ส่งออกปีหมูไม่หมู "ค่าเงินบาท-เศรษฐกิจโลกชะลอ" ศึกใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 3, 2007 10:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          การส่งออกปี 2549 ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 17.5 %  โดยตัวเลข 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2549) มีมูลค่าการส่งออก 118,989.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.2 % 
ในปี 2550 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกเพิ่มขึ้น 12.5 % มูลค่า 145,220 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตในอัตราที่ถดถอยลงจากปี 2549 เพราะมีปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้การส่งออกปีนี้ลดลงคือปัญหาค่าเงินบาทและเศรษฐกิจโลกชะลอ โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินบาทในช่วงปลายปี 2549 ได้แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 9 ปี และมากกว่าประเทศคู่แข่งส่งออก สำหรับปัจจัยค่าเงินบาทยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าค่าเงินอยู่ที่เท่าใด จะกระทบกับการส่งออกเพียงใด ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับภาคเอกชน สมาคมการค้าต่าง ๆ และผู้ประกอบการส่งออกในกลุ่มสินค้าหลัก 20 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 60 % ของการส่งออกทั้งหมด คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร จะขยายตัว 8.3 % และสินค้าอุตสาหกรรม จะขยายตัว 13.5 % (รายละเอียดดังเอกสารแนบ)
ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประมาณอัตราการขยายตัวการส่งออก ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 61-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และค่าเงินบาทอยูที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะขยายตัวประมาณ 9.0-11.5 % หรือคิดเป็นมูลค่า 141,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 10 - 12 % เทียบกับปี 2549 ที่ขยายตัว 9 — 11 % ซึ่งจะทำให้ได้ดุลการค้า 4,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนเศรษฐกิจโลก ไอเอ็มเอฟ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนก.ย. 2549 ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2550 จะขยายตัว 4.9 % น้อยกว่าปี 2549 ที่ขยายตัว 5.1% โดยมีเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ขยายตัวดังนี้
- สหรัฐ ขยายตัวลดลง 2.9 % เทียบกับปี 2549 ขยายตัว 3.4 %
- ยุโรป ขยายตัว 2 % เทียบกับปี 2549 ขยายตัว 2.4 %
- ญี่ปุ่น ขยายตัว 2.1 % เทียบกับปี 2549 ขยายตัว 2.7 %
- อินเดีย ขยายตัว 7.3 % เทียบกับปี 2549 ขยายตัว 8.3 %
- จีน ขยายตัวเท่าเดิมคือ 10 %
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสายวิจัย บล.ภัทร ได้สรุปสถานการณ์ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2550 ไม่น่าไว้วางใจ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐมีแนวโน้มลดลง แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ดอลลาร์ของธนาคารกลางทั่วโลก ลดน้อยถอยลงอย่างมากนับจากนี้ไป ปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่สามารถฉุดดอลลาร์อ่อนลงได้อีกมากนั้นอยู่ที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับประเทศอื่น ๆ ที่นับวันจะแคบลง
ประเด็นวิเคราะห์
ผู้เชี่ยวชาญวงการค้าการส่งออก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ ได้ประเมินทิศทางที่สอดคล้องกันว่า เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการอาทิค่าเงินบาท เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมัน มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการที่เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจคู่ค้าที่สำคัญขยายตัวลดลงอาจมีผลต่อกำลังซื้อ ผู้ส่งออกได้มองในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการส่งออกที่รุนแรงขึ้น จึงเป็นอีกอุปสรรคสำคัญอีกประการสำหรับภาคการส่งออกในปี 2550
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ