รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน พ.ค.50

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 4, 2007 09:30 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน พฤษภาคม 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2550 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2550
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2550 เท่ากับ 117.3 สำหรับเดือนเมษายน 2550 เท่ากับ 116.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนเมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.8
2.2 เดือนพฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.9
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.0) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาอาหารเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะ ไก่ ไข่ และผักสด นอกจากนี้จากการอนุมัติให้ปรับราคานมสด ทำให้เดือนนี้นมและผลิตภัณฑ์นมราคาสูงขึ้น เป็นผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.0 ส่วนดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยหลัก
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (เมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.5) ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาไก่สด ร้อยละ 1.9 ไข่ไก่สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ทั้งนี้เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ลดปริมาณการเลี้ยงก่อนหน้านี้ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ประกอบกับช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ปริมาณความต้องการสูงขึ้น นอกจากนี้ดัชนีผักสดสูงขึ้นร้อยละ 10.8 จากสภาวะน้ำท่วมที่มาเร็วกว่าทุกปีทำให้ผักบางชนิดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผักใบ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเทศ และถั่วฝักยาว ราคาสูงขึ้นมาก ประกอบกับดัชนีราคานมและผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการอนุมัติให้มีการปรับราคาเมื่อเดือนที่ผ่านมา
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ปัจจัยหลักยังคงเป็นดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งในเดือนนี้สูงขึ้นร้อยละ 3.8 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น 3 ครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลทรงตัว นอกจากนี้ช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ค่าธรรมเนียมการศึกษาในระดับต่าง ๆ ปรับสูงขึ้นทำให้ดัชนีหมวดการศึกษาสูงขึ้นร้อยละ 0.3
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนคือร้อยละ 1.9 (เดือนเมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.8) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.9 โดยมีสาเหตุสำคัญจากดัชนีหมวดผักและผลไม้ราคาสูงขึ้นร้อยละ 13.1 หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 9.2 โดยเฉพาะ ข้าวสารเหนียว สูงขึ้นร้อยละ 48.0
สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีค่าโดยสารสาธารณะร้อยละ 1.2 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.9 หมวดเคหสถาน หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.6 เท่ากัน
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2550 เท่ากับ 105.4 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนเมษายน 2550 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
5.2 เดือนพฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.7
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ