(ต่อ2) สรุปการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ข่าวการเมือง Thursday May 24, 2007 10:27 —รัฐสภา

                    ดังนั้น  ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล รัฐบาลยังคงมีความจำเป็นต้องจัดเตรียม           ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑  ซึ่งรัฐบาลต้องขอความ ร่วมมือจากสมาชิกสภาฯ ทุกท่านในการดำเนินการดังกล่าวให้ลุล่วง  เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐมีความต่อเนื่อง  โดยหลักการและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปี ๒๕๕๑  จะเป็นครั้งแรก ที่การจัดทำงบประมาณได้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยส่วนราชการที่ขอตั้ง          งบประมาณจะต้องยึดหลักของความคุ้มค่า ความเหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่ง  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  เห็นชอบการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๑.๖๓๕ ล้านล้านบาท รายได้ ๑.๕๑๕ ล้านล้านบาท         ขาดดุล ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
รัฐบาลชุดปัจจุบันตระหนักดีว่าในช่วงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และที่กำลังดำเนินการต่อไปหลายเรื่อง ได้ส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามารถที่จะบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการดำเนินงานในอีกหลายเรื่องของรัฐบาลเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตและยังไม่อาจจะส่งผลให้เป็นที่ประจักษ์ได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขและการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการบนฐานของการใช้ความรู้และนวัตกรรม แต่รัฐบาลจะไม่ลังเลใจที่จะผลักดันสิ่งที่ดีเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยในระยะยาว และมีความเชื่อมั่นว่าการวางพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว จะได้รับการสืบทอดและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในคณะรัฐบาลชุดใหม่ทีจะเข้ามารับหน้าที่ภายหลังการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ดีเหล่านี้ไปสู่ผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้รัฐบาลคาดหวังว่าความร่วมมือ ร่วมใจ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดยการน้อมนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมของทุกฝ่ายอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อช่วยเสริมสร้างสังคมไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุขร่วมกันในระยะยาว รัฐบาลพร้อมรับข้อเสนอต่าง ๆ ไปดำเนินการบริหารประเทศ
รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ และได้ทุ่มเทในการดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความสุจริต และความจริงใจที่ต้องการเห็นความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันเกิดขึ้นในสังคมไทย ให้คนไทยทุกคนได้รับโอกาสในสังคมตามที่พึงจะได้รับ และวางรากฐานที่มั่นคงให้สังคม มีความสมานฉันท์ เศรษฐกิจมีความยั่งยืน และการเมืองก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน
จากนั้นสมาชิกฯ ได้อภิปรายการทำงาน รวมถึงเสนอแนะการทำงานของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกได้ตำหนิการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานอาทิ
นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หลังเหตุการณ์ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เมื่อมาด้วยกันก็ต้องทำงานด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นรัฐบาลต้องใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอย่าคิดว่าข้อติติงหรือเสนอแนะเกิดจากผู้สูญเสียผลประโยชน์ เพราะคนที่เสียประโยชน์จริง ๆ ในขณะนี้คือ ประชาชน หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร ประชาชนยินดีและดีใจที่ได้มีรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ประชาชนเชื่อว่าเป็นคนดี โดยตลอดระยะเวลา ๑-๓ เดือน ประชาชนฝากความหวังให้รัฐบาลชุดนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๗-๘ เดือน เปรียบเหมือนประชาชนแทงหวยถูก แต่เจ้ามือและคนเดินโพยไม่ยอมจ่ายอะไรให้ประชาชนเลย
นายกรัฐมนตรีชี้แจงผลงานเหมือนการอ่านวิทยานิพนธ์ สิ่งที่ชี้แจงเป็นผลงานที่ ปฏิบัติงานประจำ แต่นโยบายใหญ่ ๆ ที่จะแก้ปัญหาของชาติ ที่ถูกทิ้งไว้เป็นวิกฤติจนทำให้เกิดความ เสียหาย และความเลวร้ายจากรัฐบาลที่แล้ว ยังไม่ทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผล
จากการที่รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นั้น ตนได้อภิปรายว่าเป็นนโยบายที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลปกติอยู่ได้ ๔ ปี แต่เป็นรัฐบาลชั่วคราวเฉพาะกิจ น่าจะหยิบยกความเร่งด่วนวิกฤต ความเสียหาย หรืออย่างน้อยที่สุดต้องทำงานใน ๔ เหตุผลที่คณะทหารยึดอำนาจ เพราะได้โอนอำนาจให้รัฐบาลมีกลไก งบประมาณ กำลังคน อย่างน้อย ๖-๗ เดือนที่ผ่านมาน่าจะเห็นอะไรดีขึ้นบ้าง แต่กลับยังไม่เห็นอะไรเลย และตนต้องการให้ รัฐบาลชุดนี้กลับบ้านอย่างสง่างาม โดยคนไปส่งด้วยความรักความอาลัย ไม่ใช่กลับบ้านแบบคนไล่ สาปแช่ง จากการฟังการแถลงนโยบายนั้น ตนจับประเด็นไม่ได้ว่า ผลงานเด่น ๆ มีอะไรบ้าง และเรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในหมู่ประชาชนที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลที่จะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เคยสนับสนุนจะเอาตัวออกห่างและยิ่งบริหารงานเท่าไรก็ทำให้สิ่งเลวร้ายและคนที่ทำความ เสียหายบ้านเมืองลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐบาล ซึ่งปีนี้เป็นปีมหามงคลแต่จะกลายเป็นปีแห่งความ ขัดแย้งและความวุ่นวาย โดยไม่เห็นกลไกรัฐที่เด็ดขาด และต้องแสดงให้เห็นภาวะผู้นำที่จะสามารถ กู้วิกฤติศรัทธากลับคืนมาได้
ปัญหาของประเทศทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่รายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้สินภาครัฐ ครัวเรือนสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งขึ้น มีผลกระทบต่อการ ส่งออก แต่รัฐบาลดีแต่พูดในหลักการแต่ภาคปฏิบัติไม่มีอะไรดีขึ้น ในส่วนของความแตกแยกก็มีมาก
กว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาความมั่นคงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงขยายวงกว้างขึ้น และถ้ารัฐบาลยังแก้ปัญหาในลักษณะนี้ต่อไป คาดว่าภายใน ๓-๔ เดือนข้างหน้า ทั้งรัฐบาลและทหารจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทำให้เสียดินแดนในภาคใต้ และไม่ต้องการให้เป็นรัฐบาลฝึกหัดงาน คนฝึกงาน คือ ข้าราชการประจำ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายว่า ปัญหาของรัฐบาล คือ กระบวนการทำงาน ว่ามีกฎหมายจำนวนมากเตรียมเข้าคณะรัฐมนตรี แต่ไม่เร่งรีบ หรือเมื่อกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพบภาพความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ เวลานี้ขอให้เร่งกฎหมายทางสังคม ๗ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมธรรมาภิบาล พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่จะใส่ความผิดหวยใต้ดินเอาไว้ด้วย พระราชบัญญัติส่งเสริมครอบครัว พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน พระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค พระราชบัญญัติสวัสดิการชุมชน พระราชบัญญัติสภาการเกษตร
นายไพศาล พืชมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายคำแถลงผลงานของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นเพียงการรวบรวมงานประจำมาเขียนทั้งสิ้น และยังมีผลงานของรัฐบาลมารวม อยู่ด้วย ในเรื่องดังกล่าวนี้รัฐบาลไม่ควรมองว่าเสียงตำหนิติเตือนเป็นเสียงของศัตรูหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล นโยบายสมานฉันท์กำลังจะทำให้อำนาจเก่ากลับคืนมาคุกคามทั้งประชาชนและกองทัพ
นายวินัย สะมะอุน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายว่า นโยบายของรัฐบาลควรจะเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การเพ้อฝันหรืออยู่แต่ในกระดาษ ไม่สามารถทำได้ การกระทำทุกอย่างจะต้องมีเป้าหมาย จะให้เป็นเพียงสัญลักษณ์แค่พิธีการไม่ได้ และหากย้อนไปยังประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันจะเห็นว่า ปัญหาด้านสังคม อย่างเช่นเรื่องศาสนาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลควรจะคิดและ หาวิธีให้องค์กรศาสนาต่าง ๆ เข้าใจในสิทธิของเขาที่จะสามารถอยู่ร่วมกับรัฐได้ และต้องไม่ให้เขาระแวงเรื่องการใช้อำนาจบาตรใหญ่
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายว่า การที่รัฐบาลมีผลงานออกมาแค่นี้คงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล แต่เป็นความผิดของโครงสร้างสังคมของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็ง ต้องโทษประชาชนที่ไม่มีสำนึกทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยต้องยอมสูญเสียเพื่อให้ประชาธิปไตยพัฒนาเช่นเดียวกันกับขณะนี้ประชาธิปไตยกำลังจะพัฒนาไป กำลังจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงและสูญเสีย แต่ทหารก็เข้ามาเบรกประวัติศาสตร์ทำให้ประชาธิปไตยต้องหยุดชะงัก พ.ต.ท.ทักษิณต้องถูกอเปหิออกไปทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าผิดจริงหรือไม่
นายอรรคพล สรสุชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การทำงานที่ผ่านมา เปรียบเหมือนรัฐบาลกำลังสอบกลางภาค ตีโจทย์ไม่แตก โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ เพราะเป็นการตั้งหลักโดยยึดสมมติฐานไม่วางใจประชาชน ไม่ได้มองว่านักการเมืองที่ดีคืออะไร ทำให้เกิดช่องโหว่ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ต้องบริหารงานการเมือง แต่รัฐบาลได้ทำในสิ่ง ที่ถูกที่สุดคือ การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของ รัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลว แม้จะเป็นการล้มเหลวโดยสุจริต เพราะหลักคิดพื้นฐานผิด ทำให้สิ่งที่ตามมาผิดไปหมด รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ จึงต้องทำแต่สิ่งที่จำเป็น คือ แก้ภาวะวิกฤตที่สุดในโลกตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เคยพระราชทานไว้กับศาลเมื่อเมษายน ๒๕๔๙ ไม่ใช่แต่เร่งให้เกิดการเลือกตั้งเพียงสถานเดียว
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐบาล คือ บริหารระบบเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ ดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำสุดในรอบ ๕๔ เดือน สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำโดยด่วนคือ ส่งเสริมตลาดการลงทุนของประเทศให้มีธรรมาภิบาล ส่งเสริมระบบข้อมูลข่าวสาร ดูแลกติกาการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศให้เกิดความเป็นธรรม และแก้ปัญหาลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีลูกหนี้สถาบันการเงินที่ผิดนัดชำระ ๔๖ ล้านบัญชี หรือประมาณ ๑๕,๓๐๐,๐๐๐ คน และยังติดบัญชีดำตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ทำให้ไม่มีโอกาสทำนิติกรรมใด ๆ รัฐบาลต้องแก้โดยด่วน เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้ไม่ได้ก่อหนี้เอง แต่นักการเมือง นักธุรกิจเป็นคนก่อ เรื่องนี้เป็นปัญหาคอขวดระบบเศรษฐกิจไทย และระบบกฎหมายของรัฐที่นำมาใช้ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ เป็นการกีดกันให้ออกไปสู่หนี้นอกระบบ ดังนั้นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระจำนวนไม่สูงนัก ก็ควรถูกล้างบัญชี และไม่ให้มีข้อมูลในเครดิตบูโรยาวนาน เพื่อให้กลายมาเป็นผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือผู้บริโภคได้ พร้อมเสนอให้รัฐบาลเร่งทำหวยบนดิน ๒ ตัว ๓ ตัว ให้ถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหา หวยใต้ดินได้เด็ดขาด
พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาล มีความทุ่มเทในการทำงาน แต่ดูฟุ่มเฟือย ไม่มีอะไรเด่นชัด โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศ ที่ควรจะลำดับความสำคัญ เรื่องความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ ด้วยการอธิบายเหตุผลของการปฏิวัติให้ชัดเจน รวมทั้งการเร่งสะสางคดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชน ทั้งคดีอุ้มฆ่า ฆ่าตัดตอน และคอรัปชั่น ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงในวันนี้ยังมองว่าเป็นเพียงนามธรรม ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชื่นชม พล.อ.สุรยุทธ์ ที่กล้าตัดสินใจทำงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันระบุว่ากรรมาธิการต้องการให้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนใน ๕ ประเด็นหลัก อาทิ การกำหนดเงื่อนไขคุณธรรมจริยธรรม ให้เป็นคุณสมบัติในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในองค์กร การจัดทำสมุดพกพาข้าราชการเพื่อบันทึกผลงานและคุณงามความดี รวมถึงการกำหนดให้ส่วนราชการจัดทำมาตรฐานความโปร่งใสและตรวจสอบได้
พล.อ.อ.วีรวิทเสนอให้รัฐบาลบรรจุรายการโทรทัศน์เพื่อคุณธรรมไว้ในโทรทัศน์สาธารณะ เนื่องจากรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันล้วนกรองมลพิษในการสร้างคุณธรรมของเยาวชน
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณสมาชิกฯ ทุกท่าน ที่ได้ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น รวมถึงการให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาลหลายประการ คณะรัฐมนตรีความยินดีและพร้อมจะนำข้อเสนอไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทำงานของรัฐบาล การประสานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนสืบไป ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และประชาชน คือ การร่วมมือกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญต้องร่วมมือกันดำเนินการเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อปวงชนชาวไทยให้ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ ให้สมกับ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา และรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรอิสระ ภาคเอกชน และองค์ประชาชนต่าง ๆ เพื่อให้งานทุกด้านสำเร็จลุล่วงไปด้วยความราบรื่น และก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนสืบไป
๓. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๔. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (ไม่มี)
๕. เรื่องที่ค้างพิจารณา (ไม่มี)
๖. เรื่องที่เสนอใหม่ (ไม่มี)
๗. เรื่องอื่น ๆ (ไม่มี) ปิดประชุมเวลา ๒๔.๑๐ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ