พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ยกเลิกเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ (Sticker) โดยมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา และให้กรมการขนส่งทางบก มีอำนาจหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีการทำประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน จึงรับจดทะเบียนรถยนต์หรือชำระภาษีรถยนต์ประจำปีได้
นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า เนื่องจากในขณะนี้ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ กรมการประกันภัย จึงได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร และสมาคมประกันวินาศภัย หารือเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. สำหรับประชาชน เมื่อเอาประกันภัย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯกับบริษัทประกันภัย บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ออกหลักฐานแห่งสัญญาเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้มีการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ประชาชนผู้เอาประกันภัยก็ควรจะเก็บกรมธรรม์ประกันภัยนี้ไว้ในรถ หากมีการขอตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็สามารถแสดงได้
2. ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก เมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรถทุกคันที่มาขอจดทะเบียนหรือต่อทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกว่าได้จัดทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ แล้วหรือไม่ จึงมีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการทำประกันภัย โดยดูจากเอกสารของบริษัทประกันภัย ซึ่งในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ
- รูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จัดพิมพ์โดยบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทเอง
- รูปแบบใหม่ที่ใช้กระดาษในการจัดพิมพ์ให้ยากต่อการปลอมแปลง และมีการจัดลำดับเลขที่กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และควบคุมการสั่งพิมพ์และจัดส่งโดยสมาคมประกันวินาศภัย
- รูปแบบใหม่ที่ออกโดยเครื่อง PVR Machine (Policy Vender Register Machine) ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายคลึงกับเครื่องรูดบัตรเครดิต
ทั้งนี้ โดยบทสันนิษฐานของกฎหมายฉบับดังกล่าว เมื่อรถมีแผ่นป้ายทะเบียนที่แสดงว่าได้จดทะเบียนหรือต่อทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ถือได้ว่ารถคันนั้นมีประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ แล้ว
3. กรมการประกันภัย สร้างระบบการรับส่งข้อมูลการรับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ รูปแบบ Real Time คือ บริษัทประกันภัยต้องส่งข้อมูลการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ ทันทีหลังจากที่มีการรับประกันภัย เพื่อให้ระบบการนำส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยรถของกรมการขนส่งทางบกหรือหน่วยงานอื่นๆ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมการขนส่งทางบกและสมาคมประกันวินาศภัย ทั้งนี้ รูปแบบการตรวจสอบการทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ ของกรมการขนส่งทางบก จะเป็นการตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงข้อมูล Real Time กับกรมการประกันภัย ซึ่งคาดว่าระบบจะพัฒนาแล้วเสร็จในอีก 90 วัน
เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ จึงไม่มีการใช้เครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ((Sticker) เจ้าของรถจึงไม่ต้องนำเครื่องหมายฯ ไปติดแสดงที่หน้ารถ ความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายฯ จึงไม่มีต่อไปเช่นกัน
อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการประกันภัย ยังได้ร่วมกับโรงพยาบาล/สถานพยาบาล สมาคมประกันวินาศภัย และ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พัฒนาระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Claim System) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การใช้ระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ โรงพยาบาล จำนวน 1,353 แห่ง สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน กรมการประกันภัย ได้นำกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเข้าสู่ระบบ E-Claim ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในรายละเอียด และโรงพยาบาล/สถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการใช้ระบบดังกล่าวแล้ว
ที่มา: http://www.doi.go.th