สถานการณ์เครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2007 09:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลกโดยทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ คือจากมูลค่า 24,278.13  ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547  เพิ่มขึ้นเป็น 278,252.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.74 ในช่วง 3 ปี ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ 20 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม แคนาดา ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้  เดนมาร์ค สวีเดน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เม็กซิโก และไอร์แลนด์ 
ด้านการส่งออกจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 33.52 ของมูลค่าการส่งออกในตลาดโลกรองลงมาคือ ฮ่องกง อิตาลี เยอรมนี ตรุกีและอินเดีย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 16 สัดส่วนประมาณร้อยละ 1.36 ของการส่งออกในตลาดโลกในปี 2549
การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การยกเลิกโควตานำเข้าตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) 1 มกราคม 2548 มีผลให้ผู้นำเข้าเปลี่ยนวิธีการสั่งซื้อด้วยการสั่งซื้อกับผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่ารายเล็กเพราะสะดวกในการเจรจาการค้า รวมทั้งประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญมีความเข้มงวดในด้านคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย ประกอบกับอัตราค่าแรงงานในประเทศไทยสูงขึ้นและอัตราค่าเงินบาทผันผวนมากอีกด้วย มีผลให้ผู้ผลิตของไทยหลายรายที่ขาดความชำนาญในการบริหารจัดการเพื่อปรับตัวต้องปิดกิจการไปเป็นบางส่วนผู้ประกอบการของไทยหลายรายสามารถปรับตัวด้วยวิธีลดต้นทุนด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาทิ ลาวและเวียดนามเพื่อผลิตสินค้าที่มีคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ ส่วนโรงงานในประเทศไทยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งกระจายการรับคำสั่งซื้อให้มากขึ้นในหลายแบรนด์เนมรวมทั้งการปรับตัวเป็นผู้ออกแบบและสร้างตราสินค้าเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าแทนการรับจ้างผลิตให้มากขึ้น ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปได้มากกว่า 100 ประเทศ ตลาดที่มีสถิติการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 30 นอกเหนือจากตลาดหลักมีหลายตลาดด้วยกันเช่นออสเตรีย ซาอุดิอารเบีย ไต้หวัน ฮ่องกง จีน รัสเซีย มาเลเซีย อินเดีย ไอร์แลนด์ และโตโก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ความเห็นว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างดี เพราะการส่งออกในครึ่งปีแรกขยายตัว 2.6 % คาดว่าจะยังสามารถเจริญเติบโตต่อเนื่องเพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีการปรับตัวมาตลอดซึ่งจะเห็นได้จากปีที่ผ่านมามีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตมีมูลค่า 15,000-20,000 ล้านบาท และนอกจากนี้คาดว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นจะมีสถิติสูงขึ้นเนื่องจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปปา)
คู่แข่งขันสำคัญได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ประเทศดังกล่าวสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นโดยในช่วง 6 เดือนแรก (มค.-มิย. 50) จีนสามารถส่งออกเครื่องนุ่งห่มได้เป็นมูลค่า 45,644.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.06 ส่วนอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2549 ส่งออกได้เป็นมูลค่า 8,948.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.77 และอินโดนีเซียในช่วง มค.-กพ. 2550 ส่งออกได้เป็นมูลค่า 912.644 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.18 เป็นต้น
ประเด็นวิเคราะห์
1. อุตสาหกรรมสิ่งทอจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือเป็นหลัก ดังนั้นทรัพยากรบุคคลจึงมีคุณค่ามากจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอยังมีโอกาสในความอยู่รอดก็ย่อมที่จะมีช่องให้ผู้ประกอบการได้ก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ เช่น กรณีโรงงานที่รับผลิตงานด้วยอาศัยการแข่งขันด้านราคาซึ่งต้องแข่งขันกับคู่แข่งอย่างจีนและประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ต้องพัฒนาระบบการผลิตให้สามารถรับผลิตงานที่มีคุณภาพสูงให้มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพขึ้นไปอีกระดับ
3. สำหรับการก้าวเข้าสู่ตลาดสินค้ามาตรฐานที่สูงขึ้นรวมไปถึงการเข้าถึงในตลาดเฉพาะ Niche market ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าตลาด Mass market รวมทั้งการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยการใช้เครื่องจักรใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตรวมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ