สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2007 15:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          เศรษฐกิจของโลกในปี 2549 ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในไตรมาสแรกของปี 2549 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวอยู่ในระดับที่สูง แต่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา  อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และ เศรษฐกิจของญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว โดยมีอัตราการขยายตัวของผลผลิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2549  สูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชียก็ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าสภาพการเงินในช่วงครึ่งแรกของปีจะขาดสภาพคล่อง แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ยังทรงตัว และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่มนระดัยสูง ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศต้องควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไปกว่าเดิมมากนัก โดยอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.25 และดอกเบี้ยของญี่ปุ่นปรับตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า GDP จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.0 เนื่องจากปริมาณการส่งออกชะลอตัว แต่ปริมาณการนำเข้าเร่งตัวมากขึ้น และการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ในภาคอุตสาหกรรม จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 6.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 165.75 และในปี 2548 มีค่า 155.84 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงานเครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 และในปี 2549 ทั้งปีคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 7.1 สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2549 เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคการผลิตบ้าง
ในส่วนสถานการณ์การค้าต่างประเทศในปี 2549 การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2549 มีมูลค่า 213,787.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.19 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 107,117.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 การนำเข้ามีมูลค่า 106,670.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 ไทยได้เปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 447.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2549 ที่มูลค่า 120,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 สำหรับการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2549 คาดว่าจะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ 500,000 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2548 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 673,800 ล้านบาท
สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมภาวะการผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2549 พบว่าปรับตัวสูงขึ้นในส่วนของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์โดยดูได้จากสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ ที่มีสินค้าหลักในกลุ่มคือ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.95 นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่ม อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร โดยในกลุ่มนี้จะประกอบด้วย IC สินค้าหลัก และเป็นส่วนประกอบในการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.18 ขณะที่สินค้าไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัว ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากปี 2548 โดยเฉพาะในกลุ่มของ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งมิได้จัดไว้ในที่อื่น พบว่า ปรับตัวลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 1.95 เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศที่ได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกอียู และสินค้าส่วนใหญ่ผลิตในจีนโดยไทยนำเข้าจากจีนเพื่อขายในประเทศ และส่งขายต่อยังประเทศอื่นๆต่อไป
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1 ปี 2550 คาดการณ์ว่าน่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2549 เนื่องจากบริษัทต่างๆ เริ่มกลับมาผลิตใหม่อีกครั้งหลังจากหยุดยาวในช่วงเทศกาล ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1 ปี 2550 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2549 โดย SIA (Semiconductor Industry Association)ประมาณการทั้งปีของปี 2550 พบว่า ยอดขาย Semiconductor จะเพิ่มขึ้นถึง 273.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการของสินค้า consumer electronics และสินค้า Hi-end ที่ต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบสำคัญ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนชิ้นส่วนหลักต่างๆนี้ให้เพิ่มสูงขึ้นตลอดปี 2550 โดยเฉพาะไทยที่เป็นฐานการผลิตหลักในการผลิต HDD
เคมีภัณฑ์ ในปี 2549 คาดว่ามูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9.42 เมื่อเทียบกับปี 2548 เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องสำอาง เป็นต้น สำหรับการส่งออกคาดว่าในปี 2549 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.46 เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของปี 2548 จากปี 2547 เนื่องจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในตลาดโลกมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงและมีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้คู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลี ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบเนื่องจากมีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อการผลิต
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ที่ผ่านมาในตลาดโลกมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และคาดว่าในอนาคตจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งมีความได้เปรียบด้านการผลิตและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ในขณะที่ประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรหันมาใช้กลยุทธ์ทางด้านอื่นอาทิเช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การส่งมอบสินค้า และ ขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปนอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก เช่น ระเบียบว่าด้วยสารเคมีที่ออกโดยสหภาพยุโรป (REACH) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ได้ตามกฎระเบียบดังกล่าวและมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะต้องแสดงผลวิเคราะห์สารอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์นั้นๆ พร้อมกับการยื่นจดทะเบียนในสหภาพยุโรป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
ปิโตรเคมี สถานการณ์ปี 2549 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงที่มีความผันผวนอย่างมาก ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ทั้งนี้มีสาเหตุจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตเป็นสำคัญ คาดการณ์ว่ามูลค่าการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ในปี 2549 มีมูลค่า 22,854.89 36,987.95 และ 61,105.23 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 135 ส่วนมูลค่าการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นปลายลดลงร้อยละ 22.56 และ 5.27 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ทางด้านมูลค่าการส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลายในปี 2549 มีมูลค่า 27,694.41 41,729.94 และ 151,468.05 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นลดลงร้อยละ 24.41 ส่วนปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.46 และ 0.10 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในส่วนภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2550 คาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อีกทั้งภาวะความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากแต่ละประเทศได้ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของตนและใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อีกทั้งยังมีการร่วมทุนระหว่างประเทศในการผลิตและใช้วัตถุดิบ และมีข้อตกลงในการจัดสรรสัดส่วนวัตถุดิบที่ผลิตได้มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวม ปี 2549 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ อันเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาทางด้านสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ จึงทำให้ภาวะการค้าโดยรวมในประเทศชะลอตัวลง ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง และสต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณที่ไม่มาก ขณะเดียวกันพ่อค้าคนกลางก็สต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น โดยเหล็กทรงแบน การผลิตขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.63 แต่การใช้ในประเทศกลับชะลอตัวลง ร้อยละ 12.03 ซึ่งจะเป็นการผลิตที่เน้นเพื่อการส่งออกเนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศลดลง ผู้ผลิตจึงต้องขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่ยังคงมีความต้องการอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป สำหรับเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีการผลิตและการใช้ในประเทศชะลอตัวถึง ร้อยละ 12.09 และ 12.84 ตามลำดับ
แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2550 เมื่อเทียบกับปี 2549 คาดการณ์ว่าขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในส่วนของการผลิตและการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากความต้องการใช้เพื่อการบูรณะและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน หลังจากประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นโดยในส่วนของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ใช้ในงานก่อสร้างจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของการส่งออก คาดการณ์ว่าจะลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กที่สำคัญเริ่มอิ่มตัว ประกอบกับตลาดในกลุ่มประเทศ EU เริ่มชะลอตัวลง
ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2549(ม.ค.-ต.ค.) 1,001,035 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 9.03 และในปี 2549 ประมาณว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.64 จากปี 2548 ที่มีการผลิต 1,125,316 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณ ร้อยละ 25, 73 และ 2 ตามลำดับ โดยในปี 2549 การผลิตและการส่งออกมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนการจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยด้านลบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและความต้องการซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามไตรมาสแรกของปี ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนจนนำมาสู่การมีรัฐบาลชุดใหม่ ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมีงาน Motor Expo 2006 ที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2550 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 45-50 และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณร้อยละ 50-55
ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2549 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,957.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในอาเชียน ไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์หลักที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่ แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ และแถบ ถุงและกระสอบพลาสติก และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารพลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 28.18 26.78 และ 5.05 เมื่อเทียบกับยอดรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ในหมวดนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์หลักที่จะมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นมากได้แก่ หลอดและท่อพลาสติก และ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารพลาสติก โดยคาดว่าจะมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.48 และ 17.74 ตามลำดับ
ปี 2550 แนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย ให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มและมีการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำตลอดจนด้านการตลาดและการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการผลิตไบโอพลาสติกนับเป็นอีกธุรกิจทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและควรให้การสนับสนุนเพราะสามารถตอบสนองอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่ได้เริ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น อียูที่เริ่มมาตรการเก็บภาษีผู้ใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ให้มีการรีไซเคิล และการใช้ไบโอพลาสติกที่มีคุณสมบัติย่อยสลายเร็ว
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในปี 2549 สภาวการณ์ การผลิตเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงใน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ ดัชนีผลผลิตหนังฟอกและตกแต่งหนังฟอก และดัชนีผลผลิตกระเป๋าฯ ลดลงร้อยละ 9.1 และ 8.5 เนื่องจากการส่งออกลดลง ร้อยละ 5.9 และ 5.8 โดยเฉพาะกระเป๋ามีการนำเข้าจากต่างประเทศมาแย่งส่วนแบ่งตลาดภายในและมีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังที่เพิ่มสูงมาก ดัชนีการผลิตรองเท้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากดัชนีการส่งสินค้า และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2550 คาดว่าการผลิตหนังฟอกและตกแต่งหนังฟอก กระเป๋าฯและรองเท้าจะมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากการค้าเสรีที่การแข่งขันสูงที่รุนแรงจากคู่แข่งที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะ จีน และเวียดนาม ความผันผวนจากราคาน้ำมัน และตลาดส่งออกหลักของไทยมีภาวะเศรษฐกิจซบเซา อีกทั้งอัตราค่าเงินบาทที่แข็งตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2549 ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะมีปัจจัยเสริมจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และแนวโน้มของการเปิดเสรีทางการค้าแบบทวิภาคีที่มุ่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้า
อาหาร ในปี 2549 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 12.6 แม้ว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิต การบริโภค และการส่งออก เช่น ปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าขนส่งอันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก การแข็งค่าของเงินบาท การเกิดอุทกภัย รวมทั้งปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคงภายในประเทศ แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอาหารปี 2550 คาดว่าทั้งภาคการผลิตและการส่งออกจะยังคงเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ในระดับร้อยละ 5-10 โดยมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุน คือ การรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและของโลกมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว ซึ่งจะเป็นผลดีในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทดแทนสินค้าคงทนอื่นๆ อย่างไรก็ตามหากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงได้ การปรับตัวของระดับอัตราดอกเบี้ย และการที่ระดับราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ความวิตกกังวลในเรื่องโรคไข้หวัดนก และสารตกค้างในอาหารที่จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า อาจส่งผลต่อภาคการผลิต การบริโภค และการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2549 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 18.73 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 8.50 เนื่องจากต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนปรับตัวสูงขึ้นตามราคาไม้ยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีการปรับราคาสูงขึ้นมาก รวมทั้งค่าขนส่งและต้นทุนแรงงานยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ผู้ผลิตปรับลดปริมาณการผลิตลง โดยการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทย ปี2549 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับแนวโน้มการส่งออกใน ปี 2550 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ กก ผักตบชวา ยังคงได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศ อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลัก และตลาดส่งออกรายใหม่ของไทยยังคงขยายตัวได้ดี แต่อุปสรรคที่สำคัญในการส่งออกคือปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก และนอกจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากจีนและเวียดนามแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ผลิตในประเทศคู่ค้าซึ่งมีการปรับตัวรับการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติมากขึ้นด้วย
ผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางขั้นต้น ในปี 2549 มีการผลิตยางแผ่นจำนวน 286,772 ตัน และยางแท่งจำนวน 837,862 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.52 และ 4.26 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ยางในปี 2549 ในช่วงของไตรมาสแรก มีอัตราการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อสต็อกสินค้า เนื่องจากมีความผันผวนของราคายาง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เป็นผลให้ไตรมาส 3 และ4 มีการผลิตในอัตราลดลงซึ่งสอดคล้องกับการผลิตรถยนต์ในประเทศที่มีอัตราการขยายที่ตัวลดลงจากปีที่แล้วจากร้อยละ 10 เป็น ร้อยละ 6 เมื่อรวมทั้งปีทำให้มีการผลิตอัตราการขยายตัวลดลงจากปีก่อน แนวโน้มในปี 2550 คาดการณ์ว่าทั้งปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ยางยังคงมีแนวโน้มขยายตัวโดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เปรียบเทียบกับปี 2549 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่และยุทธศาสตร์ยางพาราปี 2549 — 2551 ที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และการสร้างคุณค่าเพิ่ม
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ปี 2549 มีปริมาณการผลิต 0.9 และ 3.5 ล้านตัน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.9 และ 2.8 ตามลำดับ เนื่องจากจีนมีความต้องการใช้เยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจขยายตัว และความต้องการใช้กระดาษในประเทศสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ 1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 2) งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับงานดังกล่าวเพื่อเก็บสะสมและเป็นที่ระลึก รวมทั้งการส่งไปรษณียบัตรอวยพรในหลวง 3) เทศกาลฟุตบอลโลก โดยประชาชนจัดส่งไปรษณียบัตรร่วมทายผลแชมป์บอลโลกจำนวนมาก 4) อุตสาหกรรมหลายกลุ่มขยายตัว โดยใช้กระดาษเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกล่องและบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มและขนส่งสินค้า แนวโน้มในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การมีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร ทำให้โรงพิมพ์และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์สามารถลดต้นทุนในการผลิตและการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีการดำเนินการในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) และมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ฯ เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการพิมพ์ (Printing Hub) ในภูมิภาคอาเซียน และกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ปี 2550 - 2551 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกันผลักดัน โดยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนดังกล่าวซึ่งจะดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม
ยา ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในปี 2549 คาดว่าจะมีประมาณ 26,572.3 ตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.0 ซึ่งประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาเม็ด ยาผง และยาครีม โดยขยายตัวร้อยละ 15.6 8.2 และ 2.2 ตามลำดับ ทั้งนี้การผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล ร้านขายยา รวมทั้งการรับจ้างผลิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถหาลูกค้ารายใหม่ ๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับยาผงมีคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตัวยา ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มในปี 2550 คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศจะยังขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาตัวเอง มีการปรึกษาแพทย์ และเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาสุขภาพมากกว่าในอดีต ทำให้ตลาดยาในประเทศยังเติบโต ประกอบกับโครงการประกันสุขภาพซึ่งยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตและภาครัฐพยายามขยายตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ แต่ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกของไทยขึ้นอยู่กับมาตรฐานของยาที่ผลิตได้ด้วย
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาวะการผลิตและการจำหน่ายปี 2549 เมื่อพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ฯ และการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ ดัชนีผลผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 5.7 และ 7.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันจากผลกระทบทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายจากขนสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และ การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค โดยรวมภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2549 โดยรวมมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลกจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจใน 3 ประเทศที่เป็นตลาดหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น สำหรับแนวโน้มปี 2550 การแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าจีนและเวียดนามจะยังสามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำกว่า แต่คาดว่าปัจจัยลบจะมาจากการชะลอตัวในภาคการส่งออกเนื่องจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา การแข็งค่าของค่าเงินบาทและมาตรการทางการค้า แต่ไทยยังมีความได้เปรียบด้านคุณภาพการผลิตและฝีมือที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก คาดว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้นไม่ต่ำกว่าปี 2549
ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2549 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 84.05 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการผลิตปูนเม็ด 40.99 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 43.06 ล้านตัน โดยเมื่อเทียบกับปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.41 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันทั้งราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศไม่ขยายตัวมากเท่าที่ควร สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในปี 2550 คาดว่าจะเป็นไปตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปัจจัยบวกคือภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยซึ่งคงที่ในระดับสูงอาจมีการปรับตัวลง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้ผู้บริโภคน่าจะมีความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย การเข้ามาของรัฐบาลชุดใหม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่าง ๆ ของภาคเอกชนไทยและการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐที่ชะลออยู่ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไปได้ สำหรับการส่งออกใน ปี 2550 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการปรับลดการลงทุนในตลาดที่อยู่อาศัย
ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ การผลิตเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีการขยายตัวลดลงจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหลัก ๆ ได้แก่ การเมือง ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเซรามิกเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อลดภาระต้นทุน โดยในปี 2549 การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีประมาณ 148.92 ล้านตารางเมตร และการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีประมาณ 8.55 ล้านชิ้น ขยายตัวลดลงจากปี 2548 ในอัตราร้อยละ 2.66 และ 7.16 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเซรามิกในปี 2550 ยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากผู้ผลิตสามารถขยายตลาดต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การจำหน่ายเซรามิกในประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากปัญหาการเมืองเริ่มคลี่คลาย มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ภาวะราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2550 ยังคงมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่ดีโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ