ส่งออกสินค้าอาหารยังไว้ใจได้ ฟันธงทั้งปีทะลุ 6 แสนล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 23, 2007 14:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สถาบันอาหารได้คาดการณ์ส่งออกอาหารของไทยปี 2550 จะมีมูลค่าประมาณหกแสนล้านบาทภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 4.9% ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออกในปี 2550 โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากตลาดจีนลูกค้าหลักยังมีความต้องการสูง สินค้ากลุ่มอื่น ๆ จะไม่มีกลุ่มใดโดดเด่นเป็นพิเศษการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกันทุกกลุ่ม  โดยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง
สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สินค้าข้าว ส่งออกมูลค่ามากที่สุดมีปัจจัยบวกจากคาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกในปีนี้จะอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้คู่แข่งบางประเทศมีการควบคุมปริมาณส่งออก สินค้ากุ้งยังแข่งขันได้ดี แต่ฐานการส่งออกในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูงและความต้องการของตลาดในปีนี้ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2550 ที่สำคัญคือแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนและประเทศกำลังพัฒนา ตลาดส่งออกกุ้งและอาหารทะเลในสหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการที่ไทยได้รับคืนสิทธิจีเอสพี (สิทธิทางภาษีศุลกากร) อียู แต่ในภาพรวมการขยาตัวจะชะลอตัวลง การส่งออกไก่แปรรูปไปอียูมีแนวโน้มสดใสจากการได้รับโควต้าภาษีนำเข้าเพิ่ม ตลาดกุ้งยังแข่งขันได้ดี เนื่องจากสหรัฐเก็บภาษีเอดีในอัตราต่ำกว่าคู่แข่งขัน หลายประเทศถูกคู่ค้าตรวจสอบและระงับการนำเข้าสินค้าอาหารจากกรณีพบสารเคมีปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่กำหนดและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันที่ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกทำให้ลดการนำเข้า การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ โรคระบาดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สัมปทานการทำประมงระบบใหม่ของอินโดนีเซียทำให้ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลมีแนวโน้มลดลง
ประเด็นวิเคราะห์
เป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารหกแสนล้านบาทในปีนี้มีแนวโน้มเป็นไปได้หรือไม่จะต้องรอให้ผ่านไตรมาสแรกของปีนี้ไปแล้วมีทิศทางของปัจจัยเสี่ยงทั้งค่าเงินบาท ราคาน้ำมันและอื่น ๆ ซึ่งหากทุกอย่างมีความชัดเจนและไม่ผันผวนมากตัวเลขดังกล่าวน่าจะสามารถทำได้ เพราะผู้ส่งออกจะสามารถวางแผนธุรกิจได้ดีขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ