จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ซึ่งขยายตัวในอัตราเดียวกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 1ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ซึ่งการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 นี้ มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ยังคงขยายตัว รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ ของประเทศ และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และหากพิจารณาค่า GDP ที่ปรับดัชนีฤดูกาลในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 และร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมวัตถุดิบชะลอตัวลง ในขณะที่อุตสาหกรรมเบายังคงขยายตัวได้จากอุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรม เครื่องหนัง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2550 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0 - 4.5 โดยที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี การส่งออกจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้จะเริ่มชะลอตัวลงบ้างในครึ่งหลังของปี สำหรับปัจจัยที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2550 ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ที่ต่ำลง การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการส่งออก
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 พบว่า มีการชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยจะเห็นจากอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.63 (ม.ค.-มิ.ย.50) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยลดลงในปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ประกอบกับการชอลอตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบยังคงมีอยู่ เช่น การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท ราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมือง ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง เป็นต้น
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 165.37 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (170.39) ร้อยละ 2.9 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (161.50) ร้อยละ 2.4
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 2.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 163.94 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.46) ร้อยละ 0.9 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (158.33) ร้อยละ 3.5
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive)อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 4.2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 180.93 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (179.53) ร้อยละ 0.8 และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (168.53) ร้อยละ 7.4
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้และผัก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรม การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 7.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์การผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.88 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (65.45) และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (67.77)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึง การทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ทั้ง 3 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท สถานการณ์ทางการเมืองยังขาดเสถียรภาพ สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม เหล่านี้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่า 72.1, 71.4 และ 71.09 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่า 73.0 ,72.2 และ 71.9 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่า 87.7, 87.1 และ 87.4 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตนว่าจะปรับตัวดีขึ้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 เนื่องจากความวิตกกังวลในปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยในไตรมาส ที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (The Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 81.3 ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (84.4) และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (92.2) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ดัชนีในเดือนมิถุนายน 2550 มีค่า 80.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 (86.1) เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน และตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว นอกจากนี้ปริมาณการผลิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตปรับตัวลดลงจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลง ต้นทุนการประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลประกอบการปรับตัวลดลงจากยอดขายที่ลดลง ราคาสินค้าที่ลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบการเห็นว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในเดือนมิถุนายน 2550 คือสถานการณ์ทางการเมือง ค่าเงินบาท ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2550 อยู่ที่ระดับ 115.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2550 (115.1) ร้อยละ 0.1 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยว
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่าเฉลี่ย 115.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 113.8
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2550 อยู่ที่ระดับ 116.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2550 (115.9) ร้อยละ 0.1 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจำหน่าย รถยนต์
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่าเฉลี่ย 115.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่ง มีค่า 115.1
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีค่า 120.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (119.0) และทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (120.4) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ การใช้กระแสไฟฟ้า ยอดจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยเครื่องชี้สำคัญส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ยอดการนำเข้าสินค้าทุน และยอดการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ พบว่าดัชนีการลงทุนในภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549
หากแยกตามรายการสินค้าพบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ยอดการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ยอดการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศในไตรมาสที่ 2 ขอปี 2550 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจาก่ไตรมาส ที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวสาร ไข่ และผลิตภัณฑ์นม และการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาค่าขนส่ง การศึกษา
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาส เดียวกันของปี 2549 สำหรับราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2550 (ตัวเลขเดือนมิถุนายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.28 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 36.65 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.52 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.4)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สองของปี 2550 มีจำนวน 5.70 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.55 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 71,781.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 36,775.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 35,005.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.1 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดุลการค้าเกินดุล 1,769.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการเกินกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2550 มีมูลค่าการส่งออกถึง 13,049.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกใน 6 เดือนแรกของปี 2550 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 55,941 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 78.13) สินค้าเกษตรกรรม 6,849 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.57) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 4,692.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.55) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 3,223.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.5) และสินค้าอื่นๆ 894.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.25)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกหมวดมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.21 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 30.18 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงร้อยละ 5.68 และสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.79
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2550 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 7,766.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5,810.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 4,069.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 2,531.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 2,347.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 1,890.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 1,827.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,789.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยาง 1,736.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 32,086.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 44.81 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ตลาดส่งออก
ใน 6 เดือนแรก ปี 2550 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพ
ยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 59.62 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.52 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 14.87 ตลาดสหภาพยุโรปร้อยละ 23.36 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.24
โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในระยะครึ่งปีแรก ของปี 2550 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 29,013 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.9) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 17,276.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.14) สินค้าเชื้อเพลิง 11,696.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 17.7) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,406.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.18) สินค้าหมวดยานพาหนะ 2,027.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.07) และสินค้าอื่นๆ 674 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.02)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 3.88 สินค้าทุนนำเข้าลดลงร้อยละ 2.56 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.85 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.24 และสินค้าหมวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 สินค้าหมวดอื่นๆ ลดลงร้อยละ 5.1
แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 53.05 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 0.59 อาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.71 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78
แนวโน้มการส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2550 โดยขยายตัว 15% มูลค่า 149,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเป้าเดิม 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกครึ่งปีแรก ขยายตัวสูงถึง 18.6% มูลค่า 71,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกขยายตัวทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งหากสามารถรักษาการขยายตัวส่งออกครึ่งปีหลัง แต่ละเดือนเฉลี่ย 12% จะส่งออกได้ตามเป้าใหม่แน่นอน นอกจากนี้ปัจจุบันการส่งออกในตลาดใหม่ ขยายตัวดี มีสัดส่วนกว่า 40% ทำให้ไทยสามารถจะปรับลดพึ่งพิงการส่งออกในตลาดหลักลงได้อีก และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) จะมีผลบังคับใช้เดือน พ.ย. ทำให้ไทยน่าจะขยายการส่งออกตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตลาดสหรัฐ เป็นตลาดเดียวที่น่าห่วง และเป็นตลาดหลักของไทยที่ส่งออกขยายตัวลดลง เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ชะลอตัวและดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้นำเข้าสินค้าจากไทยลดลง
ส่วนปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยนั้นมีปัญหามานาน 10-20 ปีแล้ว จึงทำให้สินค้ากลุ่มสิ่งทอ รองเท้า ที่ใช้แรงงานจำนวนมากประสบปัญหา ไม่ใช่ได้รับแค่ผลกระทบจากค่าเงินบาทเท่านั้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายส่งออก ส่วนกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมไทยปิดกิจการไปหลายแห่งนั้น ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกบ้าง แต่คำสั่งซื้อที่เคยซื้อจากโรงงานหนึ่งก็จะย้ายไปอีกโรงงานหนึ่งแทน เพราะผู้ซื้อยังมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าจากไทย เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่สั่งซื้อสินค้าจากไทยประเทศเดียว
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มีมูลค่ารวม 61,032.18 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -12.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 22,886.49 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคม 38,145.69 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ 29,901.89 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีการลงทุนสุทธิมากที่สุด เป็นเงินลงทุน 10,048.26 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า 5,548.41 ล้านบาท และหมวดอื่นๆ 5,509.32 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม คือ ประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 19,758.39 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ มีเงินลงทุนสุทธิ 13,320.66 ล้านบาท และ 5,540.71 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 310 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินลงทุน 176,500 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.58 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 100 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 100 โครงการ เป็นเงินลงทุน 50,200 ล้านบาท
(ยังมีต่อ)