จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 และหากพิจารณาค่า GDP ที่ปรับฤดูกาลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ซึ่งขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.1
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 และร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวได้ดีประกอบด้วย อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2549 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.0 เนื่องจากปริมาณการส่งออกชะลอตัว แต่ปริมาณการนำเข้าเร่งตัวมากขึ้นและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 โดยจะเห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16.8 (มูลค่าในรูปดอลลาร์สหรัฐ) และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.4 (มูลค่าในรูปเงินบาท) โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุน ภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในยอดการนำเข้าสินค้าทุน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่าเครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
สำหรับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 คงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย
- ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2550
- อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
- อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนประเมินต้นทุนทางการเงินจากการกู้ยืมได้ง่ายขึ้น และหากมีการปรับลดก็จะปรับลดเพียงเล็กน้อย
- ความเชื่อมั่นของประชาชนดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายประชาชนปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2550 จะเป็นข้อจำกัดสำหรับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในปี 2550 โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีปัญหาราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนได้ง่ายเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน ราคาสินค้าเกษตรชะลอตัวและกระทบรายได้เกษตรกร และการปรับตัวของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกภายใต้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2550
เศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 — 5.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.0—3.5 ลดลงจากปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ค่าเงินบาทแข็ง และผลของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.1 - 0.5 ของ GDP โดยในปี 2550 จะมีข้อจำกัดด้านการส่งออกและการลงทุนที่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อัตราการว่างงานจะยังต่ำ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2548 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 6.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2549 มีค่า 165.75 และในปี 2548 มีค่า 155.84 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548
เมื่อเทียบปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2548 เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกภายใต้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต แม้ว่าจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม เช่น อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 5.6 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 160.91 และในปี 2548 มีค่า 152.43 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548
เมื่อเทียบปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีการส่งสินค้าจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2548 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 10.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 176.23 และในปี 2548 มีค่า 159.08 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548
เมื่อเทียบปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะทรงตัวจากปี 2549 เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องจัดการการสำรองสินค้าไว้เพื่อจำหน่ายให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการสต๊อคสินค้าและมีสินค้าเพียงพอในการจำหน่าย
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สถานะการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 68.2 และในปี 2548 มีค่า 68.1 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548
เมื่อเทียบปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2548 สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2549 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมยังมีการใช้กำลังการผลิตได้อีก แต่อาจจะถูกจำกัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเข้ามากระทบภาคการผลิต
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ทั้ง 3 ดัชนี มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 นี้ ได้แก่ ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 7.5 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 76.8 และในปี 2548 มีค่า 83.1 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีและขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 5.0 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 77.4 และในปี 2548 มีค่า 81.5 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังรู้สึกว่าภาวะการทำงานโดยรวมยังไม่ดี และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 6.3 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 93.4 และในปี 2548 มีค่า 99.6 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่ารายได้ในอนาคตจะปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 ดัชนีปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 3.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 44.0 และในปี 2548 มีค่า 45.8 การที่ค่าดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 คือ ผลประกอบการของบริษัท อำนาจซื้อของประชาชน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท
เมื่อเทียบปี 2549 ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีการปรับตัวลดลงจากปี 2548 สำหรับแนวโน้มปี 2550 คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2549 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจเริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 94.9 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีค่า 92.1 การที่ค่าดัชนีมีค่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่าสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ไม่ดี และในเดือนตุลาคม 2549 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2549 เป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อโดยรวมลดลง โดยเฉพาะภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและการขนส่งสินค้าที่ทำได้ลำบากมากขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อ ผลประกอบการลดลงเช่นกัน ตามยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ลดลง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิตและการขยายการลงทุนลดลงตามไปด้วย
คาดว่าในปี 2550 ดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวดีขึ้น เช่น ความเชื่อมั่นต่อต้นทุนการประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง ถ้าราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวไม่ผันผวน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทรงตัวและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการประเมินต้นทุนทางการเงินได้ง่ายขึ้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 123.9 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน ร้อยละ 0.1 ตามการปรับตัวลดลงของเครื่องชี้ ได้แก่ ปริมาณเงิน M2a ณ ราคาคงที่ มูลค่าการส่งออกสินค้า ณ ราคาคงที่ การลงทุนของบริษัท จดทะเบียนใหม่
สำหรับดัชนีเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 มีค่า 125.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีค่า 124.4
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 125.7 เท่ากับเดือนกันยายน โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์
สำหรับดัชนีเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 มีค่า 125.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีค่า 124.2
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 1.3 (ตารางที่ 5)
ทั้งนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้จากปี 2548 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
เมื่อเทียบในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งไม่สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2550 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนน่าจะทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2549 หากความกังวลของธุรกิจและผู้บริโภคลดลงจนทำให้ความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความเชื่อมั่นยังคงมีอยู่ เช่น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 2.2
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 2.4
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 7.9
ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ประมาณร้อยละ 3.7
สำหรับแนวโน้มปี 2550 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้บ้างจากปี 2549 หากความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทรงตัวและมีทิศทางที่ชัดเจนจะช่วยให้ประเมินต้นทุนทางการเงินจากการกู้ยืมได้ง่ายขึ้น ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยที่มีแนวโน้มทรงตัวในปี 2550 ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อไปได้
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 114.2 และในปี 2548 มีค่า 108.9 เป็นผลมาจากการเพิ่มของราคาตามราคาผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าว การขนส่ง และพลังงาน
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2549 ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2549 มีค่า 135.5 และในปี 2548 มีค่า 125.6 เป็นผลมาจากการเพิ่มราคาทั้งในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 18.8, 18.5 และ 5.8 ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจะยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ลดลงมาก จึงทำให้ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับราคาที่เพิ่มขึ้นได้
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในปี 2549 (ตัวเลขเดือนตุลาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 36.07 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 35.39 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.11 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.602 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.70)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2549(ตัวเลขเดือนตุลาคม) มีจำนวน 6.26 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.61 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของปี 2549 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม) มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 8,568,751 คน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2549 (ข้อมูลล่าสุดที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประมวลผล ณ เดือนธันวาคม) มีจำนวน 125,121 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 65,315 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์และการสื่อสารมีจำนวน 14,845 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 6,625 คน และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจำนวน 6,484 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 14,862 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง 703 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 514 แห่ง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำนวน 355 แห่ง
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าต่างประเทศในปี 2549 การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2549 มีมูลค่า 213,787.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.19 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 107,117.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 การนำเข้ามีมูลค่า 106,670.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 ไทยได้เปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 447.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2549 ที่มูลค่า 120,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
- โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม-ตุลาคม) ประกอบด้วยสินค้า อุตสาหกรรม 82,576.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.1) สินค้าเกษตรกรรม 10,656.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.9) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 6,500.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.1) สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิง 5,786.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.4) และสินค้าอื่นๆ 1,597.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.5)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกตัวมีอัตราการขยายตัว ที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าเกษตรกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 15.0 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 ส่วนสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 12,124 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ ยานพาหนะและอุปกรณ์ 7,755.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 5,800.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 4,470.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 3,727.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 3,080.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมนีและเครื่องประดับ 3,020.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ 2,967.7 ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 2,885.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเคมีภัณฑ์ 2,743 ล้านเหรียญสหรัฐฯมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 48,575.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 45.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- ตลาดส่งออก
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 61.9 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 7.9 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.08 ตลาดสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.13 และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.38
- โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ประกอบด้วยสินค้าวัตถุดิบ มีมูลค่าสูงที่สุด 43,833.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 41.1) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน 29,459.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.7) สินค้าเชื้อเพลิง 21,496.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 20.2) สินค้าอุปโภคบริโภค 7,475.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.0) สินค้าหมวดยานพาหนะ 3,229.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.0) และ สินค้าอื่นๆ 1,140.3 (คิดเป็นร้อยละ 1.1)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว ได้แก่ สินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.3 ด้านสินค้าที่มีการนำเข้าลดลงได้แก่ สินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 4.9 สินค้าหมวดอื่นๆ ลดลงร้อยละ 6.1
- แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 53.5 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 16.55 สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 0.12 และจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.84
- แนวโน้มการส่งออก
เป้าหมายการส่งออกในปี 2550 กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาตัวเลขจากที่สำนักต่าง ๆ คาดการณ์ไว้ นำมาพิจารณากับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกรวมได้ประมาณการไว้ว่าการส่งออกของไทยในปี 2550 จะขยายตัวร้อยละ 10-12.5 สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยค่าเงินบาท จะเห็นได้จาก 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วและ 3 เดือนแรกของปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ไทยยังส่งออกได้ดี เพราะเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวแม้จะเป็นไปในทิศทางชะลอลง ส่วนปีหน้าแม้เศรษฐกิจโลกกับสหรัฐจะชะลอลง จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5 เหลือไม่ถึงร้อยละ 2 และการค้าโลกจะเติบโตร้อยละ 7.6
(ยังมีต่อ)