มะกันเงื้อ “สเปเชียล 301”ต้อนคู่ค้าเข้ามุมคุ้มครองลิขสิทธิ์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 3, 2007 15:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสทีอาร์ ได้ประกาศรายงาน “สเปเชียล 301” ประจำปี 2550 ว่าด้วยเรื่องประเทศคู่ค้าของสหรัฐที่มีปัญหาด้านการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา(ไอพีอาร์) ไม่เพียงพอหรือขาดประสิทธิภาพทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการของสหรัฐ ซึ่งปีนี้มี 12 ประเทศรวมทั้งไทย ที่เข้าข่ายประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นรุนแรงจนถูกจัดเข้าอยู่ในบัญชี Priority Watch List (PWL) หรือ ประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ  และจะต้องมีการเจรจากับสหรัฐอย่างเข้มข้นเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว หากต้องการถอดถอนตัวเองให้หลุดจากบัญชี ไม่เช่นนั้นสิ่งแรกที่ต้องเผชิญคือ ภาพลักษณ์ติดลบทันทีในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยประเทศไทยถูกเลื่อนขึ้นมาสู่บัญชีดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหลายเรื่อง เช่น อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังสูงมากจนไม่อาจยอมรับได้ การขโมยสัญญาณเคเบิ้ล รวมถึงมาตรการปกป้องสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ที่อ่อนด้อยประสิทธิภาพลง
นายจิม คารูสเซิล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สหรัฐไม่ได้มีมาตรการตอบโต้ทางการค้าหรือมาตรการลงโทษต่อประเทศคู่ค้าที่เข้าข่ายบัญชีพีดับบลิวแอลแต่อย่างใด รวมทั้งการพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพี ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่สหรัฐให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นคู่ค้าที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ไทยหรือประเทศใด ๆ ในข่ายดังกล่าวจะต้องกังวล ถึงแม้จะมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรุนแรงในประเทศไทย แต่สถานการณ์ก็ยังห่างไกลต่อการที่ไทยจะถูกจัดเข้ากลุ่มบัญชีที่เรียกว่า Priority Foreign Country (PFC) ซึ่งถือว่ามีปัญหาการละเมิดรุนแรงที่สุดและอาจต้องถูกตอบโต้ทางการค้า แต่ปีนี้ไม่มีประเทศใดเข้าข่ายนี้เลย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของประเทศในข่ายพีดับบลิวแอลที่ไทยเป็นอยู่ ไม่ดีในสายตานักลงทุนและทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งนอกจากนี้เมื่อเทียบดับ 12 ประเทศ ที่เข้าข่ายถูกจับตามองเป็นพิเศษด้วยกัน ไทยยังติดอันดับละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นอันดับสาม รองจากจีนและรัสเซียตามลำดับ
ประเด็นวิเคราะห์
ถึงแม้การพิจารณาให้หรือตัดสิทธิจีเอสพี ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร จะไม่เกี่ยวกับกรณีที่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐถูกประกาศเข้าข่ายบัญชีพีดับบลิวแอล ซึ่งเป็นประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่ช่วงขณะที่สหรัฐกำลังพิจารณากรณีการให้จีเอสพีกับประเทศคู่ค้า บริษัทหรือองค์กรใดของสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถยื่นข้อร้องเรียนและให้ข้อมูลปัญหาดังกล่าวแก่คณะพิจารณาได้เช่นกัน
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ