รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 28, 2007 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                             สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมิถุนายน 2550
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) = 167.76 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 (168.00) ร้อยละ 0.14 แต่เพิ่มขึ้น
จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (158.47) ร้อยละ 5.86
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2550 ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้
จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง การผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ การผลิตรถจักรยานยนต์
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 66.76 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 (67.50) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.66)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2550
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะทรงตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจำหน่ายสินค้าในประเทศอาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย การส่งออกสิ่งทอจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะยังติดลบ เนื่องจากยังมีผลกระทบจากค่าเงินบาท และการแข่งขันจากจีนและเวียดนาม ขณะที่การจำหน่าย ในประเทศมีการใช้จ่ายไม่มากนัก
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กในเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัว โดยเป็นผลมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังทรงตัวอยู่ ขณะที่เหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าจะทรงตัวเช่นกัน จากตลาดภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ ผู้ประกอบการจึงขยายตลาดไปยังต่างประเทศซึ่งยังคงมีคำสั่งซื้ออยู่
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2550 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2550 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 49 และส่งออกร้อยละ 51
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม 2550 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างรวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการส่งออกเพื่อทดแทนตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวลงประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในแถบอาเซียนขยายตัวดีขึ้น
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม ปี2550 ปริมาณการจำหน่ายของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยดูจากดัชนีการส่งสินค้า ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกของสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 21 นิ้ว ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 3 ประมาณการว่าจะขยายตัวเช่นกัน ประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีปริมาณ
จำหน่ายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าในเดือนกรกฎาคม 50 จะขยายตัวร้อยละ 10 ขณะที่ ในช่วงไตรมาส 3 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เช่นกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออก Hard Disk Drive ที่ขยายตัวสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2550
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 162.30 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (168.03) ร้อยละ 3.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (154.50) ร้อยละ 5.0
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.17 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชี และเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.88 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (65.45) และไตรมาสเดียวกันของปี 2549 (67.77)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น
ในช่วงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 65.17 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 (68.31)โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)
พ.ค. 50 = 168.00
มิ.ย. 50 = 167.76 (ลดลง)
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงเล็กน้อย ได้แก่
- การผลิตน้ำตาล
- การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
- การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
พ.ค. 50 = 67.50
มิ.ย. 50 = 66.76 (เพิ่มขึ้น)
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะยังทรงตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อน สำหรับการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับลดราคาน้ำมัน
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.5 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.9 โดยปริมาณสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ร้อยละ 54.2 และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 33.1เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอื่นๆ มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 7.7 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 7.6 และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 1.6 จากวัตถุดิบขาดแคลน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ สินค้าน้ำมันปาล์มและถั่วเหลืองมีการผลิตลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 19.1 และ 1.2 ตามลำดับ ส่วนอาหารไก่ผลิตลดลงร้อยละ 0.5 สำหรับน้ำตาลทรายได้ปิดฤดูกาลหีบอ้อยปี 49/50 แล้วมีเพียงการละลายน้ำตาลทรายดิบผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพื่อส่งจำหน่ายตามคำสั่งซื้อเท่านั้น
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตร ไม่รวมน้ำตาล มีปริมาณจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 8.7 และ 6.3 ตามลำดับ เนื่องจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย
2) ตลาดต่างประเทศ การส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 14.8 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.9 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ผู้ส่งออกสามารถรับคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาจากการคาดการณ์ว่าราคาจะ ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญๆ ของไทย ได้แก่ กุ้ง สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาลทรายและสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นจากเดือน ก่อนร้อยละ 21.5 20.1 และ 18.1 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะทรงตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องขณะที่การจำหน่ายสินค้าในประเทศอาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
อุตสาหกรรมสิ่งทอคาดว่าจะยังมีผลกระทบจากค่าเงินบาทและการแข่งขันจากจีนและเวียดนาม...
1. การผลิต
การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ยางยืด และเสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3, 0.9, 0.9 และ 4.6 ตามลำดับ แต่การผลิตผ้าผืนลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตยังคงเพิ่มขึ้น ยกเว้นเพียงผ้าผืนซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7โดยเฉพาะผ้าผืนทอด้วยไหม
2. การตลาด
ตลาดในประเทศ การจำหน่ายส่วนใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ตลาดต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ผ้าผืนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เส้นใยประดิษฐ์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ยกเว้นเพียงการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งออกลดลงร้อยละ 3.5 โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 9.2 และตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 20.7 ผลสืบเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทที่มีอย่างต่อเนื่อง
3. การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอเดือนมิถุนายนมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ด้ายทอผ้าฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ตลาดนำเข้าได้แก่ จีน และญี่ปุ่น ผ้าผืนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ตลาดนำเข้าได้แก่ จีนและไต้หวัน ขณะที่การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 17.3 ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาถูกจากจีน และฮ่องกง และเส้นใยฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 1.6 แต่เมื่อ เทียบกับเดือน เดียวของปีก่อนส่วนใหญ่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย การส่งออกสิ่งทอจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะยังติดลบ เนื่องจากยังมีผลกระทบจากค่าเงินบาท และการแข่งขันจากจีนและเวียดนาม ขณะที่การจำหน่าย ในประเทศมีการใช้จ่ายไม่มากนัก
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติโครงการกิจการผลิตเหล็ก ในนามบริษัท เอ็น.ที.เอส.สติลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) มูลค่าเงินลงทุน 3,900 ล้านบาท โดยเป็นการขยายกำลังการผลิตเหล็กขั้นต้น (น้ำเหล็ก กำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี เหล็กถลุง 150,000 ตันต่อปี) และการ
ผลิตเหล็กขั้นกลาง (Steel Billet กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี) โดยโรงงานตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน มิ.ย. 50 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงถึงร้อยละ 12.59 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 129.82 เมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 19.67 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกที่ลดลง ร้อยละ 36.46 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 25.85 เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งได้ลดปริมาณการผลิตลง หลังจากที่เมื่อเดือนก่อนได้ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อพิเศษเป็นจำนวนมาก ในเดือนนี้จึงปรับแผนการผลิตให้ปกติ โดยภาพรวมของเหล็กทรงแบนในเดือนนี้มีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ที่ลดลงอันเป็นผลมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ และการที่ความต้องการใช้ในประเทศลดลงทำให้ผู้ผลิต ต้องขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว พบว่ามีการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.86 โดยเหล็กลวด ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 39.43 แต่เหล็กเส้นข้ออ้อยกลับมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 14.35 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบมีความผันผวน จึงทำให้ผู้ผลิตเกิดความไม่มั่นใจที่จะสต๊อกวัตถุดิบไว้ จึงสั่งซื้อเฉพาะเท่าที่จำเป็นใช้เท่านั้น มีผลให้บางบริษัทมีวัตถุดิบไม่เพียงพอในการผลิต ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงนอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากเมื่อเดือนกอ่ นมีการผลิตสินค้า ชนิดนี้ไว้แล้วในปริมาณมาก โดยภาพรวมของการผลิตเหล็กทรงยาวในเดือนนี้ยังคงมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศด้วยขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 21.42 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 32.19 เป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่ลดลง ร้อยละ 45.43 35.36 และ 26.26 ตามลำดับ ขณะที่เหล็กทรงยาวการผลิตขยายตัวขึ้น ร้อยละ 8.53 โดยเหล็กเส้นกลมขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.39
2.ราคาเหล็ก
การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนใหญ่จะทรงตัว โดยเหล็กแท่งแบน เหล็ก แผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น มีราคาทรงตัว คือ 535 550 และ 615 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ แต่เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต กลับมีราคาที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยลดลงจาก 490 เป็น 479 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 2.30 และเหล็กเส้น ลดลงจาก 550 เป็น 544 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 1.14 เนื่องจากความต้องการใช้ที่ลดลงของยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ไม่มีการสั่งซื้อสินค้าในช่วงนี้ ซึ่งแนวโน้มของราคาเหล็ก ประเภทดังกล่าวอาจมีทิศทางที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีสินค้าคงคลังอยู่ในปริมาณมาก ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงชะลอตัวอยู่
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ก.ค. คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนโดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัว โดยเป็นผลมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังทรงตัวอยู่ ขณะที่เหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าทรงตัวเช่นกัน จากตลาดภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ ผู้ประกอบการจึงขยายตลาดไปยังต่างประเทศซึ่งยังคงมีคำสั่งซื้ออยู่
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2550 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2549 โดยมีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ในขณะที่ตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว ตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 111,336 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการผลิต 99,806 คัน ร้อยละ 11.55 แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 0.22
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 53,222 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 55,532 คัน ร้อยละ 4.16 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 3.62
- การส่งออกรถยนต์ จำนวน 55,603 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการส่งออก 45,780 คัน ร้อยละ 21.46 ประเทศที่มีการนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ประเทศแถบโอเชี่ยนเนีย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 2.90
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2550 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2550 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 49 และส่งออกร้อยละ 51
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2550 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2549 โดยได้รับผลกระทบจากตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงชะลอการจับจ่ายใช้สอย โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือน มิถุนายน ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 148,110 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการผลิต 186,868 คัน ร้อยละ20.74 และลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 6.43
- การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 152,654 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 188,369 คัน ร้อยละ 18.96 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 3.16
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU) มีจำนวน 8,600 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งมีการส่งออก 8,482 คัน ร้อยละ 1.39 แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 ร้อยละ 13.72
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2550 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2550 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ในประเทศชะลอตัว เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงซบเซา สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในแถบอาเซียนขยายตัวดีขึ้น
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือน มิถุนายน 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.73 และ 1.43 ตามลำดับ ซึ่งถือว่ายังทรงตัวอยู่ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ลดลงร้อยละ 7.97 และ 11.1 ตามลำดับเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดที่ลดลง เพราะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานไม่มีความคืบหน้า โดยเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมิถุนายน 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 และ 21.50 ตามลำดับ แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่ายังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากกิจกรรม การก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
3.แนวโน้ม
ในเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม 2550 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างรวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องสำหรับการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการส่งออกเพื่อทดแทนตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวลงประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในแถบอาเซียนขยายตัวดีขึ้น
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมิถุนายน 2550 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.86โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD
- "บีโอไอ" อนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนจากนิวซีแลนด์ ย้ายฐานผลิตเครื่องซักผ้า FISHER & PAYKEL มูลค่าลงทุน 1,634 ล้านบาท ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เริ่มผลิตได้กลางปี 2551
- กรมศุลกากรได้ปรับการคิดภาษีนำเข้าจอคอมพิวเตอร์ประเภทแอลซีดี ที่มี DVI port (digital visual interface) ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากเดิมที่อยู่ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ภาษีนำเข้า 0% ย้ายไปอยู่หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มีภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 20%
1.การผลิต
ภาพรวม ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมิถุนายน 2550 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 265.72 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.86โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนก่อน โดยมีดัชนีอยู่ที่ระดับ 345.81 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.24 ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.86 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของตัว HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.80เนื่องจากภาวะความต้องการของตลาดโลกค่อนข้างสูง แต่สภาพการแข่งขันสูงในตลาดทำให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากทำให้รุ่นเก่าๆอาจราคาตกต่ำเร็วมาก แต่เนื่องจากบริษัทต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งการครองตลาดไว้โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณไว้ทำให้ยอดจำหน่ายสูงตามสภาพการแข่งขันด้วย นอกจากนี้ ภาพรวมการผลิต HDD ในประเทศไทย มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากบริษัท HDD คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตและผลิตในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งส่งผลดีกับการจัดการซัพพลาย เชนที่สะดวกยิ่งขึ้น และใช้เวลาสั้นลง ใกล้กับแหล่งประกอบสินค้าสำเร็จรูปในจีน
2. การตลาด
ดัชนีส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 6.54 โดยมีดัชนีอยู่ที่ 301.52 ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีการส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.26 เป็นผลจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 21.52 ทั้งนี้เนื่องจากเป็นส่วนประกอบส่งออกที่สำคัญและไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่มีอยู่ในตลาดโลกที่ต้องการส่วนประกอบไปใช้ในอุปกรณ์ เทคโนโลยีประเภท Consumer electronics เช่น MP3 Player, PC, กล้องดิจิตอลต่างๆ ขณะที่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศค่อนข้างมีการเติบโตสูงเช่นกัน
3. แนวโน้ม
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนก.ค.ปี2550 ประมาณการจากแบบจำลองภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าปริมาณการจำหน่ายของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยดูจากดัชนีการส่งสินค้า ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกของสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 21 นิ้ว ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.50) ประมาณการว่าจะขยายตัวเช่นกัน ประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เนื่องจากในช่วงกลางถึงท้ายปีจะเร่งทำการผลิตเพื่อขายปลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มภาพและเสียง นอกจากนี้ในกลุ่มของเครื่องปรับอากาศยังมีแรง หนุนจากสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงกลางปีของปีนี้ในกลุ่มประเทศอียูอีกด้วย ณะที่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีปริมาณจำหน่ายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าในเดือนก.ค.50 ขยายตัวร้อยละ 10 ขณะที่ ในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.50) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เช่นกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออก HDD ที่ขยายตัวสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในเดือนมิถุนายน 2550 มีค่า 167.76 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2550 (168.00) ร้อยละ 0.1 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (158.47) ร้อยละ 5.9
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณอุตสาหกรรมการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมิถุนายน 2550 มีค่า 66.76 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 (67.50) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.66)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ