ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 3/2550(กรกฎาคม - กันยายน 2550)จากการสอบถามนักธุรกิจ จำนวน 2,021 ราย คาดว่าดีขึ้นร้อยละ 21.8 ไม่เปลี่ยนแปลงร้อยละ 42.6และไม่ดีร้อยละ 35.6คิดเป็นค่าดัชนีเท่ากับ 43.1ซึ่งมีค่าต่ำกว่าเส้น 50แสดงถึงความเชื่อมั่นของ นักธุรกิจต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งมีสาเหตุ มาจากการเมืองไม่นิ่ง ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และการลงทุน
ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจ ไตรมาส 2/2550
1. ภาวะธุรกิจทั่วไป
ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว จากปัญหาการเมืองที่ไม่นิ่ง การแข็งค่าของเงินบาท เศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการลงทุน
2. ภาวะธุรกิจในสาขาต่าง ๆ
เกษตรกรรม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรกลับตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลงอุตสาหกรรม ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกพาณิชยกรรม ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ได้รับผลกระทบจากการเปิดโมเดิร์นเทรดซึ่งขณะนี้กระจายทั่วทุกภูมิภาคก่อสร้าง การก่อสร้างชะลอตัวธุรกิจขาดสภาพคล่องประกอบกับการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐล่าช้าการเงิน ประชาชนใช้จ่ายเงินในอนาคตกับสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดหนี้เสียในระบบค่อนข้างมากบริการ ได้รับผลกระทบจากการประหยัดการใช้จ่ายของภาคประชาชน
3. ผลประกอบการของธุรกิจ
กำไรจากการประกอบกิจการลดลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ราคาขายไม่สามารถปรับให้สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมากกว่าคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง
4. ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าและบริการ
ต้นทุนสูงจากราคาวัตถุดิบ น้ำมัน สาธารณูปโภค และค่าแรงงาน
5. การจ้างงานในธุรกิจ
ขาดแรงงานระดับล่างหรือแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้การพัฒนาด้านการศึกษาไม่สนองตอบต่อตลาดแรงงาน
6. การขยายกิจการของธุรกิจ
ธุรกิจชะลอการขยายกิจการ เพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองและผลการเลือกตั้ง
ข้อเสนอแนะ
1. ความนิ่งทางการเมือง การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการจัดให้มีการเลือกตั้งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
2. ใช้มาตรการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน
3. ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยหาตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อกระจายสินค้าโอทอป
4. ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง พร้อมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
5. จัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
6. รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งควรอยู่ที่ระดับ 36-38 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ
7. ติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อดูแลต้นทุนและภาวะเงินเฟ้อ
8. กระแสการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจมีน้อย ควรดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ
9. ให้ความรู้ด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการ พร้อมกับลดขั้นตอนในการดำเนินการด้านการส่งออก
ภาคผนวก
จังหวัดที่ทำการสำรวจ ประกอบด้วย
กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และ นนทบุรี นวน 293 ราย
ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และ นครนายก จำนวน 325 ราย
ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก แพร่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี สุโขทัย พิจิตร และ กำแพงเพชร จำนวน 467 ราย
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และ สระแก้ว จำนวน 130 ราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร ชัยภูมิ สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู เลย อำนาจเจริญ และ มหาสารคาม จำนวน 460 ราย
ภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ นราธิวาส ยะลา ชุมพร พังงา ระนอง สตูล พัทลุง และ ปัตตานี จำนวน 346 ราย
ระยะเวลาการสำรวจ
ดำเนินการสำรวจทุก ๆ 3 เดือน สำหรับไตรมาสนี้ (ไตรมาสที่ 2/2550 ระหว่างเดือนเมษายน — มิถุนายน ) ทำการสำรวจในเดือนมิถุนายน — เดือนกรกฎาคม 2550 โดยได้รับแบบสอบถามตอบกลับ จำนวน 2,031 ชุด มีแบบเสีย 10 ชุด คิดเป็นร้อยละ 0.5 รวมแบบสอบถามที่ใช้ในการประมวลผลจำนวน 2,021 ชุด
การประมวลผลและการคำนวณดัชนี
ไตรมาสที่ 2/2550 ได้ทำการประมวลผลในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 และทำเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การคิดสัดส่วนร้อยละ
เป็นการประมวลผลโดยนำผลการสำรวจมาคำนวณร้อยละของผู้ตอบในแต่ละคำตอบ (ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ดี)
2. การคำนวณดัชนี
เป็นการนำผลการสำรวจที่ได้มาจัดทำเป็นดัชนีการกระจาย (Diffusion Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงเฉพาะทิศทางของภาวะธุรกิจ (ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่ดี)
การคำนวณดัชนีมีขั้นตอนดังนี้
1. แปลงข้อมูลเชิงคุณภาพให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (ตัวเลข) ดังนี้
ถ้าตอบว่า ดีขึ้นหรือเพิ่มขึ้น จะให้คะแนนเท่ากับ 1
ถ้าตอบว่า ไม่เปลี่ยนแปลง จะให้คะแนนเท่ากับ 0.5
ถ้าตอบว่า ไม่ดีหรือลดลง จะให้คะแนนเท่ากับ 0
2. นำร้อยละของผู้ตอบว่าดีบวกกับร้อยละของผู้ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงที่คูณด้วย 0.5 จะได้ดัชนีของแต่ละคาบเวลาดัชนีจะมีค่าสูงสุดเท่ากับ 100 และต่ำสุดเท่ากับ 0
การอ่านค่าดัชนี
ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 100 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจดี
ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 50 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้าดัชนีอยู่ใกล้แนวเส้น 0 แสดงว่านักธุรกิจคาดว่าธุรกิจไม่ดี
หากระดับดัชนีเหนือเส้น 50 แสดงว่าภาวะธุรกิจยังคงขยายตัว ทั้งนี้ถ้าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ลงมา หมายถึงว่า ภาวะธุรกิจ ไม่ดีหรือชะลอตัว
หากระดับดัชนีต่ำกว่าเส้น 50 แสดงว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ถ้าค่าดัชนีตัดแนวเส้น 50 ขึ้นไป แสดงว่าภาวะธุรกิจจะดีขึ้นหรือฟื้นตัว
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์