สเปนครองแชมป์บริโภคอาหารนอกบ้านมากที่สุดในยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 19, 2007 16:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          จากการสำรวจโดย Euromonitor International ที่รายงานผลเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550สเปนถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีธุรกิจบริการด้านอาหารแก่ผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป มีจำนวนร้านอาหาร ภัตตาคาร บาร์ และคาเฟ่ คิดเป็นหนึ่งในสามของจำนวนร้านรวมทั้งหมดในยุโรป
ในปี 2549 ลูกค้าท้องถิ่นชาวสเปนและนักท่องเที่ยว ได้ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มตามร้านอาหารและภัตตาคารเป็นมูลค่าถึง 99,000 ล้านยูโร (หรือประมาณ 4,653,000 ล้านบาท) ทิ้งห่างจากประเทศอิตาลี (76,700 ล้านยูโร) ที่ตามมาเป็นอันดับที่สองถึง 22,000 ล้านยูโร
ตารางแสดงประเทศที่รับประทานอาหารนอกบ้านในยุโรปตามมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก
อันดับ ประเทศ มูลค่า (ล้านยูโร)
1 สเปน 98,900
2 อิตาลี 76,700
3 สหราชอาณาจักร 64,700
4 ฝรั่งเศส 41,200
5 เยอรมนี 28,600
Source: Euromonitor International
จากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟู โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนสเปนประมาณ 57 ล้านคนต่อปี นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับธุรกิจบริการอาหาร ทั้งนี้ เนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆในสเปน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดปี ผิดจากเดิมที่มีผู้นิยมเดินทางมาเที่ยวแบบแพ็คเกจทัวร์เฉพาะชายฝั่งทะเลตอนใต้ของประเทศ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารไม่ต้องหวังพึ่งเฉพาะนักท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมที่จะรับประทานอาหารตามร้านอาหารของท้องถิ่นรวมทั้งร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีชื่อระดับนานาชาติ มากกว่าร้านอาหารบริการตนเองแบบดั้งเดิม
เมืองขนาดกลางอื่นๆ เช่น บาเลนเซีย ซาราโกซา และบิลเบา ต่างก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายตามร้านอาหารและบาร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองบาเลนเซียที่กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเรือใบ The 32nd America’s Cup จะยิ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีฐานะดีเข้ามาเยือนได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น เมืองย่อยอื่นๆของสเปนต่างก็เร่งพัฒนาตนเอง กอปรกับการนำเสนออาหารนานาชาติในรูปแบบใหม่ก็จะยิ่งช่วยให้ตลาดของธุรกิจบริการอาหารขยายตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ
อุปนิสัยของชาวสเปนที่มีมาช้านานในการชอบบริโภคอาหารนอกบ้าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับที่สองรองจากการท่องเที่ยวที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจบริการอาหารให้เจริญเติบโต ดังจะเห็นได้จากจำนวนร้านอาหารนานาชาติที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆเช่น กรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อไปได้ตลอดในอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า
Euromonitor International พยากรณ์ว่ายอดจำหน่ายของร้านอาหารเอเชียจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 27 ล้านยูโร (หรือประมาณ 1,269 ล้านบาท) หรือคิดเป็นอัตราปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 14 ภายในปี 2553
นอกจากนั้น ร้านอาหารสำหรับชาวละตินอเมริกาก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในกรุงมาดริด เนื่องจากมีผู้อพยพจากละตินอเมริกาเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก รวมทั้งเมืองใหญ่อื่นๆ อาทิเช่น บาเลนเซีย ขณะเดียวกัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสำหรับผู้อพยพจากแอฟริกาตอนเหนือก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแถบชายฝั่งทะเลตอนใต้ของสเปนก่อนที่จะขยับขึ้นตอนบนของประเทศต่อไป
โอกาสของธุรกิจบริการอาหารไทยในสเปน
ปัจจุบันนี้ยังมีร้านอาหารไทยตามเมืองใหญ่ๆของสเปนน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น กรุงมาดริดที่มีประชากรอยู่อาศัยกว่า 3 ล้านคน มีร้านอาหารไทยประมาณ 10 แห่ง ซึ่งทุกแห่งล้วนมีผลประกอบการธุรกิจดี ทำให้ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้สนใจประกอบธุรกิจร้านอาหารไทย รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ๆ ได้แก่ บาร์เซโลนา บาเลนเซีย ซาราโกซา อาลิคันเต และ เซบิญ่า หรือตามแหล่งท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเลตอนใต้ที่สำคัญ เช่น มาลากา คาดิซ กรานาดา และหมู่เกาะคานารี ตลอดจนหมู่เกาะบาเลอาเรสทางตะวันออกของสเปน
นอกจากนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบธุรกิจร้านชำ (Grocery) จำหน่ายวัตถุดิบอาหารไทย เช่น เครื่องแกง กะทิ ซ้อสปรุงรส และ เครื่องเทศ ในประเทศสเปน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมมากที่สุดในความหลากหลายของสินค้าเหล่านี้ ทำให้ร้านอาหารไทยต้องสั่งซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบเองโดยตรงหรือสั่งนำเข้าผ่านผู้นำเข้าจากประเทศใกล้เคียงทำให้มีต้นทุนสูง ทั้งนี้ แม้แต่ในเมืองหลวงกรุงมาดริดเองก็ตาม มีแต่ร้าน Grocery อาหารเอเชียที่เป็นของชาวจีน ซึ่งมีร้านค้าขนาดย่อมและขาดความหลากหลายของสินค้า
ในปัจจุบัน สเปนได้แก้ไขข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่นๆของสหภาพยุโรป จนกล่าวได้ว่าผู้ลงทุนจากต่างชาติจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนสเปนเอง (หาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องขั้นตอนการดำเนินธุรกิจในสเปนได้จาก www.interes.org)
ปัญหาและอุปสรรค
1. ขาดแคลนพ่อครัว/แม่ครัว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญมากในการประกอบธุรกิจร้านอาหารไทย แต่การดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตทำงานของต่างด้าวมีขั้นตอนมากและใช้เวลานาน และยังคงมีการกีดกันแรงงานต่างชาติอยู่ เนื่องจากภายในประเทศก็มีอัตราว่างงานสูง จึงทำให้เกิดการแย่งซื้อตัวพ่อครัว/แม่ครัวกันเองระหว่างผู้ประกอบการ
2. ขาดแคลนวัตถุดินในการประกอบอาหาร เนื่องจากยังไม่มีผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการจำหน่ายวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทย และการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าอาหารมีขั้นตอนมากและเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กอปรกับหน่วยงานราชการและศุลกากรของสเปนไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารไทย ทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ
3. ประชากรของสเปนส่วนมากไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
4. พื้นฐานพฤติกรรมการบริโภคของชาวสเปนที่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ไม่ค่อยยอมรับหรือทดลองสิ่งใหม่ๆ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก ยุโรป   สเปน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ