อธิบดีกรมการประกันภัย เผยแนวโน้มธุรกิจประกันภัยปี2548 คาดขยายตัวกว่าร้อยละ 11 เบี้ยรับประกันภัยโดยรวมประมาณ 2.6 แสนล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจาก GDP ของประเทศที่จะเติบโตร้อยละ 4.5-5.5 บวกกับนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนระดับรากหญ้าทำประกันภัยและการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "ภาวะเศรษฐกิจกับธุรกิจประกันภัยครึ่งหลังปี 2548" ในงานสัมมนาผู้บริหารกรมการประกันภัยกับสื่อมวลชน ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุน ให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (GDP)
โดยในช่วงปี 2541 - 2546 ประเทศไทยมีอัตราเติบโตของเบี้ยประกันภัยหลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว เฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และมาเลเซีย มีอัตราเติบโตของเบี้ยประกันภัยดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 13.7, 12.1, 11.5 และ 6.4 ต่อปี ตามลำดับ และในปี2546 ประเทศไทยมีสัดส่วนของเบี้ยประกันภัยรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่ากับ ร้อยละ 3.45 อยู่ในอันดับ 42 ของโลก และในปี 2547 ประเทศไทยมีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.51 ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่อง
"การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุน ให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของ GDP อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยในไทยยังคงมีการทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยใน ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยเพิ่มศักยภาพในการรับ ประกันภัยเพื่อจะสามารถเก็บภัยที่ดีไว้เอง เพิ่มความสามารถในการรับเสี่ยงภัย และเป็นการรักษาเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีและมีช่องทางการ ลงทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นในส่วนของช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กรมฯได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเป็นนายหน้าประกันภัย (Bancassurance) เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการซื้อประกันภัยและเป็นการเพิ่มเบี้ยประกันภัยรับของบริษัทฯ ส่งผลให้สัดส่วนของเบี้ยประกันภัยต่อ GDP เพิ่มขึ้น " อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าว
อย่างไรก็ตามในปี 2547 ที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยของไทยนับได้ว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี เมื่อพิจารณาจากสถิติเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันภัย มีเบี้ยประกันชีวิตและประกันวินาศภัยรับโดยตรงรวมจำนวน 231,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,654 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.03 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2546 โดยธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง 151,951 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65.73 ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน 18,301 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.95 โดยการประกันภัยประเภทสามัญมีสัดส่วนมากที่สุดจำนวน 133,995 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.18 ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมี เบี้ยประกันภัยรับ โดยตรงจำนวน 79,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,058 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.32 โดยการประกันภัยรถยนต์มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 59.47 และการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 26.51
อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2548 ว่า การขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ประมาณร้อยละ 11.31 โดยคาดว่าจะมีเบี้ยรับประกันภัยโดยตรงรวม 257,325 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 12 โดยมีเบี้ยรับประกันชีวิตรวมประมาณ 170,185 ล้านบาท สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 มีเบี้ยประกันวินาศภัยรวมประมาณ 87,140 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมจำนวน 55,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.41 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2547 ในขณะที่เบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงมีจำนวน 32,104 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 58.02 ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.28 และธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจำนวน 23,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.02
ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีการขยายตัวสูงขึ้นในปี2548 ประกอบด้วยการคาดการณ์ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเติบโตร้อยละ 4.5-5.5 นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้ทำประกันภัย อาทิ โครงการประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร การประกันภัยอิสรภาพ การรณรงค์ให้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การรับเสี่ยงภัยไว้เองหรือหรือเอาประกันภัยต่อในประเทศ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (universal life) ซึ่งเป็นการประกันชีวิตในลักษณะควบการลงทุน (investment-linked life insurance) การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ และการประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ที่มา: http://www.doi.go.th