ภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 100 ท่านแล้ว นับจากนี้ไปรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำอย่างจริงจังเสียที
ผู้เขียนได้รับคำถามด้วยความกระหายใคร่รู้จากประชาชนในพื้นที่ชนบทจำนวนมากถึงเนื้อหา หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะออกมาอย่างไร จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เป็นหลักหรือไม่ จะคงวุฒิสภาไว้หรือเปล่า ถ้าคงไว้จะเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง สภาผู้แทนราษฎรจะมี ส.ส.กี่คน ส.ส.จะต้องจบปริญญาตรีเหมือนเก่าหรือเปล่า จะยกเลิกระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปเป็นรวมเขต อย่างที่พูดๆ กันหรือไม่ นายกรัฐมนตรีจะมาจากไหน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำถามหลักที่น่าสนใจ และต้องการคำตอบในที่สุดทั้งสิ้น
แต่ความกระหายใคร่รู้ของประชาชนเหล่านั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน ซึ่งก็คือรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะเป็นผู้กำหนดผ่านทาง ส.ส.ร.ที่ได้รับการเลือกสรรขั้นสุดท้ายจาก คมช. ดังนั้น ผู้ร่างจะร่างออกมาอย่างไรก็คงจะต้องเอาตามนั้น
ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปแทบจะไม่ตระหนักเลยว่า ทุกคนควรจะต้องได้รับโอกาสในการเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยทั่วหน้ากัน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับทุกผู้ทุกคนในประเทศนี้
คนโดยทั่วไปคิดว่า ตนเองมีหน้าที่แค่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่เวลานี้เท่านั้น
ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศนี้ได้รับรู้ความเป็นไป และมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่าที่เป็นอยู่?
ผู้เขียนเห็นด้วยกับความพยายามของว่าที่ ส.ส.ร.บางท่าน ที่จะหาวิธีการรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนในระหว่างการยกร่าง แต่ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันคือ รัฐบาลและ คมช.จะเอาด้วยกับการ "ฟังเสียงประชาชน" มากแค่ไหน ไม่แน่ใจว่า ส.ส.ร.ทั้งหมดจะมีกระบวนการสอยร้อยความคิดของประชาชนด้วยวิธีการอย่างไร
ดังนั้นจึงขอเสนอว่า แนวทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ตกผลึกมาจากความต้องการของประชาชนเจ้าของประเทศ ทุกชั้น ทุกกลุ่มชนอย่างแท้จริง
นั่นคือ ต้องดึงสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้และการสร้างประชามติควบคู่ไปกับการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เริ่มจากรัฐบาลต้องเป็นต้นแบบในการใช้สื่อมวลชนที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐเอง สร้างกระแสความสนใจของประชาชนให้เข้ามาร่วมกระบวนการแสดงความคิดเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญให้กว้างขวางทุกพื้นที่
สื่อมวลชนของรัฐต้องมีบทบาทนำในการโหมกระแสให้คนทั้งชาติหันมาสนใจรัฐธรรมนูญ ทำให้คนทั้งประเทศรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการวางรากฐานการเมืองการปกครองครั้งใหม่นี้
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีจุดอ่อนอย่างมากในการให้สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นทางการเมืองและสังคมเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ทำความเข้าใจกับสาเหตุ 4 ข้อในการทำรัฐประหาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างโดยทั่วกัน อันจะเป็นผลดีต่อสถานภาพของ คมช.และรัฐบาลเอง แต่จนกระทั่งบัดนี้สื่อของรัฐก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ กลับเป็นสื่อเอกชน หรือสื่อทางเลือก อย่างเนชั่นทีวี หรือเอเอสทีวี หรือวิทยุชุมชนเสียอีกที่ใส่ใจขุดคุ้ยความเลวร้ายของระบอบทักษิณมาตีแผ่
รัฐบาลเองมีสื่อในมือมากมาย คมช.เองก็มีสื่อของทหารจำนวนมาก เครือข่ายก็กว้างขวางเข้าถึงประชาชนได้ทั่วทุกหัวระแหง กลับไม่กระตือรือร้น ทำไม?
ผู้เขียนเห็นว่า ในระหว่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อแน่ว่าจะมีประเด็นถกเถียงมากมาย ต้องหาข้อสรุปกันเป็นระยะๆ รัฐบาลและ คมช.ต้องมอบภารกิจกับสื่อในกำกับของตนเองให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ด้วยการตั้งทีมเกาะติดการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ ที่ให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้สังคมได้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง และเป็นธรรม
ไม่ต้องไปเหนียมกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องตื่นตัวเข้าไปทำด้วยซ้ำ
ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามของผู้บริหารสื่อรัฐ ที่จะนำรายการประเภทสาระความรู้เข้ามาเบียดแทรกรายการประเภทบันเทิงไร้สาระมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายากที่จะฝ่าด่านระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรเป็นหลักไปได้ ทำให้รายการวิทยุหรือโทรทัศน์ประเภทให้ข้อมูลความรู้ทางการเมือง หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีอยู่ในผังรายการน้อยมาก
ห้วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นเงื่อนไขที่ดียิ่งในการปรับตัวของสื่อมวลชนของรัฐ เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อของสาธารณะและเพื่อประโยชน์สาธารณะ สมกับที่สังคมเรียกร้องและรอคอย
ทางด้านสื่อมวลชนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งสื่อกระแสหลักในสัมปทานของเอกชน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในระยะหลัง และโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิพม์ ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดหลักอยู่แล้ว ต้องเข้าร่วมกระบวนการนี้อย่างเอาจริงเอาจังเช่นกัน จะต้อง "เปิดพื้นที่" ให้กับข่าวสารการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายเป็นพิเศษ โชว์ความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่สื่อให้ประจักษ์
เชื่อว่า ด้วยความมีอิสระของสื่อเอกชน น่าจะช่วยให้การถักร้อยความคิดที่หลากหลายของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้คล่องตัวมากกว่าสื่อที่ต้องผูกติดกับอำนาจรัฐ
ยุทธศาสตร์ของสื่อมวลชนทั้งปวงในวาระนี้ก็คือ ต้องปลุกให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมาตระหนักในความเป็นเจ้าของประเทศ ที่มีสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมในการร่วมกำหนดอนาคตของประเทศให้ได้
จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากว่าสื่อมวลชนมองปรากฏการณ์ร่างธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเพียงวาระปกติธรรมดา หรือคิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วเสนอข่าวสารไปวันๆ อย่างไร้เป้าหมาย
เพราะยิ่งสื่อให้ความสำคัญน้อยเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งถูกกีดกันออกไปอยู่วงนอกมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้าย เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของคน 100 คน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทั้งประเทศ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในนสพ.มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 8 มค. 2550
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 8 ม.ค. 2550--จบ--
ผู้เขียนได้รับคำถามด้วยความกระหายใคร่รู้จากประชาชนในพื้นที่ชนบทจำนวนมากถึงเนื้อหา หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะออกมาอย่างไร จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เป็นหลักหรือไม่ จะคงวุฒิสภาไว้หรือเปล่า ถ้าคงไว้จะเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง สภาผู้แทนราษฎรจะมี ส.ส.กี่คน ส.ส.จะต้องจบปริญญาตรีเหมือนเก่าหรือเปล่า จะยกเลิกระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปเป็นรวมเขต อย่างที่พูดๆ กันหรือไม่ นายกรัฐมนตรีจะมาจากไหน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำถามหลักที่น่าสนใจ และต้องการคำตอบในที่สุดทั้งสิ้น
แต่ความกระหายใคร่รู้ของประชาชนเหล่านั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน ซึ่งก็คือรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะเป็นผู้กำหนดผ่านทาง ส.ส.ร.ที่ได้รับการเลือกสรรขั้นสุดท้ายจาก คมช. ดังนั้น ผู้ร่างจะร่างออกมาอย่างไรก็คงจะต้องเอาตามนั้น
ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปแทบจะไม่ตระหนักเลยว่า ทุกคนควรจะต้องได้รับโอกาสในการเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยทั่วหน้ากัน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับทุกผู้ทุกคนในประเทศนี้
คนโดยทั่วไปคิดว่า ตนเองมีหน้าที่แค่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่เวลานี้เท่านั้น
ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศนี้ได้รับรู้ความเป็นไป และมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่าที่เป็นอยู่?
ผู้เขียนเห็นด้วยกับความพยายามของว่าที่ ส.ส.ร.บางท่าน ที่จะหาวิธีการรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนในระหว่างการยกร่าง แต่ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันคือ รัฐบาลและ คมช.จะเอาด้วยกับการ "ฟังเสียงประชาชน" มากแค่ไหน ไม่แน่ใจว่า ส.ส.ร.ทั้งหมดจะมีกระบวนการสอยร้อยความคิดของประชาชนด้วยวิธีการอย่างไร
ดังนั้นจึงขอเสนอว่า แนวทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ตกผลึกมาจากความต้องการของประชาชนเจ้าของประเทศ ทุกชั้น ทุกกลุ่มชนอย่างแท้จริง
นั่นคือ ต้องดึงสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้และการสร้างประชามติควบคู่ไปกับการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เริ่มจากรัฐบาลต้องเป็นต้นแบบในการใช้สื่อมวลชนที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐเอง สร้างกระแสความสนใจของประชาชนให้เข้ามาร่วมกระบวนการแสดงความคิดเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญให้กว้างขวางทุกพื้นที่
สื่อมวลชนของรัฐต้องมีบทบาทนำในการโหมกระแสให้คนทั้งชาติหันมาสนใจรัฐธรรมนูญ ทำให้คนทั้งประเทศรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการวางรากฐานการเมืองการปกครองครั้งใหม่นี้
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีจุดอ่อนอย่างมากในการให้สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นทางการเมืองและสังคมเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ทำความเข้าใจกับสาเหตุ 4 ข้อในการทำรัฐประหาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างโดยทั่วกัน อันจะเป็นผลดีต่อสถานภาพของ คมช.และรัฐบาลเอง แต่จนกระทั่งบัดนี้สื่อของรัฐก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ กลับเป็นสื่อเอกชน หรือสื่อทางเลือก อย่างเนชั่นทีวี หรือเอเอสทีวี หรือวิทยุชุมชนเสียอีกที่ใส่ใจขุดคุ้ยความเลวร้ายของระบอบทักษิณมาตีแผ่
รัฐบาลเองมีสื่อในมือมากมาย คมช.เองก็มีสื่อของทหารจำนวนมาก เครือข่ายก็กว้างขวางเข้าถึงประชาชนได้ทั่วทุกหัวระแหง กลับไม่กระตือรือร้น ทำไม?
ผู้เขียนเห็นว่า ในระหว่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อแน่ว่าจะมีประเด็นถกเถียงมากมาย ต้องหาข้อสรุปกันเป็นระยะๆ รัฐบาลและ คมช.ต้องมอบภารกิจกับสื่อในกำกับของตนเองให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ด้วยการตั้งทีมเกาะติดการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ ที่ให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้สังคมได้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง และเป็นธรรม
ไม่ต้องไปเหนียมกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องตื่นตัวเข้าไปทำด้วยซ้ำ
ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามของผู้บริหารสื่อรัฐ ที่จะนำรายการประเภทสาระความรู้เข้ามาเบียดแทรกรายการประเภทบันเทิงไร้สาระมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายากที่จะฝ่าด่านระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรเป็นหลักไปได้ ทำให้รายการวิทยุหรือโทรทัศน์ประเภทให้ข้อมูลความรู้ทางการเมือง หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีอยู่ในผังรายการน้อยมาก
ห้วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นเงื่อนไขที่ดียิ่งในการปรับตัวของสื่อมวลชนของรัฐ เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อของสาธารณะและเพื่อประโยชน์สาธารณะ สมกับที่สังคมเรียกร้องและรอคอย
ทางด้านสื่อมวลชนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งสื่อกระแสหลักในสัมปทานของเอกชน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในระยะหลัง และโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิพม์ ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดหลักอยู่แล้ว ต้องเข้าร่วมกระบวนการนี้อย่างเอาจริงเอาจังเช่นกัน จะต้อง "เปิดพื้นที่" ให้กับข่าวสารการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายเป็นพิเศษ โชว์ความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่สื่อให้ประจักษ์
เชื่อว่า ด้วยความมีอิสระของสื่อเอกชน น่าจะช่วยให้การถักร้อยความคิดที่หลากหลายของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้คล่องตัวมากกว่าสื่อที่ต้องผูกติดกับอำนาจรัฐ
ยุทธศาสตร์ของสื่อมวลชนทั้งปวงในวาระนี้ก็คือ ต้องปลุกให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมาตระหนักในความเป็นเจ้าของประเทศ ที่มีสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมในการร่วมกำหนดอนาคตของประเทศให้ได้
จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากว่าสื่อมวลชนมองปรากฏการณ์ร่างธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเพียงวาระปกติธรรมดา หรือคิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วเสนอข่าวสารไปวันๆ อย่างไร้เป้าหมาย
เพราะยิ่งสื่อให้ความสำคัญน้อยเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งถูกกีดกันออกไปอยู่วงนอกมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้าย เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของคน 100 คน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทั้งประเทศ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในนสพ.มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 8 มค. 2550
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 8 ม.ค. 2550--จบ--