แนวทางการพัฒนามาตรฐานสปาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2005 14:31 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนามาตรฐานสปาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ความเป็นมา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้ทำการศึกษาและจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “แนวทางการพัฒนามาตรฐานสปาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” โดยได้รวบรวมจากเอกสารวิชาการ บทความทั้งภายในและต่างประเทศ และมีการจัดเวทีสัมมนาขึ้น 1 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็น และประมวลความคิดเห็นนั้น มาทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจัดทำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่อง “แนวทางการพัฒนามาตรฐานสปาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป
ความสำคัญและแนวทางการพัฒนามาตรฐานสปาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพแห่งเอเชีย เพื่อเพิ่มเติมรายได้ให้กับประเทศชาติ ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ภาครัฐพยายามสนับสนุนชักชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อทำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย โดยภาครัฐพยายามส่งเสริมให้นักธุรกิจในประเทศไทยเปิดสปาที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สปาที่มีมาตรฐานและมีชื่อเสียง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเบลเยี่ยม หมายถึง การใช้น้ำบำบัด ต่อมาประเทศไทยได้นำมาประยุกต์ใช้ โดยใช้การนวด การอบสมุนไพร การออกกำลังกาย โภชนบำบัด โยคะ สมาธิ และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยภาครัฐได้ตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับงานด้านสุขภาพโดยใช้ชื่อว่า กรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลรับผิดชอบโดยตรง หนึ่งในกิจกรรมของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
การส่งเสริมสปาและการสร้างสุขภาพที่ดี (Spa and Wellness)
1. สปาเพื่อสุขภาพ (Health Spa)
2. การนวดไทย (Traditional Massage)
3. การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (Longstay Health Care)
องค์ประกอบของสปา
1. ผู้ดำเนินการสปา
2. ผู้ให้บริการสปา
3. ผู้รับบริการสปา
4. วิธีการบำบัด
การดำเนินงานของภาครัฐ
การออกประกาศกระทรวงกำหนดมาตรฐานของสถานบริการ สปาเพื่อสุขภาพ การนวดเพื่อสุขภาพ การนวดเพื่อเสริมสวย
สปาเพื่อสุขภาพ หมายถึง การประกอบกิจการที่ให้การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยบริการหลักที่จัดไว้ประกอบด้วย การนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีบริการเสริมประกอบด้วย
การนวดเพื่อสุขภาพ หมายถึง การประกอบกิจการนวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความเมื่อยล้า ความเครียด ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจัด การดัด การดึง การประคบ การอบ หรือโดยวิธีการอื่นใดตามศาสตร์และศิลปะของการนวดเพื่อสุขภาพ
การนวดเพื่อเสริมสวย หมายถึง การประกอบกิจการนวดในสถานที่เฉพาะ เช่น ร้านเสริมสวยหรือแต่งผม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงาม ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจับ การประคบ การอบ หรือ ด้วยวิธีการอื่นใดตามศิลปะการนวดเพื่อเสริมสวย
การได้มาของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าหากเรื่องนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ยังขาดการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ยังขาดการส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจนำมาซึ่งการแอบแฝงของธุรกิจที่ผิดประเภทให้ประเทศชาติเสื่อมเสียได้ คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรฐานสปา เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขึ้น เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2547 ณ โรงแรมมาร์คแลนด์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
องค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องกับกิจการสปา
การศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรฐานสปา เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย เป็นโยบายของภาครัฐ เพื่อต้องการผลักดันให้ประเทศไทย โดยมีผู้ที่เข้าร่วมสัมมนา ดังต่อไปนี้
1. คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาฯ
2. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
4. ผู้แทนสถานประกอบการกิจการสปา กิจการนวดเพื่อสุขภาพ และกิจการนวดเพื่อเสริมสวย
5. แพทย์พื้นบ้านและหมอนวดแผนไทย
6. แกนนำเครือข่ายภาคประชาชนและผู้รับบริการ
7. สถาบันการศึกษา
มติและความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา
1. ภาครัฐ
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า การกำหนดมาตรฐานของสปาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ควรกำหนดมาตรฐานของงาน 3 ด้าน คือ
มาตรฐานของสปาเพื่อสุขภาพ (Health Spa)
มาตรฐานของการนวดเพื่อสุขภาพ
มาตรฐานการนวดเพื่อเสริมสวย
- กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ไม่ควรส่งเสริมสปาเพื่อสุขภาพ (Health Spa) ควรส่งเสริมสปาเพื่อการบำบัดแผนไทย (Medical Spa) เนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรที่หลากหลาย มีภูมิปัญญาไทยที่ควรนำมาเผยแพร่ และมีธรรมชาติที่สวยงาม สุดท้ายมีอาหารปรับธาตุให้สมบูรณ์ หากนำเสนอเรื่องสปา เพื่อบำบัดตามการแพทย์แผนไทย จะทำให้ยั่งยืนและนำมาซึ่งความสำเร็จมากกว่าสปาเพื่อเสริมสวย
2. สถาบันการศึกษา
เห็นว่า ควรส่งเสริมมาตรฐานแบบองค์รวม คือ สร้างมาตรฐานทั้งสถานที่ วิธีการให้บริการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานเทียบสากล มาตรฐานบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ
3. ความเห็นผู้เข้าร่วมสัมมนา
เห็นว่า การกำหนดมาตรฐานของภาครัฐทำเร็วเกินไป (การเตรียมการยังไม่สมบูรณ์)
- มาตรฐานสถานที่ยังไม่ชัดเจน ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นหลายๆ ด้านก่อนการออกประกาศกระทรวง
- มาตรฐานพนักงานทั้งผู้ดำเนินการสปาและผู้ให้บริการยังด้อยอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับ สปามาตรฐานสากล
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้ในกรรมวิธีทำสปา ยังไม่มีมาตรฐานรองรับ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น
- ภาครัฐควรศึกษา วิจัย และสนับสนุน เกี่ยวกับการทำสปาโดยใช้องค์ความรู้ของการแพทย์แผนไทยให้มากขึ้น
ความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อกิจการสปาไทย
1. ควรปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐให้สอดคล้องกับการให้บริการ และเอื้อต่อการพัฒนาและการดำเนินงานของสถานประกอบการ
2. ควรส่งเสริมให้มีการศึกษาแพทย์แผนไทยและการบริการสปาในสถานศึกษา โดยสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานกับต่างประเทศได้
3. ควรสนับสนุนการพัฒนาการใช้สมุนไพรไทยในกิจการสปา และส่งเสริมให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย
4. ควรส่งเสริมการนวดพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายมากขึ้น
5. ยกมาตรฐานกิจการสปาที่มีอยู่เดิมในโอกาสแรกให้เข้าระบบ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ