คดียุบพรรคกับหลักของสังคม
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
www.abhisit.org
ช่วงนี้ไปที่ไหน ก็มีแต่คนถามเรื่องคดียุบพรรค เพราะเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์กว่าๆก็จะถึงวันที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง ๕ พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทยด้วย สำหรับตัวผมนั้นต้องขอขอบคุณทุกๆท่านที่ให้กำลังใจในเรื่องนี้ และเพื่อไม่ให้ข้อคิดในบทความนี้ถูกนำไปตีความในลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการไปก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ผมจึงขอย้ำจุดยืนของผมมาโดยตลอดดังนี้
๑. ความเป็นธรรมในคดีอยู่ที่การตัดสินตามข้อเท็จจริงในคดีและข้อกฎหมาย หากจะใช้คำพูดที่มักจะใช้กัน ก็คงจะเป็นการตัดสินตามหลัก “นิติศาสตร์” เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิที่จะอยู่เหนือกฎหมาย คือ ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด และไม่ควรมีใครที่ไม่ทำผิด ถูกลงโทษ
๒. ผมเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ไม่เพียงเฉพาะประวัติ ความเป็นมาของ
ทั้งเก้าท่านเท่านั้น แต่จากการติดตามการทำหน้าที่ในระหว่างการไต่สวนพยานในคดี เห็นได้ชัดว่า ทุกท่านได้ติดตามศึกษาข้อเท็จจริงในคดีอย่างละเอียด และให้ความเป็นธรรมในการใช้สิทธิของทุกๆฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือสิ่งที่สดับตรับฟังมาจากหลายๆฝ่าย ที่วิเคราะห์
วิจารณ์ หรือ แม้กระทั่งเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวข้องกับคดี และมีการพูด อ้างอิง ถึงเหตุผล หลัก หรือ ตรรกะ ที่สรุปว่า การตัดสินในคดีมีหรือควรจะมี “ธง” ซึ่งผมเห็นว่าความคิดหลายส่วนสะท้อนปัญหาหลายๆด้านของสังคม ที่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ระบบการเมืองการปกครองของเรา โดยเฉพาะการสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีปัญหาอย่างแน่นอน
ความคิดที่มีการเผยแพร่ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ เช่น
๑. ความเป็นธรรมหมายถึง การตัดสินสองคดีไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากคิดเพียงสักนิด จะเห็นว่าเป็นความคิดที่แปลกมาก เพราะหากข้อเท็จจริงในสองคดีไม่ตรงกัน ก็หมายความว่าการตัดสินคดีต้องขัดกับข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำหรือไม่กระทำความผิด แต่ไปผูกอยู่กับอีกคดีหนึ่ง
ว่าไปแล้ว ข้อต่อสู้ข้อหนึ่งที่พรรคได้หยิบขึ้นมาโดยตลอด ก็คือ ความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เมื่อทราบว่าจะมีคดียุบพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้น ที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน โดยเข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น
๒. ต้องใช้ “หลักรัฐศาสตร์” ดูจะเป็นคำกล่าวอ้างเพื่อจะให้การตัดสินคดีไม่เกี่ยวข้องกับ
ข้อเท็จจริงในคดี การกล่าวอ้างเช่นนี้ ก็เคยทำกันมาในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และควรจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทย เพราะในที่สุดวิกฤติการณ์และปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะหลีกเลี่ยงได้ หากเราไม่ปล่อยให้บุคคลที่ไม่โปร่งใส ตรงไปตรงมาในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามามีอำนาจ
พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสังคมประชาธิปไตย คือการที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค
หากจะมีการกล่าวอ้างว่า การตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือ เกิดความวุ่นวาย หรือในกรณีของพรรคการเมืองหากมีการอ้างว่าจำนวนสมาชิก ความนิยม หรือ ความเก่าแก่ของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นถูกลงโทษไม่ได้ ก็จะทำให้ต่อไป การสร้างกระแสมวลชน การอ้างเสียงข้างมาก หรือความนิยม ถูกนำมาเป็นเกราะกำบังเพื่อจะทำอะไรก็ได้ รวมทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
๓. ยึด “ธง” ทางการเมืองเป็นตัวนำ หลายฝ่ายในสังคมมองคดีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงช่องทางหรือ เครื่องมือทางการเมือง และแสดงทัศนะ หรือ เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดผลตามที่ฝ่ายตนต้องการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่สอดคล้องกับทั้งความเป็นจริง และ หลักการที่ถูกต้อง เช่น
๓.๑ ยุบพรรคเพื่อกวาดล้างนักการเมืองเก่าๆ โดยเฉพาะถ้ามีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ ๒๗ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง แม้ยุบทั้ง ๒ พรรคใหญ่ ก็จะมีนักการเมืองเก่าๆ ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายเสนาะ เทียนทอง พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รวมทั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคของทั้ง ๒ พรรคที่ถูกยุบ
นอกจากนี้ ความคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนความอคติที่มีต่อนักการเมืองอย่างรุนแรง โดยไม่แยกแยะความเป็นจริงที่มีนักการเมืองที่ดี และเลวปะปนกันอยู่ ไม่ยอมรับความเป็นจริงว่า ในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ ไม่มีที่ใดหนีนักการเมืองอาชีพได้ และนักการเมืองมืออาชีพที่ดี คือ ผู้ที่มีความพร้อมจะบริหารบ้านเมืองที่สุด การคาดหวังว่าจะมีคนดี เข้ามาสู่การเมืองในเวลาอันสั้น ก้าวสู่อำนาจ และสามารถบริหารบ้านเมืองได้ดี ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาโดยตลอด
หากจะขจัดนักการเมืองเลว วิธีการที่ดีที่สุด คือ การรณรงค์ให้ประชาชนไม่เลือกคนเหล่านั้น หากระบบการเลือกตั้งไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเงิน หรือความไม่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ที่จุดนั้น จึงจะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้หากนักการเมืองคนใดทำผิดกฎหมาย ก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกลงโทษ ก็จะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่หากพรรคการเมืองไม่ได้ทำผิด การทำลายล้างสถาบันเพื่อขจัดตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
๓.๒ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องยุบไทยรักไทย เพื่อต่อสู้กับระบอบทักษิณ หรือ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหาร เป็นอีกกระแสหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่ได้ทำผิด ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิดอย่างรุนแรง และ ปราศจากเหตุผล เพราะหากประชาชนมองว่า การยุบพรรคไทยรักไทยเป็นการกลั่นแกล้ง ก็จะทำให้ระบอบทักษิณอ้างความชอบธรรมได้มากขึ้น แสดงตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้มากขึ้น ขณะที่ คมช.และรัฐบาล จะตกเป็นจำเลยของสังคมไทย และ สังคมโลก
แม้แต่การรัฐประหารก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ หากจะมีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุผล ๔ ข้อ ที่คปค. ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงองค์คณะของตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยรัฐบาลชุดก่อน
๓.๓ ยุบ ๒ พรรค แต่ใช้กฎหมายเก่าเป็นทางออกที่ประนีประนอม ความคิดนี้อ้างว่า หากไม่ตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่มีผลกระทบรุนแรง พรรคที่ถูกยุบก็ไปจดทะเบียนใหม่ นักการเมืองทุกคนก็ยังเป็นนักการเมืองต่อไปได้ ไม่มีใคร “เสียหน้า”
ความคิดในลักษณะนี้ มองการเมืองเป็นเรื่องเล่น ไม่เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง ในลักษณะที่เป็นสถาบัน ต้องการนำไปสู่การเมืองระบบนอมินีบ้าง หรือ ต้องการสร้างปัญหาให้พรรคการเมืองที่มีระเบียบแบบแผนแบบพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ซ้ำร้ายความคิดนี้ มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่แตกออกมาจากพรรคไทยรักไทย เพราะ “ธง” นี้คือ การดิสเครดิต ๒ พรรคใหญ่ พรรคไทยรักไทยจะอ่อนแอลง พรรคประชาธิปัตย์จะสับสน เพราะจะมีปัญหาในบทบาทของกรรมการบริหารชุดก่อนและหลังยุบ ขณะที่เป็นการปูทางกลุ่มการเมืองที่ตั้งพรรคใหม่ในระบบนอมินี หรือ แม้แต่เพื่อปูทางจับมือกับบางคนบางกลุ่มใน คมช.เพื่อสืบทอดอำนาจ
กระแสเกี่ยวกับการยุบพรรคขณะนี้ จึงเป็นตัวสะท้อนสภาพปัญหาของสังคมเป็นอย่างดี หากไม่สามารถก้าวข้ามความคิดที่ไม่มีหลัก การเมืองก็จะประสบกับวังวนของปัญหาเก่าๆไม่รู้จบ
พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญ และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การคลี่คลายปัญหาเรื่องนี้จึงไม่มีอะไรดีกว่า การพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริง ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นความตั้งใจของคณะตุลาการฯ และ หากการดำเนินการเป็นไปตามแนวทางนี้ โดยคณะตุลาการฯ แจกแจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนแล้ว สังคมก็น่าจะยอมรับและผ่านปัญหานี้ไปได้
จึงขอให้ทุกฝ่ายเป็นกำลังใจให้การทำหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ นอกจากความถูกต้อง และช่วยกันสร้างค่านิยมที่ถูกดีในสังคมเพื่อความสงบเรียบร้อยที่ยั่งยืนของบ้านเมือง
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 20 พ.ค. 2550--จบ--
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
www.abhisit.org
ช่วงนี้ไปที่ไหน ก็มีแต่คนถามเรื่องคดียุบพรรค เพราะเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์กว่าๆก็จะถึงวันที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง ๕ พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทยด้วย สำหรับตัวผมนั้นต้องขอขอบคุณทุกๆท่านที่ให้กำลังใจในเรื่องนี้ และเพื่อไม่ให้ข้อคิดในบทความนี้ถูกนำไปตีความในลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการไปก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ผมจึงขอย้ำจุดยืนของผมมาโดยตลอดดังนี้
๑. ความเป็นธรรมในคดีอยู่ที่การตัดสินตามข้อเท็จจริงในคดีและข้อกฎหมาย หากจะใช้คำพูดที่มักจะใช้กัน ก็คงจะเป็นการตัดสินตามหลัก “นิติศาสตร์” เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิที่จะอยู่เหนือกฎหมาย คือ ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด และไม่ควรมีใครที่ไม่ทำผิด ถูกลงโทษ
๒. ผมเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ไม่เพียงเฉพาะประวัติ ความเป็นมาของ
ทั้งเก้าท่านเท่านั้น แต่จากการติดตามการทำหน้าที่ในระหว่างการไต่สวนพยานในคดี เห็นได้ชัดว่า ทุกท่านได้ติดตามศึกษาข้อเท็จจริงในคดีอย่างละเอียด และให้ความเป็นธรรมในการใช้สิทธิของทุกๆฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือสิ่งที่สดับตรับฟังมาจากหลายๆฝ่าย ที่วิเคราะห์
วิจารณ์ หรือ แม้กระทั่งเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวข้องกับคดี และมีการพูด อ้างอิง ถึงเหตุผล หลัก หรือ ตรรกะ ที่สรุปว่า การตัดสินในคดีมีหรือควรจะมี “ธง” ซึ่งผมเห็นว่าความคิดหลายส่วนสะท้อนปัญหาหลายๆด้านของสังคม ที่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ระบบการเมืองการปกครองของเรา โดยเฉพาะการสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีปัญหาอย่างแน่นอน
ความคิดที่มีการเผยแพร่ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ เช่น
๑. ความเป็นธรรมหมายถึง การตัดสินสองคดีไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากคิดเพียงสักนิด จะเห็นว่าเป็นความคิดที่แปลกมาก เพราะหากข้อเท็จจริงในสองคดีไม่ตรงกัน ก็หมายความว่าการตัดสินคดีต้องขัดกับข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำหรือไม่กระทำความผิด แต่ไปผูกอยู่กับอีกคดีหนึ่ง
ว่าไปแล้ว ข้อต่อสู้ข้อหนึ่งที่พรรคได้หยิบขึ้นมาโดยตลอด ก็คือ ความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เมื่อทราบว่าจะมีคดียุบพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้น ที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน โดยเข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น
๒. ต้องใช้ “หลักรัฐศาสตร์” ดูจะเป็นคำกล่าวอ้างเพื่อจะให้การตัดสินคดีไม่เกี่ยวข้องกับ
ข้อเท็จจริงในคดี การกล่าวอ้างเช่นนี้ ก็เคยทำกันมาในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และควรจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทย เพราะในที่สุดวิกฤติการณ์และปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะหลีกเลี่ยงได้ หากเราไม่ปล่อยให้บุคคลที่ไม่โปร่งใส ตรงไปตรงมาในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามามีอำนาจ
พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสังคมประชาธิปไตย คือการที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค
หากจะมีการกล่าวอ้างว่า การตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือ เกิดความวุ่นวาย หรือในกรณีของพรรคการเมืองหากมีการอ้างว่าจำนวนสมาชิก ความนิยม หรือ ความเก่าแก่ของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นถูกลงโทษไม่ได้ ก็จะทำให้ต่อไป การสร้างกระแสมวลชน การอ้างเสียงข้างมาก หรือความนิยม ถูกนำมาเป็นเกราะกำบังเพื่อจะทำอะไรก็ได้ รวมทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
๓. ยึด “ธง” ทางการเมืองเป็นตัวนำ หลายฝ่ายในสังคมมองคดีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงช่องทางหรือ เครื่องมือทางการเมือง และแสดงทัศนะ หรือ เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดผลตามที่ฝ่ายตนต้องการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่สอดคล้องกับทั้งความเป็นจริง และ หลักการที่ถูกต้อง เช่น
๓.๑ ยุบพรรคเพื่อกวาดล้างนักการเมืองเก่าๆ โดยเฉพาะถ้ามีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ ๒๗ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง แม้ยุบทั้ง ๒ พรรคใหญ่ ก็จะมีนักการเมืองเก่าๆ ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายเสนาะ เทียนทอง พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รวมทั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคของทั้ง ๒ พรรคที่ถูกยุบ
นอกจากนี้ ความคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนความอคติที่มีต่อนักการเมืองอย่างรุนแรง โดยไม่แยกแยะความเป็นจริงที่มีนักการเมืองที่ดี และเลวปะปนกันอยู่ ไม่ยอมรับความเป็นจริงว่า ในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ ไม่มีที่ใดหนีนักการเมืองอาชีพได้ และนักการเมืองมืออาชีพที่ดี คือ ผู้ที่มีความพร้อมจะบริหารบ้านเมืองที่สุด การคาดหวังว่าจะมีคนดี เข้ามาสู่การเมืองในเวลาอันสั้น ก้าวสู่อำนาจ และสามารถบริหารบ้านเมืองได้ดี ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาโดยตลอด
หากจะขจัดนักการเมืองเลว วิธีการที่ดีที่สุด คือ การรณรงค์ให้ประชาชนไม่เลือกคนเหล่านั้น หากระบบการเลือกตั้งไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเงิน หรือความไม่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ที่จุดนั้น จึงจะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้หากนักการเมืองคนใดทำผิดกฎหมาย ก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกลงโทษ ก็จะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่หากพรรคการเมืองไม่ได้ทำผิด การทำลายล้างสถาบันเพื่อขจัดตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
๓.๒ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องยุบไทยรักไทย เพื่อต่อสู้กับระบอบทักษิณ หรือ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหาร เป็นอีกกระแสหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่ได้ทำผิด ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิดอย่างรุนแรง และ ปราศจากเหตุผล เพราะหากประชาชนมองว่า การยุบพรรคไทยรักไทยเป็นการกลั่นแกล้ง ก็จะทำให้ระบอบทักษิณอ้างความชอบธรรมได้มากขึ้น แสดงตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้มากขึ้น ขณะที่ คมช.และรัฐบาล จะตกเป็นจำเลยของสังคมไทย และ สังคมโลก
แม้แต่การรัฐประหารก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ หากจะมีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุผล ๔ ข้อ ที่คปค. ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงองค์คณะของตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยรัฐบาลชุดก่อน
๓.๓ ยุบ ๒ พรรค แต่ใช้กฎหมายเก่าเป็นทางออกที่ประนีประนอม ความคิดนี้อ้างว่า หากไม่ตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่มีผลกระทบรุนแรง พรรคที่ถูกยุบก็ไปจดทะเบียนใหม่ นักการเมืองทุกคนก็ยังเป็นนักการเมืองต่อไปได้ ไม่มีใคร “เสียหน้า”
ความคิดในลักษณะนี้ มองการเมืองเป็นเรื่องเล่น ไม่เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง ในลักษณะที่เป็นสถาบัน ต้องการนำไปสู่การเมืองระบบนอมินีบ้าง หรือ ต้องการสร้างปัญหาให้พรรคการเมืองที่มีระเบียบแบบแผนแบบพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ซ้ำร้ายความคิดนี้ มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่แตกออกมาจากพรรคไทยรักไทย เพราะ “ธง” นี้คือ การดิสเครดิต ๒ พรรคใหญ่ พรรคไทยรักไทยจะอ่อนแอลง พรรคประชาธิปัตย์จะสับสน เพราะจะมีปัญหาในบทบาทของกรรมการบริหารชุดก่อนและหลังยุบ ขณะที่เป็นการปูทางกลุ่มการเมืองที่ตั้งพรรคใหม่ในระบบนอมินี หรือ แม้แต่เพื่อปูทางจับมือกับบางคนบางกลุ่มใน คมช.เพื่อสืบทอดอำนาจ
กระแสเกี่ยวกับการยุบพรรคขณะนี้ จึงเป็นตัวสะท้อนสภาพปัญหาของสังคมเป็นอย่างดี หากไม่สามารถก้าวข้ามความคิดที่ไม่มีหลัก การเมืองก็จะประสบกับวังวนของปัญหาเก่าๆไม่รู้จบ
พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญ และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การคลี่คลายปัญหาเรื่องนี้จึงไม่มีอะไรดีกว่า การพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริง ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นความตั้งใจของคณะตุลาการฯ และ หากการดำเนินการเป็นไปตามแนวทางนี้ โดยคณะตุลาการฯ แจกแจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนแล้ว สังคมก็น่าจะยอมรับและผ่านปัญหานี้ไปได้
จึงขอให้ทุกฝ่ายเป็นกำลังใจให้การทำหน้าที่ของคณะตุลาการฯ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ นอกจากความถูกต้อง และช่วยกันสร้างค่านิยมที่ถูกดีในสังคมเพื่อความสงบเรียบร้อยที่ยั่งยืนของบ้านเมือง
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 20 พ.ค. 2550--จบ--