สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่1(มกราคม-มีนาคม)พ.ศ.2550(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2007 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                                  เศรษฐกิจโลก
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากภาคบริการที่ชะลอตัวเศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปขณะที่เศรษฐกิจเอเชียยังมีการขยายตัว โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 GDP ขยายตัวร้อยละ 11.1 อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมีนโยบายลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง
Standard & Poor’s (S&P) คาดว่ายอดหนี้รวมของรัฐบาลทั่วโลกจะลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากฐานะการเงินที่ดีขึ้นของรัฐบาลในภูมิภาพเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งยังครองตำแหน่งรัฐบาลที่มีการออกพันธบัตรสูงสุดของโลกในปี 2550 เช่นเดียวกับที่คาดว่ารัฐบาลของประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ จะกู้ยืมเงินลดลง
อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 เป็นต้นมา และกลุ่มประเทศสมาชิก OPEC ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้ตามเป้าหมายที่ 25.8 MMBD โดยปริมาณการผลิตเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 26.54 MMBD ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน และแกว่งตัวอยู่ในระดับสูง ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดน้ำมัน Gasoline ของ ขณะที่อุปทานน้ำมันจากโรงกลั่นหยุดชะงักเป็นระยะจากปัญหาทางเทคนิคและสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับ Geopolitical risk ใน Nigeria, Venezuela และประเทศในแถบ Middle East ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหา Supply Disruption อีกทั้ง ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (UN) เรื่องโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวมในช่วงไตรมาส 1 ปี 2550 ขยายตัวดีกว่าไตรมาส 4 ปี 2549 GDP ในไตรมาส 1 ปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 แม้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ก็ตาม ดัชนีภาคอุตสาหกรรม การผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 ในเดือนมกราคมขายตัวร้อยละ 49.3 เป็นผลมาจากการสั่งซื้อสินค้าภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น การผลิตเพิ่มขึ้นในภาคสาธารูปโภค จึงส่งผลต่อภาพรวมของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดตามทิศทางราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 2.4 มกราคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาอาหาร
นอกจากนี้ในเดือนมกราคมสหรัฐขาดดุลการค้า 59.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการขาดดุลได้ลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง โดยประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุล การค้าด้วยมากที่สุดยังคงเป็นประเทศจีน
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นจากภาวะการจ้างงานที่ดีขึ้น โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ 97,000 ตำแหน่ง ลดลงจากเดือนมกราคม 2550 ในเดือนมกราคมมีการจ้างงาน 146,000 ตำแหน่ง และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (ณ วันที่ 14 เมษายน 2550) มีจำนวนลดลง การลดลงของการของรับสวัสดิการว่างงาน แสดงให้เห็นถึงสภาวะตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่กำลังดีขึ้น อัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 46
ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550 ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 5.25 ต่อปีเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นผลมาจากการส่งออกขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่การนำเข้าชะลอลงอันเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าของสหรัฐขาดดุลลดลง และทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงด้วย เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป
เศรษฐกิจจีน
ในไตรมาสที่ 1/2550 เศรษฐกิจประเทศจีนมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนซึ่งมีการขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.4 ทำให้สะท้อนได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนยังมีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ต้นปีและการใช้มาตรการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อนนั้นยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในส่วนของดัชนีผู้บริโภค ในไตรมาสที่ 1/2550 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในช่วงของปีก่อนซึ่งมีดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ 1.5 มีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่ทำให้ดัชนีผู้บริโภคมีการขยายตัวเนื่องมาจากการค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น
ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1/2550 โดยมีการขยายตัวร้อยละ 23.7 ซึ่งคิดมีมูลค่า 227.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีสัดส่วนที่ลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการลงทุนในที่ดินและสิ่งก่อสร้างมีการขยายตัวร้อยละ 26.9 โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.7 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของที่ดินและสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่นั้นจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยในเมือง
สำหรับยอดจำหน่ายภายในประเทศของไตรมาสที่ 1/2550 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่มีการขยายตัวร้อยละ 13.7 ซึ่งมีการขยายตัวสูงขึ้นถึง 1.13 ล้าน ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุที่ทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นเนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนท้องถิ่นมากขึ้นทั้งในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และเงินกองทุน ซึ่งในปีนี้รัฐบาลใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 และกว่าร้อยละ 40 สำหรับโครงการสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศและเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนมากนัก ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ส่งผลให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้น
การค้ากับต่างประเทศยังเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับความร้อนแรงทางด้านการเกินดุลทางการค้า ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจีนจะมีการดำเนินการลดความร้อนแรงทางด้านการเกินดุลทางการค้าโดยมีการลดมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับผู้ส่งออกและเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนให้กับบริษัทผู้นำเข้าสินค้าแต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้ลดความร้อนแรงจึงทำให้มีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 457.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 การส่งออกมีมูลค่า 252.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 และประเทศจีนมีมูลค่าการนำเข้า 205.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 โดยที่มูลค่าเกินดุลการค้า 46.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าการเกินดุลเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 1/2550 คิดเป็นมูลค่า 15.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ทางด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 135.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสิ้นปี 2549
ประเทศจีนที่ยังมีการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถดูได้จากรายได้ของประชาชนในเมือง ร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับภาคการผลิตทางภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยที่อุตสาหกรรมหนักมีมูลค่าการเจริญเติบโตร้อยละ 19.6 ซึ่งมีการขยายตัวมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2 และอุตสาหกรรมเบามีการขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ,ถ่านหินมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 และผลิตภัณฑ์เหล็ก, เหล็กกล้าผลิตลดลงร้อยละ 26.2 ,ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ผลิตร้อยละ 35.3, ชิ้นส่วนยานยนต์ร้อยละ 22.3 และรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1
จากไตรมาสที่ 1/2550 มีมูลค่าจากสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 43.8 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22 และมีกำไรจากการขายสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 293.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 97.1 ที่มีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมี 39 อุตสาหกรรมและบริษัทร่วมทุนอีก 35 บริษัทที่มีกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยที่อุตสาหกรรมที่มีกำไรเพิ่มมากขึ้นคือ เหล็ก พลังงาน เคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตมากขึ้นเช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน
เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาสที่ 1/2550 เริ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีความร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีซึ่งสามารถดูได้จากการเกินดุลการค้ากับต่างประเทศที่ประเทศจีนมีมูลค่าการส่งออกสูงมากขณะที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียกำลังประสบภาวะการส่งออกจากการแข็งค่าของเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยที่การร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศจีนนี้ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมากระตุ้นภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องแต่ลดความร้อนแรงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศจีนดำเนินการพัฒนาทางด้านสังคมต่าง ๆ เช่นการศึกษา การรักษาพยาบาล จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชาชนมีการบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการลงทุนที่มีเสถียรภาพดีนั่นเอง
ประเทศญี่ปุ่น
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4/2549 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าที่ชะลอตัวลง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งการที่ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าเสื้อผ้าจากประเทศจีนลดลงจึงทำให้เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นยังได้รับแรงผลักดันจากความต้องการซื้อภายนอกเป็นหลักอีกด้วย
ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อย 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าประเทศญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อได้มีการปรับตัวลดลง เนื่องมาจากราคาของพลังงานที่มีการปรับตัวลดลง และการที่ลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จึงมีผลต่อเนื่องถึงเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสนี้
ทางด้านการค้าระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีการส่งออกร้อยละ 16.8 ซึ่งมีการส่งออกที่ดีขึ้นในหมวดของสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ แต่การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นจากการนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันที่มีราคาสูงนั้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ยังรวมไปถึงการนำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอีกด้วย
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4/2549 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.0 ในสัดส่วนของ GDP ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบอัตราส่วนต่อปี การบริโภคที่เพิ่มขึ้นนี้ได้มีการเพิ่มขึ้นจากหลายหมวดด้วยกันคือในหมวดการท่องเที่ยวคือ รถยนต์ ทีวีจอแบน และโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ การลดลงของราคาผัก อากาศที่ไม่หนาวมากเกินไป และราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมีส่วนกระตุ้นให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ในไตรมาสนี้มีการบริโภคขยายตัวมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 /2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 110.1 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวร้อยละ 5.4 และเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอและวิศวกรรมเครื่องกลซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นคำสั่งซื้อที่มีการขัดแย้งกันและเป็นคำสั่งซื้อที่มีค้างอยู่นั่นเอง
เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 ที่ขยายตัวขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากราคาของน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงและประชาชนในประเทศเริ่มที่จะลดการใช้พลังงานลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ก็เนื่องมาจากการลดปริมาณการนำเข้าลง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นอาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการที่เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาได้กระทบต่อความต้องการซื้อสินค้าของประเทศญี่ปุ่นหรือการส่งออกซึ่งทั้งนี้ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นลดลงเล็กน้อย การที่มีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดย GDP ในไตรมาส 4 ปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2549 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 เนื่องจากอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -5 เทียบกับในเดือนมกราคมที่อยู่ในระดับ -7 สำหรับภาคการผลิตในไตรมาส 1 ปี 2550 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยะล 88.4 อัตราการว่างงานในเดือนมกราคมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 7.4 และค่าจ้างเฉลี่ยในไตรมาส 4 ปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยูโร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 โดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่จากการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปที่สูงกว่าศักยภาพในระยะยาวและตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัว อีกทั้ง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 เป็นต้นมาทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2550 ลงจากร้อยละ 1.5 -2.5 เป็นร้อยละ 1.5 — 2.1 และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย refinancing rate ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.75
ค่าเงินยูโรโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.3087 ดอลลาร์สหรัฐ : ยูโร และในเดือนมีนาคม 2550 ค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.3219 ดอลลาร์สหรัฐ : ยูโร เนื่องจากการปรับตัวของระดับค่าจ้างในอนาคต ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยในไตรมาส 4 ปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย
ฮ่องกง
ภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 4 ปี 2549 เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ โดย GDP ขยายตัวร้อยละ 7.0 และขยายตัวสูงกว่าไตรมาส 3 ปี 2549 โดยในไตรมาส 3 ขยายตัวอยู่ที่ 6.7 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2548 ขยายตัวลดลง GDP ของไตรมาส 4 ปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 7.8 การขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงมีสาเหตุหลักมาจาก การบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดีจากตลาดการจ้างงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยะละ 10.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ถึงแม้ว่าเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์จะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผันผวน แต่การส่งสินค้า Re-exports ในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวเพิ่มมากถึงร้อยละ 14 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 นอกจากนี้ การประกาศลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (salaries tax) และอสังหาริมทรัพย์ (property rate) ตามแผนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลปีนี้จะเป็นตัวกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้า (Import of goods) ได้ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ขณะที่เดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 12.2
อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ร้อยละ 0.8 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่อยู่อาศัยของภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดีถ้าไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัยของรัฐบาลในตะกร้าเงินเฟ้อ ทิศทางเงินเฟ้อของไตรมาส 1/2550 กลับสูงขึ้น เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนส่งผลให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2549 ร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2550 ร้อยละ 2.4 สำหรับดุลการชำระเงินในไตรมาส 4 ปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 12.1 ลดลงจากไตรมาส 3 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.2
เกาหลีใต้
ในไตรมาสที่ 1/2550 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.0 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.9 ซึ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี สาเหตุที่ทำให้ GDP มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคือการบริโภคภาคเอกชนที่มีปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้านการลงทุนของเอกชนในกิจกรรมการผลิตและการใช้จ่ายในการก่อสร้างยังมีสัญญาณการเติบโตที่ดีการลงทุนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกาหลีใต้มีดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจำนวน 554.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเกินดุลจำนวน 243.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศของประเทศเกาหลีใต้ที่สูงขึ้น 8.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงมีส่วนให้ประเทศเกาหลีใต้มีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น
ภาคการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1/2550 ประเทศเกาหลีใต้มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 17.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งมูลค่าการส่งออกได้ส่งออกไปยังตลาดใหญ่ ๆ 2 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและประเทศจีน มีมูลค่า 887 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งออกที่มีการลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั้งสองลดการนำเข้าลงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา การนำเข้านั้นประเทศเกาหลีใต้มีการนำเข้ามีการขยายตัวร้อยละ 19.9 ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศทำให้นักธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มและมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ทางด้านภาคอุตสาหกรรมของประเทศเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 1/2550 มีการผลิตลดลงร้อยละ 0.8 สาเหตุเนื่องมาจากการลดลงของการส่งออกที่ลดลงจากการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกามีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการที่เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้นั้นมักจะมีการชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะมีสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในช่วงปลายปี จึงเป็นผลให้ภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตลง อุตสาหกรรมที่ยังมีการขยายตัวอยู่คืออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม Semi Conductor และอุตสาหกรรมที่ลดลงคืออุตสาหกรรมผลิตอาหาร เนื่องจากมีการลดการบริโภคลงจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1/2550 มีการบริโภคร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้มีการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริโภคส่วนใหญ่เป็นสินค้าคงทนส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนที่ลดลงการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
เศรษฐกิจอาเซียน
สิงคโปร์
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวร้อยละ 7.6 สูงกว่าอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่ 3 ปี 49 โดยเป็นผลจากปัจจัยในเรื่องความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้รับผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ความต้องการสินค้าของสิงคโปร์ในตลาดโลกขยายตัวสูงขึ้น และจากการที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังส่งผลให้อุตสาหกรรมสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันของสิงคโปร์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4/2549 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3/2549 ที่ร้อยละ 0.7 เป็นผลเนื่องมาจากจากการลดลงของราคาเสื้อผ้าและบ้าน ถึงแม้ว่าโดยรวมราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ราคาสินค้านำเข้าก็ปรับตัวลดลงจากค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อรวมทั้งปีอัตราเงินเฟ้อปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 1
ด้านภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4/2549 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.5 ส่งผลให้ทั้งปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมขายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุที่ลดลงเนื่องมาจากความต้องการด้านสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคของสหรัฐฯลดลง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เนื่องจากมีสัดส่วนเป็นกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวม และมีสัดส่วนเป็นเกือบครึ่งของยอดการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน
ด้านการค้าต่างประเทศรวมน้ำมันในไตรมาส 4/2549 ขยายตัวที่ร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาที่ 3/2549 ที่อยู่ที่ร้อยละ 12.2 และการส่งออกที่ไม่รวมน้ำมันหดตัวที่ร้อยละ 1.4 เนื่องจากการส่งออกยา และอุปการณ์เทคโนโลยีลดลง ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 34.6 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด น้ำมันมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 26.2 รวมทั้งปีการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14 ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่แล้วซี่งอยู่ที่ร้อยละ 14.8 รวมทั้งปีมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบจากปีก่อน
มาเลเซีย
เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 4/2549 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในปีนี้โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 3/2549 สำหรับเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวร้อยละ 5.9 เนื่องมาจากเศรษฐกิจมาเลเซียจะชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกลดลง แต่ทั้งนี้มีปัจจัยบวกในด้านการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว สามารถทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับภาวะตกต่ำของตลาดหุ้นทั่วโลกได้
ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาส 4/2549 อยู่ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงหลังจากก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดระดับ 78.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินริงกิตมาเลเซียส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง
ภาวะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4/2549 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าไตรมาส 3/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.1 เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ต่ำลงโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.9 จากเดิมในไตรมาส 3/2549 เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 6.5 ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอยู่ที่ร้อยละ 13.1 จากเดิมไตรมาสที่ 3/2549 อยู่ที่ร้อยละ 18.1 แต่ในอุตสาหกรรมยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 14.4 ในไตรมาส 4/2549 มากกว่าไตรมาสที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.5
ภาวะการส่งออกในไตรมาสที่ไตรมาส 4/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ลดลงจากไตรมาส 3/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.1 เนื่องมาจากการส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.7 จากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐชลอตัวลง ด้านภาวะการส่งออกยางขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 29.8 จากไตรมาสที่แล้วขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 47.5 เนื่องจากความต้องการยางในตลาดโลกลดลงและราคายางของมาเลเซียที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยรวมทั้งปี 2549 การส่งออกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ลดลงจากปี 2548 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ด้านภาวะการนำเข้าในไตรมาสที่ไตรมาส 4/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ลดลงจากไตรมาส 3/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.5 โดยรวมทั้งปี 2549 การนำเข้าขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.7
เวียดนาม
เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าไตรมาส 1/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ด้านภาคเกษตรและการประมงขยายตัวกว่าร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าไตรมาส 1/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.1
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ