รัฐบาลได้แลกเปลี่ยนการเยือนและเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์เมืองพี่น้องระหว่างกัน รวมทั้งรัฐบาลยังได้จัดทำข้อตกลงกับต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และการท่องเที่ยว กับประเทศบรูไน และดำเนินการทบทวนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การเจรจาจัดทำสนธิสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางอาญาและการจัดทำบันทึกความตกลงระหว่างกันว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติกับประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินบทบาทสร้างสรรค์ในกรอบสหประชาชาติและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ นั้น รัฐบาลได้ทำความเข้าใจและชี้แจงเกี่ยวกับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ตามที่สหประชาชาติร้องขอ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ ๑๗๔๐ (๒๐๐๗) และเป็นการสานต่อบทบาทไทยในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
๕. การดำเนินนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการป้องกันประเทศ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดระบบแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมาย และการดำเนินการต่อผู้หลบหนีเข้าเมือง พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ ซึ่งให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การพิทักษ์รักษาและการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การพัฒนาระบบการข่าว การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศด้านความมั่นคง การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
เพื่อการพึ่งพาตนเองทางทหาร เพื่อการประหยัดงบประมาณจากการจัดหาอาวุธใหม่และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เป็นต้น
จากการดำเนินมาตรการตามนโยบายที่กำหนดไว้ ทำให้นานาประเทศมีความเข้าใจและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยต่างก็เข้าใจดีว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่จะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย และจะจัดให้มีการสนับสนุนเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมในเดือนธันวาคมศกนี้
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เช่น หลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหภาพยุโรป ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ประเทศที่เคยมีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศไทยได้กลับมีท่าทีเข้าใจและรับฟังรัฐบาลไทย ทั้ง เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และคณะกรรมาธิการยุโรป นอกจากนี้ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้แสดงท่าทีเข้าใจไทยในระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคที่เวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ และต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมการฝึก Cobra Gold ประจำปี ๒๕๕๐ อย่างเช่นทุกปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศที่เคยมีท่าทีเย็นชาในสมัยรัฐบาลที่แล้วก็ได้หันมาให้ความร่วมมือกับ รัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ รวมทั้งการให้ความร่วมมือภายใต้กรอบต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคชายแดนในกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจ ๓ ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (IMT-GT) และยุทธศาสตร์ร่วมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย (JDS)
นอกจากนี้การสานต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและมิตรประเทศก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ รวมทั้งยังได้เน้นส่งเสริมความสัมพันธ์บนพื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใส ตามแนวนโยบาย ๔ ป. มากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่เคียงข้างไทยมาโดยตลอด รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าและมีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดได้ให้การต้อนรับการเยือนอย่างสมเกียรติและอบอุ่น ในระหว่างวันที่ ๒—๕ เมษายน ๒๕๕๐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะรักษาและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับไทย
ส่วนของประชาคมระหว่างประเทศ พบว่า ไทยยังอยู่ในความสนใจของประชาคม อย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมเยือนของผู้นำต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ และรัฐบาลยังได้เข้าร่วมการประชุมในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลต่างประเทศได้ให้การยอมรับรัฐบาลไทยและพร้อมจะสานต่อความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง การค้า การลงทุน และการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปของรัฐบาลนั้น รัฐบาลมีเวลาเหลืออยู่อีกประมาณ ๖ เดือน สำหรับการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินงานช่วงต่อไป รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดจุดเน้นของการดำเนินการ เพื่อวางรากฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถดำเนินการลุล่วงไปได้ในช่วงรัฐบาลนี้ โดยมี ๖ เรื่อง
๑. สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญและสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง
การดำเนินการในระยะ ๖ เดือนข้างหน้า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการจัดทำ พร้อมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย และรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและดำเนินการให้สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้
๒. ส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคม
รัฐบาลจะพยายามสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและเต็มความสามารถ โดยอาศัยกระบวนการสมานฉันท์ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาระบบการศึกษา โดยการจัดตั้ง “วิทยาลัยอิหม่าม” ขึ้น ในจังหวัดยะลา โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม การจัดตั้ง “วิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติ” ขึ้น ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยนราธิวาสของกระทรวงศึกษาธิการ และการยกฐานะ “วิทยาลัยอิสลามยะลา” เป็น “มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน รวมทั้งโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นต้น
๓. ผูกมิตรและสร้างความสัมพันธ์บนผลประโยชน์ร่วมกัน
ด้านการต่างประเทศ รัฐบาลจะเร่งสานต่อความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์เกื้อกูลกัน เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดปัญหาข้ามแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย และเตรียมการฟื้นฟูภาพลักษณ์ ความเชื่อมันในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องกับมิตรประเทศมุสลิมสายกลาง เช่น มาเลเซียและสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) เกี่ยวกับแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาภาคใต้และป้องกันไม่ให้ปัญหาภาคใต้ของไทยเป็นปัญหาสากล
๔. สนับสนุนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลจะดำเนินการต่อเนื่องในการส่งเสริมยุทธาสตร์ความอยู่ดีมีสุขทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยในปี ๒๕๕๑ กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการส่งแผนและข้อเสนองบประมาณ
ตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาในกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ซึ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จะได้มีการติดตามและประเมินผล เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการระดับชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป
แนวทางการทำงานในช่วงระยะเวลาที่เหลือประมาณ ๖ เดือน รัฐบาลจะเร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษา เพื่อวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ ยึดหลักคุณธรรม นำความรู้ และสามารถเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต พร้อมกับการพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยจะเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็น และระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลจะ ดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยจะจัดทำแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชรติ และแผนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมไทยมากขึ้น
๕. ผลักดันระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพบนฐานความรู้และนวัตกรรม
รัฐบาลจะเร่งการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับและขยายผล แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและแผนแม่บทการสร้างเสริมประสิทธิภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยในภาคอุตสาหกรรมจะมีผู้ประกอบการใน ๑๓ สาขาอุตสาหกรรม เข้าร่วมจำนวนมากกว่า ๔,๕๐๐ โรงงาน ในวงเงินงบประมาณ ๑,๑๐๐ ล้านบาท อันจะนำมาสู่การที่ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ในระยะยาว
นอกจากนี้รัฐบาลจะได้เร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบจัดการขนส่งสินค้าและบริการ (โลจิสติกส์) ของประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ เร่งรัดการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงและ ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ การลงทุนในกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น
๖. การสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและสมดุล
รัฐบาลจะเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านทางนโยบายการคลัง ให้เกิดความ สอดประสานกับนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ เร่งรัดหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจใช้จ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักการบริหารประเทศในปัจจุบัน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ