ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มีนาคม 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2550 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2550
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2550 เท่ากับ 134.4สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คือ 132.7
2 การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3
2.2 เดือนมีนาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8
2.3 ไตรมาสแรกของปี (มกราคม - มีนาคม 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2550 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4) เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กตัวซี เหล็กฉากและตะแกรงเหล็ก) ร้อยละ 2.8 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ท่อระบายน้ำคอนกรีต) ร้อยละ 1.6 และหมวดกระเบื้อง (กระเบื้องยาง) ร้อยละ 3.9 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญ เป็นผลจากราคาเหล็กเส้นสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณการผลิตชะลอตัว ขณะที่ความต้องการภายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2550 เทียบกับเดือนมีนาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 (กุมภาพันธ์ 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2) เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ที่สำคัญคือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ท่อเหล็กและเหล็กแผ่น) ร้อยละ 11.6 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (สายไฟ สายเคเบิลและถังเก็บน้ำ) ร้อยละ 11.5 และหมวดสุขภัณฑ์ (โถส้วมราดน้ำและที่ปัสสาวะ) ร้อยละ 15.7 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสแรกของปี 2550 (มกราคม -มีนาคม) เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 11.6 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 12.9 และหมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 15.7 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์